ยักษ์ไอทีชิมลางเปิดตลาดเซ็กเมนต์ใหม่ พาเหรดขน "แท็ปเลต-อีบุ๊ก" บุกตลาดไทยครึ่งปีหลังหวังสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ "โตชิบา" เตรียมเปิดตัวโน้ตบุ๊ก 2 หน้าจอ ราคา 3 หมื่นบาทต้น ก.ค.นี้ ท้าชนไอแพด ด้าน "เอเซอร์" ไม่น้อยหน้า ซุ่มศึกษาแผนทำตลาด "อีบุ๊ก-มีเดียแท็ปเลต" ฟาก"อัสซุส"จ่อนำ "EeePad-EeeTablet" ทำตลาดไตรมาส 4
นายถกล นิยมไทย ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฝ่ายธุรกิจเทคโนโลยี บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงทิศทางตลาดในครึ่งปีหลังว่าจะมีสินค้าในเซ็กเมนต์ใหม่ประเภทแท็ปเลตพีซีเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยมากขึ้น โดยในส่วนของโตชิบาก็จะมีการเปิดตัวสินค้าใหม่วันที่ 2 ก.ค.นี้ ลักษณะเป็นแพลตฟอร์มโน้ตบุ๊ก ชื่อรุ่น "Liberto W100" ขนาด 7 นิ้ว จุดเด่นคือเป็นโน้ตบุ๊ก 2 หน้าจอทัชสกรีน มาพร้อมคีย์บอร์ดเสมือนจริง ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 7 ฮาร์ดดิสก์ SSD ขนาด 64 GB ราคาประมาณ 3 หมื่นบาท เบื้องต้นจะนำเข้ามาทำตลาดประมาณ 100-200 เครื่อง สามารถรองรับการใช้งานหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรืออีบุ๊กและเล่นอินเทอร์เน็ต เจาะกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่และกลุ่มที่ชอบใช้งานเครือข่ายสังคม
"แพลตฟอร์มของโตชิบาจะใกล้เคียงกับไอแพดที่ใช้ระบบปฏิบัติการของแอปเปิล แต่ Liberto W100 เป็นสินค้าของฝั่งพีซีมีส่วนประกอบแตกต่างจากไอแพด ขณะเดียวกันราคาสินค้าไม่ถึง 4 หมื่นบาท น่าจะมีผู้สนใจมากขึ้น" นายถกลกล่าวและว่า
คาดว่าตลาดแท็ปเลตในเมืองไทยจะมีสัดส่วนในตลาดไม่ถึง 1% ของตลาดโน้ตบุ๊ก เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล แต่ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในอนาคต เพราะสินค้ากำลังเป็นเทรนด์และอยู่ในกระแส ขณะที่มีอินเตอร์เฟซการใช้งานที่เป็นธรรมชาติ จึงคาดว่าแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่นี้น่าจะได้รับความนิยม แต่จะขยายเข้าสู่ตลาดแมสหรือไม่ขึ้นอยู่กับราคาระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ด้วย
ด้านนายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัดกล่าวว่า บริษัทกำลังอยู่ในช่วงศึกษาโอกาสการทำตลาดและเตรียมนำเข้าสินค้าใหม่ช่วงครึ่งปีหลังนี้ประกอบด้วย "มีเดียแท็ปเลต" และ "อีรีดเดอร์" ซึ่งถือเป็นสินค้าเซ็กเมนต์ใหม่ในตลาด โดยกำลังศึกษาแนวทางการทำตลาดและพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค โดยเบื้องต้นเอเซอร์จัดสินค้าดังกล่าวอยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทแฮนด์เฮลด์
นอกจากนี้ ปัจจุบันอยู่ในช่วงการพูดคุยกับผู้ผลิตคอนเทนต์ เพราะมองว่าคอนเทนต์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การซื้อสินค้าทั้ง 2 กลุ่มมีความคุ้มค่ามากขึ้น โดยจะมีการร่วมมือกันทำตลาดควบคู่กัน เบื้องต้นคาดว่าอีรีดเดอร์จะมีราคาต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ขณะที่มีเดียแท็ปเลตนั้นยังไม่สรุปราคา ขอดูคู่แข่งในตลาดและมุมมองการใช้งานของลูกค้าก่อน
"หากลูกค้ามองฟังก์ชั่นการใช้งานของมีเดียอินเทอร์เน็ต เล่นเกม น่าจะมีคนต้องการสินค้า แต่อีรีดเดอร์อาจมีคนใช้น้อยเพราะคนอ่านหนังสือมีน้อย แต่ทั้งนี้คาดว่าทั้งสองอย่างยังมีจุดขายของมันอยู่ เพราะลูกค้าบางรายมีโน้ตบุ๊กอยู่แล้วแต่ต้องการแก็ดเจตอื่น ๆ มาเสริม โดยพยายามที่จะนำเข้ามาทำตลาดให้ทันในไตรมาส 3 นี้"
นายนิธิพัทธ์กล่าวถึงภาพตลาดรวมไอทีไตรมาส 3 ว่า มีสัญญาณเป็นบวกเพราะสถานการณ์การเมืองเริ่มนิ่ง ความพร้อมของสินค้ามีทุกเซ็กเมนต์ ทำให้คาดว่าตลาดยังมีการเติบโต ขณะเดียวกันล่าสุดเอเซอร์ได้พัฒนาระบบ Automatic Transaction Management สำหรับบริหารจัดการสต๊อกของร้านค้าให้มีความง่ายขึ้น ลงละเอียดว่าสินค้ารุ่นไหนขายดี มีเหลือจำนวนเท่าไร เป็นเครื่องช่วยให้ทำการตลาดได้ง่ายขึ้น และช่วยให้ดีลเลอร์สามารถโฟกัสที่งานขายได้เต็มที่ จากเดิมที่แต่ละร้านค้าจะบริหารจัดการสต๊อกเอง ปัจจุบันเอเซอร์ได้ติดตั้งระบบแก่ดีลเลอร์ประมาณ 20% ของดีลเลอร์ทั้งหมดกว่า 600 ราย โดยคาดว่าภายในไตรมาส 3 จะสามารถติดตั้งระบบได้ทุกร้านค้า
นายพรเทพ วัชรอำนวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัสซุสเทค คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า อัสซุสมีแผนที่จะนำ EeePad และ EeeTablet เข้าสู่ตลาดไทยช่วงไตรมาส 4 เพื่อเสริมไลน์สินค้าของบริษัทและเป็นการขยายรายได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันกระแสแท็ปเลตกำลังมาแรง อย่างไรก็ตามผู้ใช้งานยังจำกัดอยู่เฉพาะคนที่เป็นคอไอทีจริง ๆ ยังไม่กระจายสู่ตลาดแมส แต่ปีหน้าคาดว่ากระแสแท็ปเลตอาจจะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะมีหลายแบรนด์นำสินค้าเข้าสู่ตลาดและหลากหลายระบบปฏิบัติการ เช่น วินโดวส์ 7 หรือแอนดรอยด์ทำให้ตลาดคึกคักและมีผู้ใช้งานมากขึ้น
ด้านนายกฤตวิทย์ กฤตยเรืองโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปลายปี 2553 เดลล์มีแผนจะนำเน็ตบุ๊กแท็ปเลตรุ่น "Inspiron Mini 10" หน้าจอทัชสกรีน ซึ่งจะมีแกนหมุนเปลี่ยนหน้าจอได้ ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 7 ทำตลาดในไทยเพื่อเข้ามาเสริมไลน์สินค้าในไทยให้มีมากขึ้นและสร้างเป็นการแบรนด์เดลล์มากขึ้นด้วย
โดยตลาดแท็ปเลตในไทยนั้น คาดว่ามีโอกาสเติบโต แม้ว่าปัจจุบันตลาดแท็ปเลตในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตลาดมีการพัฒนา มีความซับซ้อนและผู้ใช้งานต้องการสินค้าที่ตรงไลฟ์สไตล์มากขึ้น ทำให้แท็ปเลตหรือเก็ตเจตต่าง ๆ มีโอกาส แม้ว่าคนจะมีโน้ตบุ๊กอยู่แล้วแต่ยังต้องการเก็ดเจตเป็นสินค้าเสริม
"ช่วงนี้หลายแบรนด์นำสินค้าเก็ดเจตใหม่ ๆ หรือ แท็ปเลตเข้าสู่ตลาด เพราะกระแสเครือข่ายสังคม ทำให้การใช้งานแท็ปเลต ซึ่งมีหน้าจอทัชสกรีนนั้นตอบโจทย์มากขึ้น รวมถึงวินโดวส์ 7 ที่ทำให้พฤติกรรมของผู้ใช้งานเปลี่ยน"
แหล่งข่าวกล่าวว่า ถือเป็นความพยายามของผู้ผลิตสินค้าไอทีจะต้องสร้างตลาดเซ็กเมนต์ใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันโน้ตบุ๊กที่ถือเป็นตัวสร้างรายได้หลักให้กับผู้ค้าและผู้ผลิตก็มีการแข่งขันราคาที่รุนแรง โอกาสในการทำกำไรก็ลดน้อยลง
ที่มา: prachachat.net