เนคเทค พับแผนพัฒนาโอเพนซอร์ซแห่งชาติ หลังรัฐบาลไม่อนุมัติงบไทยเข้มแข็ง 180 ล้านบาท ประกาศเดินหน้าสานต่อโครงการ"อีโคโลนักซ์" หนุนโลคัลแบรนด์ติดตั้งซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ เผยปีแรกลดการละเมิด 1.7 พันล้าน ล่าสุดขยายความร่วมมือเพิ่มผู้ประกอบการ 5 ราย
ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ด้วยโอเพนซอร์ซ ตามที่เนคเทค ได้เสนอของบประมาณราว 180 ล้านบาทภายใต้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปีนั้นไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนดังกล่าวจากรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลมีโครงการอื่นที่มีความสำคัญมากกว่า
โดยการดำเนินงานโครงการดังกล่าวนั้นคาดว่าผลที่ได้รับตลอดโครงการนั้นจะมีระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ 3 เวอร์ชัน, อบรมบุคลากรด้านโอเพนซอร์ซได้จำนวน 27,000 คน , บุคลากรเข้าทดสอบทักษะจำนวน 4,800 คน และเกิดผู้ประกอบการคอมพิวเตอร์ของไทย Local brand PC : Ecolonux ไม่น้อยกว่า 60 บริษัท , ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซพื้นฐาน มีความพร้อมใช้งานในระดับดีเยี่ยม ที่สำคัญที่สุดคือจะเกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับกิจกรรมทางธุรกิจและพร้อมสำหรับนักพัฒนา ลดปัญหาการละเมิดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ของประเทศไทย
อย่างไรก็ตามเนคเทค ยังคงเดินหน้าโครงการส่งเสริมการใช้โอเพนซอร์ซ หรือ "อีโคโลนักซ์ (Ecolonux)" ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาให้ผู้ประกอบการคอมพิวเตอร์โลคัลแบรนด์ มีความสามารถในการติดตั้งซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ เพื่อการจำหน่ายในปริมาณมากๆ โดยสร้างแผ่น OEM ภายในบริษัทได้ พร้อมการถ่ายทอดความรู้ในการแก้ไขปัญหาการติดตั้งใช้งาน เพื่อให้การใช้งานโอเพนซอร์ซซอฟต์แวร์สู่กลุ่มผู้ใช้งานในปริมาณมาก เนคเทคมุ่งหวังให้เกิดการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ เพื่อลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ เปิดโอกาสหรือเพิ่มตัวเลือกให้กับผู้บริโภคให้สามารถจัดหาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซที่มีคุณสมบัติเทียบเคียงหรือสามารถใช้งานทดแทนซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ได้ในราคาประหยัด
โดยในปีแรกที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์ 2552 - พฤษภาคม 2553) มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) ,กลุ่มบริษัทดีคอมพิวเตอร์ฯ , บริษัท โพเวลอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ จำกัด, บริษัท ไอทีเบเคอรี่ จำกัด และบริษัท ซินเน็ค(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) โดยมียอดการติดตั้งซอฟต์แวร์ อีโคโลนักซ์ ไปแล้ว จำนวน 68,518 เครื่อง ช่วยทดแทนการละเมิดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่า 1,233 ล้านบาท มียอดการติดตั้งซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซฟอร์วินจำนวน 32,412 เครื่อง ช่วยทดแทนการละเมิดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่า 486 ล้านบาท คิดเป็นยอดรวมติดตั้งซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซในคอมพิวเตอร์โลคัลแบรนด์ จำนวน 100,930 เครื่อง ช่วยทดแทนการละเมิดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์คิดเป็นมูลค่า รวมทั้งสิ้น 1,719 ล้านบาท
ซึ่งขณะนี้ได้ขยายความร่วมมือ ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการด้านการผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์รายใหม่อีก 5 ราย คือ บริษัท เจท คอมพิวเตอร์พลัส จำกัด, บริษัท ออสการ์ โฟร์สตาร์ จำกัด, บริษัท โปรคอนเนอร์ จำกัด ,บริษัท ไดมอนด์ พีเพิล จำกัด และบริษัท โน้ตบุ๊ก โซลูชั่น จำกัด ซึ่งคาดว่าจะช่วยทดแทนการละเมิดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หรือกว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการรวมในสำรวจผลการใช้งานของผู้ซื้อว่ายังใช้โปรแกรมโอเพนซอร์ซอยู่หรือไม่ พร้อมทั้งเก็บข้อมูลเพื่อนำมาปรับปรุงข้อบกพร่องต่อไป
ที่มา: thannews.th.com