ซิสโก้เปิดตัว Connected Health เต็มรูปแบบ ชี้ทิศทางการใช้ระบบเครือข่ายเพื่อธุรกิจบริการด้านสุขภาพ แนะเชื่อมโยงสร้างชุมชนระบบสุขภาพแบบครบวงจร มั่นใจเกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและสังคม ยกเคสจริง ร.พ.สมิติเวช สุขุมวิท Connected Hospital สมบูรณ์แบบ ก้าวแรกสู่ Connected Health พร้อมควงแขนเน็กเซนเทลเผยเคล็ดลับการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายสู่กระบวนการทางธุรกิจ
ซิสโก้เปิดตัว Connected Health เต็มรูปแบบ ชี้ทิศทางการใช้ระบบเครือข่ายเพื่อธุรกิจบริการด้านสุขภาพ แนะเชื่อมโยงสร้างชุมชนระบบสุขภาพแบบครบวงจร มั่นใจเกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและสังคม ยกเคสจริง ร.พ.สมิติเวช สุขุมวิท Connected Hospital สมบูรณ์แบบ ก้าวแรกสู่ Connected Health พร้อมควงแขนเน็กเซนเทลเผยเคล็ดลับการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายสู่กระบวนการทางธุรกิจ
นายวัตสัน ถิระภัทรพงศ์ ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจพาณิชย์ บริษัทซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า Connected Health คือแนวคิดการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงชุมชนระบบสุขภาพแบบครบวงจร โดยเชื่อมโยงทุกบริการที่เกี่ยวข้องกับการบริการสุขภาพตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงผู้รับบริการปลายทางเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น สถานพยาบาลทั้งในเมืองและในพื้นที่ห่างไกล ผู้ป่วย แพทย์ ร้านขายยา สถาบันวิจัย หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง บริษัทประกัน ไปจนถึงลูกจ้าง พนักงาน และบ้านเรือน เป็นต้น
นายวัตสัน กล่าวต่อว่า ระบบ Connected Health จะช่วยให้โรงพยาบาลขยายขอบเขตการประสานความร่วมมือกันได้อย่างครอบคลุม ทำให้ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ช่วยพัฒนาการให้บริการ ควบคู่ไปกับการควบคุมค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังช่วยเชื่อมโยงบุคลากรทางการแพทย์ถึงกัน และเชื่อมโยงแพทย์เข้ากับข้อมูลสำคัญต่างๆ ช่วยให้แพทย์สามารถหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเส้นทางการดูแลรักษาพยาบาล ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ป่วยมีบทบาทในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลหรือดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น อีกทั้งยังได้ขยายแนวความคิดเรื่องการแพทย์เชิงป้องกันหรือการตรวจดูแลผู้ป่วยแบบระยะไกลให้ไกลออกไปจากเดิม โดยจะสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ก่อนที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล
นายวัตสัน กล่าวอีกว่า ซิสโก้มีโซลูชั่นสำหรับการเชื่อมโยงทางการแพทย์ที่ครบวงจร เริ่มตั้งแต่ระบบเครือข่ายอัจฉริยะซิสโก้ เมดิคัล-เกรด เน็ตเวิร์ค (Cisco Medical-Grade Network) เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลสุขภาพร่วมกัน ซึ่งสามารถตรวจสอบ คุ้มครอง และซ่อมแซมตัวเอง เพื่อให้แอพพลิเคชั่นและข้อมูลสำคัญมีความปลอดภัยและพร้อมใช้งานอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังมีโซลูชั่นซิสโก้ คอนเน็กเต็ด อิมเมจจิ้ง (Cisco Connected Imaging) สำหรับบริหารจัดการและเชื่อมโยงการรับส่งภาพถ่ายทางการแพทย์จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยเฉพาะรังสีวิทยาเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจวิเคราะห์เเละวินิจฉัยโรค และโซลูชั่นซิสโก้ คลินิคัล คอนเน็กชั่น สวีท (Cisco Clinical Connection Suite) ที่เชื่อมต่อแพทย์ ผู้ป่วย และข้อมูลสุขภาพเข้าด้วยกันอย่างครบวงจร ซึ่งภายใต้ระบบ Cisco Clinical Connection Suite ยังประกอบไปด้วย solution ต่าง ๆ เช่น
Collaborative Care เพื่อให้การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ให้บริการด้านการเเพทย์และผู้ป่วย หรือ ระหว่างผู้ให้บริการทางด้านการแพทย์ด้วยกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยให้การบริการผู้ป่วยใช้เวลาน้อยลงแต่ได้ความพึงพอใจสูงสุดจากผู้ป่วย Interpretation Services ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างล่ามที่มีอยู่ปริมาณจำกัดให้บริการผู้ป่วยต่างชาติได้จำนวนมากขึ้นเเละยังสามารถบริหารจัดการล่ามที่อยู่ต่างสถานที่ผ่านโครงข่ายเน็ตเวิร์คสำหรับสถานบริการบางที่ที่มีล่ามภาษานั้น ๆ ในปริมาณที่จำกัดหรือไม่มีเลย ถัดมาระบบติดตามตำแหน่งที่ตั้ง (Context Aware Healthcare) ซึ่งระบบสามารถติดตามข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สาย (Mobile Care) ระบบติดตามพยาบาลฉุกเฉิน (Nurse Call) ผ่านไอพีโฟนไร้สายสำหรับพกพา และระบบเทเลเพรสเซนส์ (TelePresence for Healthcare )สำหรับการบริการสุขภาพ ที่ผู้ป่วยจะได้รับบริการจากสถานบริการการเเพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางการเเพทย์ผ่านระบบเสมือนจริง
ด้านนายวันชัย สว่างวงศากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กเซนเทล จำกัด กล่าวเสริมว่า ในแต่ละภาคธุรกิจมีความเฉพาะตัวของตัวเอง การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้จึงมีความท้าทายแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการผสานเทคโนโลยีให้เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจของธุรกิจนั้นๆ อย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น ธุรกิจบริการสุขภาพ ต้องใช้โซลูชั่นทางด้านการแพทย์ ซึ่งควรจะต้องมีองค์ประกอบต่างๆ ที่เชื่อมต่อแพทย์ ผู้ป่วย และข้อมูลสุขภาพเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการรักษาพยาบาลในลักษณะประสานความร่วมมือกันและกัน โดยเชื่อมต่อบุคลากรที่เหมาะสมเข้ากับข้อมูลผู้ป่วยในแบบไดนามิก เพื่อปรับปรุงความรวดเร็วในการรักษาพยาบาล และเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม เป็นต้น
สำหรับร.พ.สมิติเวช สุขุมวิทนั้น ได้ติดตั้งซิสโก้ไอพีโฟนรุ่น 7970 และซิสโก้ไอพีโฟนไร้สายรุ่น 7921G ซึ่งเน็กเซนเทลเป็นผู้พัฒนาแอพลิเคชั่นบนเครื่อง รวมถึงระบบเครือข่าย Wi-Fi ที่ต้องติดตั้งแอ็คเซสพ้อยท์นับร้อยจุด จึงต้องอาศัยระบบบริหารจัดการเครือข่ายที่ชาญฉลาด เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้จากศูนย์กลาง กำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและทำให้เครือข่ายไร้สายพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีโซลูชั่นด้านการแพทย์อื่นๆ อาทิ ระบบ Patient Discharge ระบบบริการล่ามผ่านจอ ระบบเชื่อมโยงภาพถ่ายทางการแพทย์ เป็นต้น
ฝ่าย พญ.สมสิริ สกลสัตยาทร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช เปิดเผยว่า สมิติเวช ในฐานะโรงพยาบาลชั้นนำของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล็งเห็นประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพราะเราเชื่อว่าเทคโนโลยีคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ยกระดับการให้บริการ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ตลอดจนลดความซับซ้อนในการทำงานลงไปได้ในขณะเดียวกัน จึงเป็นเหตุผลที่สมิติเวชได้ก้าวสู่การเป็น Connected Hospital ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับมุมมองของซิสโก้ในเรื่อง Connected Health
สมิติเวชได้ผสานแนวคิดในเรื่อง Connected Health นี้เข้ากับวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาล และได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงแอพลิเคชั่นทั้งระบบให้สมบูรณ์แข็งแรง โดยมีซิสโก้คอยให้คำปรึกษาในแนวทางต่างๆ และเราก็พบว่ายังมีความเป็นไปได้อีกมากที่การเชื่อมโยงถึงกันบนระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์จะสามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดกับธุรกิจ ตัวองค์กร ผู้ปฏิบัติงาน ผู้รับบริการ ไปจนถึงทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งภายในหรือภายนอกองค์กรก็ตาม
ในวันนี้เราได้กลายเป็น Connected Hospital อย่างแท้จริง เทคโนโลยีช่วยให้เราเชื่อมโยงทุกแผนกของโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกันลูกค้าและผู้ป่วยที่มาใช้บริการของเราก็สามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอก และขอรับบริการต่างๆ ของโรงพยาบาลได้สะดวกขึ้น พร้อมๆ กับที่เราเองก็ทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย