เอ็นฟอร์ซปรับตัวครั้งใหญ่เปลี่ยน ชื่อ โลโก้ และแท็กไลน์ หวังสร้างภาพลักษณ์ใหม่เข้าตลาดเออีซี คาดปีนี้ตลาดไอทีซีเคียวริตี้โตแค่ 8% เหตุตลาดภาครัฐยังชะลอตัว พร้อมปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่สร้างความเข้มแข็งให้พาร์ทเนอร์ในทุกด้าน หวังธุรกิจเติบโต 20% และรักษาส่วนแบ่งการตลาดให้มากกว่า 30%
นายนักรบ เนียมนามธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว จำกัด ผู้นำด้านการจัดจำหน่ายระบบรักษาความปลอดภัย กล่าวว่า การทำธุรกิจในปีที่ 9 นี้เอ็นฟอร์ซจะปรับภาพลักษณ์องค์กรใหม่เพื่อรองรับการขยายธุรกิจที่มีอัตราการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนชื่อบริษัทและโลโก้ ภายใต้ชื่อ “บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว จำกัด” และใช้โลโก้สีเขียวดูสดใส รวมถึงแท็กไลน์ใหม่ที่ง่ายต่อการจดจำ Trusted and Reliable เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจให้กับลูกค้า พาร์ทเนอร์และคู่ค้า รวมไปถึงเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่เออีซี ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาตลาดไอทีซีเคียวริตี้ภาพรวมโต 11% โดยรายได้ของเอ็นฟอร์ซอยู่ที่ 395 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ส่วนปีนี้ประเมินว่าตลาดในภาพรวมน่าจะโต 8 % เนื่องจากขณะนี้ตลาดภาครัฐค่อนข้างนิ่ง ดังนั้นเอ็นฟอร์ซจึงต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการเข้าไปเจาะกลุ่มเอกชนมากขึ้น และยังมีแผนขยายตัวไปทางภูมิภาคต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดสาขาแรกที่จังหวัดขอนแก่นภายในปีนี้ และคาดว่าด้วยการปรับตัวดังกล่าวจะทำให้บริษัท เติบโตประมาณ 20% และมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 30%
ด้านกลยุทธ์การทำตลาดจะเน้นการให้บริการที่ทำให้สามารถดึงลูกค้าจากคู่แข่งผ่านทางพาร์ทเนอร์ เอ็นฟอร์ซจะเข้าไปสนับสนุนการทำงาน สร้างเสริมความแข็งแกร่งให้กับพาร์ทเนอร์ ทั้งทางด้านการพัฒนาทักษะและประสิทธิภาพของพาร์ทเนอร์ให้สามารถตอบสนองหรือช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างทันท่วงที จัดอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติ ตลอดจนจัดกิจกรรมทางการตลาดและส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าธนาคาร เซอร์วิส โพรวายเดอร์ และสถาบันการศึกษา
ทั้งนี้ยังได้เตรียมที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาวิศวกรระบบของพาร์ทเนอร์ให้ได้การรับรองใบประกาศนียบัตรทางด้าน Next-Gen Firewall จากการทดสอบในการเข้าถึงระบบ Penetration Test ประมาณ 20 คน รองรับการเติบโตของไอที ซีเคียวริตี้ในปีนี้ เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ ด้าน Next-Gen Firewall เป็นอุปกรณ์ที่ยังใหม่สำหรับตลาดเมืองไทย แต่ก็มีโอกาสในการขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้น
“การขายผลิตภัณฑ์ไอที ซีเคียวริตี้ต้องใช้ความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมากเอ็นฟอร์ซมีเซลล์ดูแลองค์กรใหญ่ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนมากกว่าปกติ เราจึงต้องมีการเพิ่มเซลล์และสร้างความเชี่ยวชาญให้มากขึ้นทางด้านนี้ เพราะคิดว่าการทำเรื่องของความปลอดภัยในระบบไอที ไม่ใช่แค่เป็นเพียงซื้อมาขายไป แต่ต้องมีการตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์เหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา”
นายนักรบ กล่าวว่า เอ็นฟอร์ซยังได้เตรียมเปิดบริการให้เช่าใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับบริษัทต่างๆ ที่ไม่ต้องการลงทุนซื้ออุปกรณ์ไอทีเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายงบลงทุน ค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงาน โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนหลายล้านบาทในการสร้างห้องคอมพิวเตอร์ และหันมาใช้บริการของผู้ให้บริการ Data center ในราคาค่าเช่าต่อเดือนในระดับหมื่นบาท ทำให้ประหยัดเงินได้เป็นจำนวนมาก
สำหรับเทรนด์เทคโนโลยีไอที ซีเคียวริตี้ที่น่าจับตามองนั้นในปีนี้ ประกอบด้วย 4 เรื่องหลัก คือ 1.Cloud Security and Personal Cloud Security ที่คาดกันว่าการใช้งานของแต่ละบุคคลจะเพิ่มสูงขึ้น มีทั้งคลาวด์ส่วนบุคคล (Personal Cloud) ชนิดบริการจากภายนอก อาทิ Dropbox, Box, iCloud, Google Drive, SkyDrive และชนิดที่ใช้อุปกรณ์ (Appliances) ของตนเอง ซึ่งต่อไป Personal Cloud จะสามารถเรียกใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์ได้ทุกเครื่อง โดยไม่ยึดติดกับตัวอุปกรณ์เดิมอีกต่อไป เพิ่มความคล่องตัวต่อการทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา .
2.Application Security จากกระแสที่พนักงานในหลายองค์กรต่างพกอุปกรณ์ส่วนตัวต่างๆ มาที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และแล็บท็อป ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีการใช้งานแอปพลิเคชัน บน Apps store จำนวนมาก จึงจำเป็นที่ต้องมีการเพิ่มความปลอดภัยบนแอปพลิเคชันเหล่านี้
3.Application Advanced Malware Protection มัลแวร์ได้กลายเป็นการโจมตีที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว และแม้ว่าจะติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันมัลแวร์ล่าสุดพร้อมการปรับปรุงล่าสุดแล้ว แต่ก็ยังเกิดการติดเชื้ออยู่ ดังนั้นการป้องกันมัลแวร์ขั้นสูงจึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยต้องเป็นระบบอัจฉริยะแบบเรียลไทม์ที่สามารถควบคุมการระบาดและชิงโจมตีก่อนได้
4.PCI DSS Compliances PCI DSS หรือ “Payment Card Industry Data Security Standard” ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ ที่มีการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต สามารถป้องกันการโจรกรรมข้อมูลบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการควบคุมข้อมูล และช่องโหว่ต่างๆ ของระบบ และยังถูกนำไปใช้กับทุกๆ องค์กร ที่เก็บรักษา ประมวลผล หรือรับส่งข้อมูลของผู้ถือบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็นบัตรของค่ายใดก็ตาม
Company Relate Link :
Nforce
ที่มา: manager.co.th