ในบรรดาการตรวจสุขภาพ การตรวจสุขภาพตามักเป็นสิ่งที่หลายคนมักมองข้ามเพราะคิดว่าหากไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ไม่เป็นไรแต่แท้จริงแล้วมีโรคทางตาหลายโรคที่จะไม่แสดงอาการจนกว่าจะเข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว เมื่อถึงเวลานั้นก็อาจสายเกินกว่าจะรักษาให้เป็นปกติได้
ที่สำคัญการมองเห็นของคุณก็อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หรือหากเคราะห์ร้ายไปกว่านั้น คุณอาจสูญเสียการมองเห็นไปชั่วคราว หรือถาวรได้ นั่นคือเหตุผลสำคัญที่คุณไม่ควรละเลยการตรวจสุขภาพตา
ใครบ้างที่ควรตรวจตา
ผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติ
คุณควร
ตรวจตาอย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่มีอาการทางสายตายใดๆ เลยก็ตาม โดยแนะนำให้ตรวจตาตามช่วงอายุดังต่อไปนี้
1. เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักปกติจะได้รับการตรวจร่างกายทั่วไปคร่าวๆ รวมทั้งการตรวจตาโดยจักษุแพทย์
2. เด็กอายุ 3-5 ปี จะเป็นการตรวจวัดระดับการมองเห็นด้วยแผ่นภาพและตรวจภาวะตาเข หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้นอาจนำไปสู่ภาวะตาขี้เกียจ (Lazy eye) เป็นปัญหาสุขภาพตาที่พบได้ในเด็กเท่านั้น ปัญหานี้จะทำให้มองเห็นได้ไม่ชัด หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ในระยะยาวอาจส่งผลให้ตาบอดได้
3. อายุ 6-20 ปี ตรวจวัดสายตาสั้น ยาว เอียง ซึ่งเป็นปัญหาที่อาจทำให้เด็กมีอาการตาล้า ปวดศีรษะ และไม่มีสมาธิในการเรียน หากพ่อแม่สังเกตเห็นอาการเหล่านี้ควรพาลูกไปตรวจสายตาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนของเด็ก
4. อายุ 21-40 ปี ควรได้รับการตรวจตาทุก 5-10 ปี
5. อายุ 40-64 ปี ควรได้รับการตรวจตาทุก 2 ปี เพราะเป็นวัยที่สายตาเริ่มเปลี่ยน อาจต้องใช้แว่นสายตายาว และเสี่ยงเกิดโรคตาต่างๆ ตามอายุที่มากขึ้น เช่น ต้อกระจก ต้อเนื้อ และต้อหิน
6. อายุ 64 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจตาปีละ 1 ครั้ง
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อไปนี้ควรเข้ารับการตรวจตาทันที หรือตรวจเป็นประจำโดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีอายุ 40 ปี
- เด็กที่คลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1500 กรัม หรืออายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ ควรรับการตรวจจากจักษุแพทย์ภายในช่วงที่ตรวจได้ หรืออายุ 4-6 สัปดาห์
- ผู้ที่มีอาการทางตาต่างๆ เช่น ปวดตา ตาแดง ตามัว เห็นภาพซ้อน น้ำตาไหล ปวดกระบอกตา หรือปวดศีรษะบ่อยๆ
- หากคนในครอบครัวเคยเป็นโรคต้อหิน หรือตาบอดไปข้างหนึ่งโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรตรวจความดันลูกตาและประสาทตาตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากต้อหินเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไทรอยด์ ควรรับการตรวจตาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ผู้ที่ทำงานใช้สายตามาก
- ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์
- ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อจอตาฉีกขาด เช่น เคยได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตา เคยได้รับการผ่าตัดตามาแล้ว มีสายตาสั้นบาง เป็นต้น
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวและต้องใช้ยาที่มีผลต่อดวงตาเป็นประจำ เช่น ยารักษาวัณโรคในกลุ่มอีแทมบูทอล (Ethambutol) ยารักษาโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอย่างคลอโรควิน (Chloroquine) ยาในกลุ่มสเตียรอยด์สำหรับรักษาโรคไต เป็นต้น
- ผู้มีเชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งอายุมากกว่า 20 ปี
นอกจากนี้ผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองตาแม้จะไม่มีความเสี่ยงใดๆ เนื่องจากโรคตาที่พบบ่อย หรือการเปลี่ยนแปลงของสายตามักเกิดขึ้นในช่วงวัยดังกล่าว หรือหากป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง ก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาด้วยเช่นกัน
ติดตามอ่านบทความสุขภาพดี ๆ กันต่อได้ที่
Website :
https://www.honestdocs.co/eye-exam