ธิงค์แพด เอดจ์ ยังเป็นเครื่องที่น่าใช้งานมากที่สุดรุ่นหนึ่ง ทั้งประสิทธิภาพการทำงานและความอุ่นใจ เหมาะสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นการใช้งานโน้ตบุ๊กสักเครื่อง
เรื่อง โยโมทาโร
ตั้งแต่โน้ตบุ๊กไอบีเอ็มเปลี่ยนชื่อแบรนด์มาเป็นเลอโนโวนั้น นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ตั้งแต่เรื่องการออกแบบให้ดูทันสมัยถูกใจลูกค้ากลุ่มใหญ่ การทำตลาดที่ลงมาแตะกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงล่างมากขึ้น แทนที่การเจาะกลุ่มเป้าหมายพนักงานภายในองค์กรเพียงอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน จากเดิมที่เคยเป็นเครื่องทรงเหลี่ยมดูหน้าเตอะ แต่ให้ความรู้สึกที่แข็งแรงทนทาน มาเป็นเครื่องที่ดูเพรียวบางมันเงา และมีสีสันสะดุดตา เหมือนอย่างธิงค์แพด เอดจ์ เป็นการนำเอาเทคโนโลยีที่มีธิงค์แพดมาใส่ไว้รูปโฉมใหม่ที่ดูสดใสมากขึ้น
เอดจ์โฉมใหม่ของธิงค์แพด
สำหรับสาวกของธิงค์แพดตั้งแต่รุ่นเดอะคงไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มากนัก หลายๆ เสียงบ่นว่าจากโน้ตบุ๊กที่ดูมีมนต์ขลัง แข็งแรงและเชื่อใจได้ พลิกโฉมมาเป็นโน้ตบุ๊กทางฝั่งเอเชียที่เน้นไปที่ดีไซน์และสีสันมันเงา แต่สำหรับเอดจ์ที่เราจะพูดถึงในวันนี้
ต้องบอกว่าก็ไม่เชิงเสียทีเดียวที่จะเหมือนโน้ตบุ๊กแบรนด์ไต้หวัน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมด้านความคุ้มค่าคุ้มราคา แม้ว่าการออกแบบภายนอกจะเน้นไปที่สีสันมันเงา แต่ยังคงความเรียบหรู เน้นเหลี่ยมคมสัน ซึ่งเป็นสไตล์การออกแบบเครื่องทางฝั่งยุโรปและอเมริกา
ในขณะที่ความสามารถภายในนั้น ได้ยกชุดซอฟต์แวร์ดูแลและอัพเดตเครื่องธิงค์แวนเทจมาให้พร้อมสรรพ มีระบบปกป้องฮาร์ดดิกส์จากการตกกระแทกไม่ให้หัวอ่านและข้อมูลเสียหาย คีย์บอร์ดกันน้ำหก แทรกพอยต์ ซึ่งเราแนะนำว่าควรหัดใช้ให้ชินแล้วจะพบว่าใช้สะดวกกว่าทัชแพดมาก และสุดท้ายโรลเคจ ซึ่งเป็นคำที่เรียกโครงสร้างโน้ตบุ๊กของไอบีเอ็มหรือเลอโนโวเลื่องลือ อาจจะมีฟีเจอร์บางอย่างที่หายไปเช่น การเปลี่ยนถ่ายฮารด์ดิสก์ที่แต่เดิมเพียงปลดล็อกและดึงออกได้เลย หรือแสงไฟส่องคีย์บอร์ดก็ถูกตัดออกเช่นกัน
ตอบโจทย์นักธุรกิจ นักเดินทาง
ในแง่การใช้งานเอดจ์ที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยจะมี 2 รุ่นหลักๆ ก็คือหน้าจอขนาด 13 นิ้ว สำหรับการเดินทางไกล และหน้าจอขนาด 14 นิ้ว สำหรับคนที่ต้องการดูผลข้อมูลที่ชัดเจนและเดินทางไม่บ่อยครั้งมากนัก สำหรับตัวเครื่องที่เราได้ทดสอบนั้นเป็นเครื่องขนาด 14 นิ้ว (กลอสซี แบล็ก)
น้ำหนักประมาณราวๆ 2.5-3.0 กก. ไม่รวมอแดปเตอร์ ต้องถือว่าหนักพอดูเมื่อเทียบกับเครื่องที่มีขนาดหน้าจอเท่ากัน แต่ถ้าเทียบโครงสร้างภายในที่แข็งแรงกว่า เราถือว่าเสมอกันไปในเรื่องน้ำหนักสำหรับคนที่ต้องการความแข็งแรง
ในแง่การใช้งานโปรแกรมธิงค์แวนเทจ ที่ฝังมากับวินโดวส์เซเว่น ก็ทำให้เราแทบจะไม่ต้องเข้าไปตั้งค่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ยุ่งยากในวินโดวส์เอง โปรแกรมมีซอฟต์แวร์จัดการให้หมด รวมทั้งให้เราตั้งชื่อจุดเชื่อมต่อสำหรับการกลับมาใช้งานเองอีกครั้ง
หลายคนอาจสงสัยว่าแค่ตั้งค่าง่ายๆ ไม่เห็นต้องใช้ซอฟต์แวร์ให้ยุ่งยาก สำหรับผู้ใช้งานบางคน จะใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ทำงานเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าผ่านสายแลน หรือไวเลสเราท์เตอร์ ก็ตามบริษัทส่วนใหญ่จะมีการตั้งค่าโปรโตคอลเพื่อความปลอดภัยขององค์กร
ทีนี้ค่าโปรโตคอลนี่เองที่กลายเป็นปัญหาเวลาที่นำเครื่องไปต่อที่บ้าน โรงแรม หรืออินเทอร์เน็ตสาธารณะ ค่าโปรโตคอลที่ตั้งไว้ตายตัวจะทำให้เราต่ออินเทอร์เน็ตเหล่านี้ไม่ได้ ต้องลำบากเข้าไปลบการตั้งค่าให้กลับมาเป็นออโต้ และพอกลับไปใช้ที่ทำงานหรือที่บ้านก็ต้องเข้าไปตั้งค่าใหม่อีกครั้ง
แต่โปรแกรมของธิงค์แพด จะทำการแยกการตั้งค่าเหล่านี้ออกจากกัน เป็นชื่อโปรไฟล์ใช้งานให้เราเลือกภายหลังได้ว่าตอนนี้เรากำลังเชื่อมต่อที่จุดไหนอยู่ ถือเป็นความสะดวกในการเชื่อมต่ออันแสนง่าย นอกจากนี้ยังรองรับไวแมกซ์ และ 3Gในบางประเทศ รวมทั้งระบบเชื่อมต่อเครื่องมือนำทางดาวเทียมได้อีกด้วย
ธิงค์แวนเทจยังช่วยให้การอัพเดตซอฟต์แวร์ ทั้งไดรฟ์เวอร์วินโดวส์ แฟลชไบออส ทำได้ง่ายเพียงแค่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต คลิกเข้าโปรแกรมไม่กี่นาทีโปรแกรมจะบอกให้เราทราบว่า ตอนนี้เครื่องต้องการอัพเดตอะไรบ้างเพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
หรือหากเครื่องมีปัญหาต้องการลงวินโดวส์ใหม่ ในเครื่องเอดจ์ได้ทำการกันพื้นที่ฮาร์ดดิกส์ส่วนหนึ่งไว้สำหรับการติดตั้งวินโดวส์และโปรแกรมที่จำเป็นสำหรับเครื่องจากโรงงานมาให้พร้อมสรรพ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องใช้แผ่นติดตั้ง หรือมีความรู้เรื่องการลงโปรแกรมอะไรมากนักก็สามารถลงวินโดวส์ใหม่ และพร้อมทำงานได้ทันทีด้วยการกู้ข้อมูลที่แบ็กอัพเอาไว้ล่าสุดผ่านโปรแกรมนี้
การพิมพ์งานเราใช้เวลาปรับมือไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถพิมพ์ได้ถนัดมือไม่มีอาการพิมพ์คร่อมในคีย์ที่ติดกัน เพียงแต่รู้สึกอึดอัดเวลาที่ต้องใช้คีย์ลัด Ctrl+... เพราะปุ่มคอนโทรล กับปุ่ม FN ที่ใช้คำสั่งพิเศษในเครื่องอยู่สลับที่กัน และไม่ได้เป็นแค่เอดจ์รุ่นเดียวเท่านั้น เครื่องรุ่นใหม่แทบทุกรุ่นของเลอโนโวเป็นเหมือนกันหมด
นอกจากนี้เวลาใช้งานปุ่ม FN ไม่ต้องกดค้างไว้เพียงแต่กดไปหนึ่งครั้งก็จะเข้าโหมด FN ทันที แต่ยังดีที่เราสามารถเข้าไปปรับการตั้งค่าปุ่ม FN กับ Ctrl ให้เป็นปกติได้ในไบออส ปัญหาตรงนี้จึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่
อย่างไรก็ดีในภาพรวมแล้ว ธิงค์แพด เอดจ์ ยังเป็นเครื่องที่น่าใช้งานมากที่สุดรุ่นหนึ่ง ทั้งประสิทธิภาพการทำงานและความอุ่นใจ เหมาะสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นการใช้งานโน้ตบุ๊กสักเครื่อง เราขอแนะนำให้ใช้เลอโนโวเป็นเครื่องเริ่มต้น เพราะมีปัญหาระหว่างการใช้งานน้อยที่สุด มีโปรแกรมกู้ระบบง่าย แข็งแรง และมีความเสถียรในการทำงานสูง ที่สำคัญขึ้นชื่อว่าเป็นธิงค์แพด ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปีตรานี้ก็ยังดูคลาสสิก หากเป็นรถก็เหมือนกับคนใช้บีเอ็มดับเบิลยู ถึงรถจะเก่าเขาก็ยังเป็นบีเอ็มดับเบิลยู
สเปกเลอโนโว เอดจ์
ซีพียู Intel Core&<53; i5 430 M
แรม DDR3 2 GB 1066MHz
ไดร์ฟ ดีวีดี ดับเบิลเลเยอร์
ฮาร์ดดิกส์ 320GB 7,200 รอบ
ขนาดหน้าจอ 14.0 LED แบล็กไลต์
เว็บแคม 2 ล้านพิกเซล
พอร์ตเชื่อมต่อ HDMI , 7-in-1 การ์ดรีดเดอร์ USB 2.0 3 ช่อง, พอร์ต eSATA พอร์ตสายแลน RJ 45 และเชื่อมต่อไร้สาย ไว-ไฟ , ไวแมกซ์
แบตเตอรี่ 6 เซล ใช้งานต่อเนื่องในโหมดธรรมดาต่อเนื่องได้ประมาณ 4 ชั่วโมง
ที่มา: posttoday.com