เอสเอพี เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น แถลงผลประกอบการ โดดเด่นในตลาดซอฟต์แวร์ทางด้านธุรกิจทั่วภูมิภาคนี้ในช่วงปี 2551 อย่างต่อเนื่อง
ตลอดปี 2551 เอสเอพี เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วที่สุดของเอสเอพี เอจี ด้วยยอดรายได้จากซอฟต์แวร์ 594 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 23 % ส่วนรายได้จากซอฟต์แวร์และบริการที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์อยู่ที่ 1,192 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 24 % ทั้งนี้ตัวเลขรายได้ทั้งหมดในข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับนี้ใช้เงื่อนไขสกุลเงินแบบคงที่ตามหลักการ Non-GAAP และการเติบโตทั้งหมดเป็นการเปรียบเทียบกับรอบระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
แม้ว่าเอสเอพี เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น ต้องเผชิญกับความท้าทายกับสภาวะตลาดที่ยากลำบากในช่วงไตรมาส 4 โดยรายได้จากซอฟต์แวร์และบริการที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น 5 % แต่รายได้รวมตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้น 20 % โดยอยู่ที่ระดับ 1,532 ล้านยูโร
รายได้จากซอฟต์แวร์ของเอสเอพีเพิ่มขึ้น 20 % ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับตลอดปี 2551 ส่วนรายได้จากซอฟต์แวร์และบริการที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 19 %
ภัทร ยงวณิชย์ กรรมการผู้จัดการ เอสเอพี ประเทศไทย กล่าว ว่า ”การเติบโตอย่างมั่นคงของเอสเอพีในภูมิภาคนี้แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของเราได้รับการตอบรับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวขณะนี้ “
”ผมรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ทีมงานของเอสเอพี เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น สามารถรับมือกับสภาวะตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 แม้ว่าสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยสักเท่าใดนัก แต่เราสามารถทำสัญญามูลค่าสูงได้ในหลายๆ ประเทศทั่วภูมิภาคนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมโดยรวม” คุณภัทร กล่าวเสริม
ในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2551 เอสเอพีได้ทำสัญญากับลูกค้ารายสำคัญๆ เช่น บริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูทิคอล จำกัด บริษัท บุญถาวร เซรามิค จำกัด และบริษัท ค้าเหล็กไทย จำกัด พิสูจน์ให้เห็นว่าคุณประโยชน์ทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรมคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าในภูมิภาคนี้ยังคงให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ของเอสเอพี แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงชะลอตัวก็ตาม
”สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจในปัจจุบันถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับทุกๆ องค์กร ไม่ใช่เพียงแค่เอสเอพีเท่านั้น แต่ยังคงมีโอกาสใหม่ๆ เนื่องจากลูกค้าของเราเชื่อว่าโซลูชั่นของเอสเอพีจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกทางด้านธุรกิจ ปรับปรุงประสิทธิภาพ และเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน จะช่วยให้ลูกค้าสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้” ภัทรกล่าวเสริม
”สำหรับในปี 2552 เรายังคงมุ่งเน้นการนำเสนอคุณประโยชน์ทางด้านธุรกิจที่เป็นรูปธรรมให้แก่ลูกค้า เรามั่นใจว่าการลงทุนในการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ของเอสเอพี และการเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ๆ จะช่วยให้เราสามารถขยายความเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมและโซลูชั่นได้อย่างแข็งแกร่ง”
เอสเอพีสามารถรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงทีด้วยการเปิดตัวแพ็คเกจสุดคุ้มสำหรับลูกค้าในประเทศไทย โดยเอสเอพีมีโปรโมชั่นที่ชื่อว่า ‘The Best-Run Now’ เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของเอสเอพีในราคาที่เหมาะสม และสำหรับลูกค้าใหม่ที่ต้องการซื้อซอฟต์แวร์ของเอสเอพีตั้งแต่ 15 ไลเซ่นส์ขึ้นไป สามารถซื้อซอฟต์แวร์ของบิสซิเนส ออบเจ็กต์ในราคาพิเศษลด 50% นอกเหนือไปจากนั้น SAP Business All-in-One Framework ยังสามารถตอบโจทก์ที่ลูกค้าต้องการ โดยที่ช่วยลดต้นทุนค่าติดตั้งและช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กรได้ถึง 60-70% ถ้าเทียบกับระบบที่ไม่มี Framework อีกทั้งเป็นที่ยอมรับกันว่า Framework ของ SAP เหมาะสมอย่างยิ่งกับธุรกิจ SME ในเมืองไทย