รัฐมนตรีไอซีทีชู 4 นโยบายหลัก ขีดเส้นตาย 21 วัน ต้องได้คำตอบฟันธงจาก ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสัมปทาน ทั้ง เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และไทยคม ดันแผน "ถนนไร้สาย" ให้ทุกตำบลได้ใช้เน็ต ไร้สายขั้นต่ำ 1 เมกะบิต ในราคายุติธรรม แถมตั้งตัวชี้วัดตั้งแต่ซี 9-ซี 10 หา "ว่าที่ปลัด" คนใหม่ภายใน 3 เดือน
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยภายหลังมอบ นโยบายให้กับหน่วยงานใต้สังกัดว่า นโยบาย ในการทำงานจะให้น้ำหนักการบริหารไปที่ด้านไอทีสัก 70% เพื่อผลักดันธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอีคอมเมิร์ซที่มี ประสิทธิภาพให้ได้ภายใน 1 ปี และให้สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) เสนอแผนการเพิ่มการใช้งานโอเพ่นซอร์ซในประเทศ รวมถึงพัฒนาโปรแกรมโอเพ่นซอร์ซที่ใช้งานได้ง่าย ส่วนอีก 30% จะเน้นที่การบริหารงานโทรคมนาคม
เบื้องต้นกำหนดนโยบายหลักไว้ 4 เรื่อง ได้แก่ ภายใน 30 มิ.ย.นี้หน่วยงานใต้สังกัดรวมถึงผู้บริหารทุกคนตั้งแต่ระดับซี 9-10 จะต้องเสนอดัชนีชี้วัดการทำงานของตนเอง โดยจะมีการประเมินผลทุกรายไตรมาส เป็นการเร่งรัดการทำงานและหาผู้ที่ เหมาะสมจะได้เป็นปลัดกระทรวงคนต่อไป หลังจากนายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงจะเกษียณอายุในเดือน ก.ย.นี้ พร้อมกับขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงลดการใช้กระดาษลงให้ได้ 30% ภายใน 30 ก.ย.นี้ โดยหันมาใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทน ให้สมเป็นกระทรวงไอซีที
ขณะเดียวกันยังได้มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที และบมจ. กสทฯ วางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศด้วยความเร็วขั้นต่ำ 1 เมกะบิต ในราคาที่ประชาชนสามารถใช้บริการได้ อาทิ 150 บาทต่อเดือน ซึ่งทาง กสทฯแจ้งว่า สามารถดำเนินการได้ทันที และหากกระทรวงอนุมัติการซื้อกิจการของฮัทช์ก็จะดำเนินการได้เร็วขึ้น ส่วนทีโอทีขอเวลาเตรียมตัว 6 เดือน ก่อนจะลงมือติดตั้ง โครงข่าย
นอกจากนี้ยังมอบให้ทั้ง 2 องค์กรยกระดับธรรมาภิบาลของบริษัทให้สูงกว่าเดิม โดยให้วางแผนดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนปัญหาการแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคมและสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่าง บมจ.ทีโอที กับเอไอเอส และระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคมกับดีแทค, ทรูมูฟ ว่าได้ทำรัฐเสียหายหรือไม่ ได้กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสรุปข้อเท็จจริง และทางออกตามกฎหมาย และรายงานให้ทราบภายใน 21 วัน
รวมถึงประเด็นที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาพาดพิงถึงใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต 2.การแก้ไขสัญญาปรับลดส่วนแบ่งรายได้บริการพรีเพดให้เอไอเอสจาก 25% เป็น 20% คงที่ตลอดอายุสัญญา 3.กรณีการแก้ไขสัญญาโทรศัพท์มือถือโดยอนุญาตให้เอไอเอสหักใช้โครงข่ายร่วมออกจากรายได้รวมก่อนนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอที และ 4.การละเว้นการปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นการแก้คุณสมบัติดาวเทียมไทยคม 4 เป็นไอพีสตาร์ การมีดาวเทียมสำรอง เงินประกันที่ได้จากดาวเทียมไทยคม 3 ที่ปลดระวางก่อนกำหนด และการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่นในไทยคม
"ทั้งหมดต้องลำดับเหตุการณ์ว่า ใครทำอะไร อย่างไรบ้าง พร้อมเร่งรัดให้คณะกรรมการที่มีหน้าที่กำกับดูแลสัมปทานตามมาตรา 22 และ 13 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฟันธงมาว่า สัมปทานแต่ละฉบับมีผลอย่างไร ความเสียหายเท่าไร มีทางเลือกตามกฎหมายอย่างไร ซึ่งทางทีโอทีขอเวลา 14 วัน ในการสรุปรายงาน ส่วนทาง กสทฯรับปากว่า จะส่งข้อสรุปภายในวันศุกร์นี้" นายจุติกล่าวและว่า
ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องทุบโต๊ะหรือล้มกระดาน แต่จะดูทุกสัญญาโดยรอบคอบและปราศจากอคติ ถ้าข้อเท็จจริงลากไม่ถึงเอกชนก็ไม่ถึง แต่ถ้าเอาผิดได้ก็ไม่เอาไว้ ก็คงต้องเอาข้อเท็จจริงไปคุยกับกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าของทรัพย์สิน ว่าอะไรดีที่สุดกับส่วนรวม โดยส่วนตัวถ้าสมมุติว่าทุบโต๊ะ ล้างไพ่แล้ว ก็ต้องดูว่าสังคมได้อะไร แต่ถ้าให้เอกชนเสียค่าปรับเพื่อกลับเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง มีคนจ้างงาน มีคนเสียภาษีให้รัฐ จะดีกว่า
"มั่นใจว่าเรื่องนี้ต้องยืดเยื้อแน่นอน เอกชนคงต้องสู้ถึง 3 ศาล แต่ภาครัฐก็ต้องเตรียมคดีให้ดีที่สุด ไม่มีการล้มมวยแน่นอน ถ้าข้อสรุปชี้ว่าเอกชนมีความผิดทั้งทางแพ่งทางอาญา ก็ต้องไปแก้ตัวกันในศาล ซึ่งก็ทราบมาว่าเขาได้เตรียมตัวกันแล้ว"
ส่วนการจะซื้อหุ้นของ บมจ.ไทยคมคืนจากกองทุนเทมาเส็กนั้น ยังไม่ได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี แต่ในฐานะที่เป็นคนไทยแล้วอยากให้มีการซื้อคืน เพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและวงโคจรดาวเทียมก็เป็นของประเทศไทย แต่สำหรับหุ้นในบริษัทอื่น ๆ ยังไม่เห็นความจำเป็น
"นโยบายที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายมาให้ตอนนี้คือ ดูแลเรื่องความสุจริตในการทำงานของแต่ละหน่วยงาน การส่งเสริมด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน การพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรกับดาวเทียมไทยคม"
ที่มา: prachachat.net