บอร์ด กทช.ประชุมวาระพิเศษลงมติเอกฉันท์รับการปรับปรุงใบอนุญาต 3จีใหม่แล้ว เคาะราคาเริ่มใบละ 12,800 ล้านบาท เตรียมเผยแพร่บนเว็บจันทร์นี้
เตรียมขึ้นเว็บไซต์จันทร์นี้ เผยแพร่หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเป็นเวลา 15 วัน ก่อนเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจร่วมประมูลภายใน 30 วัน ยืนยันกำหนดเวลาประมูลภายใน ก.ย.ตามเดิม ลั่นการทำงานมีอิสระเต็มที่ ไม่ต้องรอความเห็นจากนายกฯ-คลัง
พันเอกนที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในฐานะประธานคณะทำงาน 3จี คลื่นความถี่ 2100 กิกะเฮิรตช์ กล่าวว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) กทช. ได้ประชุมนัดพิเศษ วานนี้ (3 ก.ค.) เพื่อพิจารณาสรุปร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT 3 จี 2100 (ไอเอ็ม) จากการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) โดยบอร์ดได้ลงมติเอกฉันท์รับรองการปรับเปลี่ยนร่างฯ ไอเอ็มดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 5 ก.ค.นี้ กทช.จะนำร่างฯ ไอเอ็มที่ปรับปรุงแล้ว และผ่านการเห็นชอบจากบอร์ด ลงในเว็บไซต์ของสำนักงาน กทช. โดยจะเผยแพร่ร่างฯ เป็นเวลา 15 วัน จากนั้นจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะเปิดให้เอกชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประมูลยื่นความจำนงเป็นเวลา 30 วัน จากนั้นจะปิดรับสมัคร เพื่อทำการพิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้น (PQ) เป็นเวลา 15 วัน โดยคาดว่าขั้นตอนการประมูลใบอนุญาตได้ภายในเดือนก.ย.ตามกำหนดเดิม
ส่วนกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่า ราคาใบอนุญาตควรเป็นราคาที่เหมาะสมไม่แพงเกินไป จนเป็นภาระให้ผู้บริโภคนั้น พันเอกนที กล่าวว่า ราคาใบอนุญาตเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว และเชื่อว่าเอกชนคงไม่ประมูลแข่งขันราคากันจนเกินจริง เนื่องจากราคาใบอนุญาตจะเป็นต้นทุนในการให้บริการ และเชื่อว่าผู้บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะค่าธรรมเนียมต่างๆ จากการประมูลใบอนุญาต ถือว่าต่ำกว่ารายจ่ายในสัญญาสัมปทาน
“ยืนยันว่า กทช.มีอิสระในการทำงานเต็มที่ และการเปิดประมูลไลเซ่นนี้ หลังจากผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดแล้วก็ไม่ต้องผ่านนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลังใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งความเสี่ยงในการที่จะทำให้การประมูลไลเซ่น 3จี จะไม่เกิดขึ้น ยังไม่มีตอนนี้”
สำหรับประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากร่างไอเอ็มเดิมคือ ราคาเริ่มต้นการประมูล (Reserve Price) ที่คลื่นความถี่ 15 เมกะเฮิรตช์เป็น 12,800 ล้านบาท คิดราคาเต็ม 100% ของมูลค่าคลื่นความถี่ 15 เมกะเฮิรตช์ ส่วนวิธีการ N-1 นั้นให้ยังคงอยู่ แต่เปลี่ยนให้ราคาใบอนุญาตใบสุดท้ายที่เหลือจากการประมูลรอบแรก ไม่ต้องเข้ากระบวนการ N-1 ในระยะเวลา 90 วัน ให้ประมูลกันได้เลย แต่กำหนดราคาเริ่มต้น ที่ราคาสุดท้ายของใบอนุญาตใบที่ 2
โดยระยะเวลาการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ผู้ที่มีสิทธิเสนอราคาประมูลไลเซ่นจะต้องเป็นบริษัทจำกัด และจะต้องเข้ากระจายหุ้นภายในระยะเวลา 3 ปี แต่มีเอกชนบางรายเสนอตัวอาจจะเป็นเวลาที่รวบรัดเกินไป กทช.จึงอนุโลมให้ผ่อนผันได้รายละ 2 ครั้งๆ ละ 1 ปี สรุปคือต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในระยะเวลา 5 ปี
ในส่วนของราคาใบอนุญาตนั้น ไม่สามารถคาดได้ว่า ราคาสุดท้ายจะไปเป็นราคาเท่าใด แต่ตามสถิตินั้น ราคาสุดท้ายจะเพิ่มขึ้นจากราคาเริ่มต้นราว 10-15% ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่เข้าร่วมประมูลจะแข่งขันราคามากน้อยขนาดไหน อย่างไรก็ตาม กทช.จะจัดให้มีการทดสอบการประมูลประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก่อนมีการเปิดประมูลจริง ทั้งนี้ กทช.ได้กำหนดให้การประมูลแต่ละครั้งเพิ่มที่ 640 ล้านบาท
“การประมูลจะเปิดทันทีพร้อมกัน 3 ใบ ซึ่งผู้เข้าร่วมจะเข้าประมูลที่ใบใดก็ได้ แต่สุดท้ายแล้วจะต้องได้ไลเซ่นคนละ 1 ใบ โดยวิธีการนั้น จะเริ่มเคาะที่ราคา 12,800 ล้านบาท จากนั้นจะนับเป็นคลิกทางอินเทอร์เน็ตคลิกละ 640 ล้านบาท”
พันเอกนที กล่าวด้วยว่า ขั้นตอนการจ่ายเงินค่าใบอนุญาตให้วางเงินประกันก่อนการประมูล 10% คือ 1,280 ล้านบาท จะต้องเป็นเงินสด หรือเช็คธนาคารเท่านั้น หลังจากที่ผู้ประมูลได้ใบอนุญาตแล้วภายใน 45 วันจะต้องจ่ายเงินงวดแรก 50% และหลังจากนั้นอีก 2 ปีจะต้องจ่ายอีก 25% และจ่ายอีก 25% ในปีที่ 3
อย่างไรก็ตาม บอร์ด กทช.เห็นว่า เพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการติดตั้งโครงข่าย (Roll out) ให้ยืดเวลาการชำระค่าใบอนุญาตออกไปได้ โดยหากเอกชนวางโครงข่ายได้ 80% ภายใน 2 ปี จะเลื่อนการจ่ายงวดปีที่ 2 ออกไปเป็นที่ 3 และงวดที่ 3 กำหนดจ่ายในปีที่ 5
ที่มา: bangkokbiznews.com