สัญลักษณ์บริการ Songza ถูกดัดแปลงหลังจาก Google ประกาศซื้อกิจการหน้าแอปพลิเคชัน Songzaสัญลักษณ์ดั้งเดิมของ Songza เจ้าพ่ออินเทอร์เน็ต "กูเกิล (Google)" ประกาศซื้อกิจการสตรีมมิงเพลงออนไลน์สัญชาติอเมริกัน "ซองซา (Songza)" โดยไม่เปิดเผยมูลค่า การซื้อกิจการครั้งนี้ถูกจับตามองอย่างมากเนื่องจากนี่คือสัญญาณสะท้อนว่ารายการเพลง"รูปแบบใหม่"อาจมีโอกาสแจ้งเกิดบนร้านกูเกิลเพลย์ (Google Play) หรือบริการวิดีโอออนไลน์อย่างยูทิวบ์ (YouTube) ขณะที่สื่อใหญ่อย่างนิวยอร์กไทม์เชื่อว่าการซื้อกิจการครั้งนี้มีมูลค่ามากกว่า 39 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,248 ล้านบาท คำถามที่หลายคนสงสัยคือ Songza มีความโดดเด่นอย่างไรจึงทำให้กูเกิลเลือกซื้อบริการนี้ แถมการซื้อกิจการครั้งนี้ยังอาจเป็นสิ่งชี้ชะตาธุรกิจสตรีมมิงเพลงของกูเกิลในอนาคตด้วย แม้ว่ามูลค่าการซื้อกิจการจะถูกมองว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ต่อปีของกูเกิล
ที่ผ่านมา Songza ไม่เปิดให้บริการนอกสหรัฐอเมริกาและแคนาดา จึงทำให้ชื่อ Songza ไม่คุ้นหูในพื้นที่นอกตลาดอเมริกาเหนือ แต่กูเกิลอธิบายเหตุผลที่ทำให้บริษัทตัดสินใจซื้อ Songza ว่าเป็นเพราะบริการยอดเยี่ยมของ Songza ซึ่งใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาหรือ contextual expert มาเป็นผู้เลือกรายการเล่นเพลงหรือ playlist เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับฟังเพลงที่เหมาะสมกับเวลาในช่วงนั้น
สิ่งที่ Songza ทำคือการตั้งทีมงานเพื่อสร้างรายการ playlist ที่เข้ากับช่วงเวลาในแต่ละวันหรือสัปดาห์ รวมถึงกิจกรรมที่ผู้ใช้กำลังทำอยู่ วิธีนี้ทำให้ผู้ใช้บนแอนดรอยด์ (Android) และไอโอเอส (iOS) สามารถเลือกฟังเพลงที่เหมาะกับช่วงเวลาทำงาน ขับรถ ทำอาหาร หรือแม้แต่ช่วงที่กำลังเหงาหรือผิดหวังจากความรักได้ รวมถึงการเลือกฟังเพลงตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป นี่จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกรายการเพลงลักษณะนี้ว่า contextual playlist หรือรายการเพลงที่ถูกสร้างขึ้นตามเนื้อหาและเงื่อนไขในการฟังเฉพาะช่วงเวลา
แม้แนวคิด contextual playlist นี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่บริการเพลงอย่างสปอติฟาย (Spotify) ก็ให้บริการ playlist ตามอารมณ์ของผู้ใช้ สถานการณ์ และช่วงเวลาที่ฟังลักษณะเดียวกัน โดย playlist เหล่านี้ถูกสร้างสรรค์โดยทีมงานภายใน Spotify ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ Spotify ซื้อกิจการสตาร์ทอัปเพลงสัญชาติสวีเดนนามว่า "ทูนิโก (Tunigo)" ในเดือนพฤษภาคมปี 2013 ขณะที่บริการอย่างบีตส์มิวสิค (Beats Music) ก็เปิดตัวบริการชื่อ The Sentence ซึ่งผู้ใช้สามารถให้ข้อมูลกิจกรรมที่ทำและอารมณ์ที่รู้สึกก่อนจะสร้าง playlist ได้ แต่ต้องยอมรับว่า Songza นั้นมีความชำนาญในระบบ contextual playlist มากเนื่องจากบริษัทเริ่มพัฒนาระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2012 ในชื่อ "Music Concierge" ซึ่งทำให้ยอดผู้ใช้ในสหรัฐฯมีอัตราเติบโตรวดเร็วมาก
สถิติล่าสุดพบว่า Songza มีผู้ใช้บริการประจำมากกว่า 5.5 ล้านราย (สถิติปลายปี 2013) ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ธรรมดาในกลุ่มผู้ให้บริการระบบ contextual playlist
นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้กูเกิลตัดสินใจซื้อ Songza แอปพลิเคชันวิทยุส่วนตัวยอดนิยมที่มีทีมงานเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์ playlist อัจฉริยะให้ผู้ฟัง สิ่งที่กูเกิลจะได้รับอีกอย่างคือข้อมูลความชำนาญมากมายที่สะท้อนว่าผู้ใช้เลือกฟังเพลงอะไรและอย่างไร จุดนี้กูเกิลยืนยันว่า Songza จะยังให้บริการในรูปแบบแอปพลิเคชันแยกเดี่ยวหรือ standalone app ต่อไป เนื่องจากกูเกิลยังไม่มีแผนเปลี่ยนแปลงรูปแบบบริการ Songza ทันทีที่ซื้อกิจการ
สำหรับอนาคต Songza จะถูกพัฒนาให้ทำงานร่วมกับระบบ Google Play Music จุดนี้กูเกิลยืนยันว่ากำลังมองหาโอกาสนำประสบการณ์ฟังเพลงที่ยอดเยี่ยมมาใช้กับระบบ YouTube และบริการอื่นๆของกูเกิลภายในช่วงปีนี้
จุดนี้นักวิเคราะห์มองว่า Songza อาจทำให้กูเกิลเริ่มมีรายได้จากบริการสตรีมมิงเพลงออนไลน์ เนื่องจากที่เคยให้บริการฟรี Songza หันมาเปิดบริการสมาชิกในชื่อ Club Songza และเก็บค่าบริการรายสัปดาห์ 0.99 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 30 บาท ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้สามารถข้ามโฆษณาและเลื่อนปิดเพลงที่ไม่ต้องการฟังได้
ทั้งหมดนี้ โลกจึงจับตาดูว่ากูเกิลจะมีพัฒนาการใดในวงการเพลงออนไลน์ ซึ่งจะเสริมความแข็งแกร่งให้อาณาจักรของกูเกิลเกรียงไกรยิ่งขึ้นอีกในอนาคต
ที่มา: manager.co.th