นับถอยหลัง "คอมพิวเตอร์จิ๋วสำหรับสวมหู" เตรียมวางตลาดในช่วง 2 ปีข้างหน้า นักวิจัยญี่ปุ่นเผยคอมพิวเตอร์จิ๋วนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุมได้ด้วยการกระพริบตา ขณะที่การคลิกจะทำผ่านลิ้นในช่องปาก ทั้งหมดนี้เริ่มทดสอบแล้วในญี่ปุ่นซึ่งหากประสบความสำเร็จจะสามารถวางจำหน่ายได้ในช่วงเดือนเมษายน 2559 ในขณะที่โลกกำลังจับตามองกระแสสินค้าไอทีสวมใส่ได้ ญี่ปุ่นคือประเทศที่ไม่ปล่อยให้โอกาสงามนี้หลุดมือไป โดยคาซุฮิโร ทานิกูชิ (Kazuhiro Taniguchi) นักวิจัยมหาวิทยาลัยเมืองฮิโรชิมะ (Hiroshima City University) เปิดเผยผลงานวิจัยล่าสุดกับสื่อมวลชนในชื่อ "เอียร์คลิป-ไทป์ แวร์เอเบิลพีซี (Earclip-type Wearable PC)" ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์จิ๋วสวมใบหูได้น้ำหนัก 17 กรัมที่มาพร้อมเทคโนโลยีระบุพิกัดจีพีเอส (GPS), เข็มทิศ (compass), เซ็นเซอร์ตรวจจับองศาการเอียงเครื่องไจโร-เซ็นเซอร์ (gyro-sensor), แบตเตอรี่ (battery), เครื่องวัดความกดอากาศบารอมิเตอร์ (barometer), ลำโพงและไมโครโฟน (speaker และ microphone)
นักวิจัยรายนี้เปิดเผยว่า การออกแบบคอมพิวเตอร์สวมใบหู "Earclip-type Wearable PC" นี้ใช้แนวคิดเดียวกับศิลปะการจัดดอกไม้ของญี่ปุ่น "อิคิบานะ (ikebana)" โดยเน้นความสวยงามให้ผู้สวมมีความรู้สึกเหมือนกำลังสวมต่างหูอยู่ เบื้องต้นสินค้าต้นแบบมีสีดำขาวเรียบง่ายที่สามารถเข้ากันได้กับผู้ใช้ทุกคน
ข้อมูลระบุว่า พีซีจิ๋วนี้มีความพร้อมเพื่อทำตลาดในช่วงคริสต์มาสปีหน้า (2558) โดยอุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นมัลติมีเดียอย่างไอพ็อด (iPod) หรือแก็ดเจ็ดอื่นเพื่อให้ผู้ใช้สามารถควบคุมเครื่องด้วยการถลึงตา การแลบลิ้น และการกัดฟัน ผ่านซอฟต์แวร์พิเศษที่ถูกพัฒนาขึ้น
เหตุที่ทำให้ท่าทางการเคลื่อนไหวบนใบหน้าสามารถสั่งการอุปกรณ์ไอทีได้คือเซ็นเซอร์อินฟราเรท เซ็นเซอร์นี้จะตรวจจับความเคลื่อนไหวนี้จากกล้ามเนื้อในใบหู ซึ่งจะทำให้ระบบสามารถรับรู้ความแตกต่างได้ว่า ดวงตาหรือปากของผู้ใช้นั้นเคลื่อนไหวในลักษณะใด
อีกแนวคิดหลักของคอมพิวเตอร์สวมหูนี้คือการทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องยกมือขึ้นมาควบคุมอุปกรณ์ จุดนี้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักกีฬาปีนเขา นักขับมอเตอร์ไซค์ รวมถึงนักบินอวกาศ และที่สำคัญคือผู้พิการ
นักวิจัยญี่ปุ่นรายนี้ชี้ว่า พีซีจิ๋วนี้จะทำให้ผู้ใช้ทราบข้อมูลของสภาพแวดล้อมในขณะนั้น ทั้งข้อมูลดวงดาวหรือพิกัดทิศทาง รวมถึงการเชื่อมต่อกับบุคคลที่กำลังทำกิจกรรมเดียวกันแต่ต่างสถานที่ ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ที่สำคัญ อุปกรณ์นี้ยังทำให้ชาวญี่ปุ่นสามารถดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวได้ใกล้ชิด ซึ่งถือเป็นความสามารถที่สำคัญในยุคสังคมผู้สูงอายุขยายตัวที่กำลังจะเกิดขึ้นในญี่ปุ่น โดยอุปกรณ์นี้สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องช่วยฟัง การตรวจสอบและบันทึกประวัติสุขภาพของผู้ใช้ ซึ่งสามารถตรวจวัดได้ทั้งข้อมูลชีพจร อุณหภูมิร่างกาย ความถี่ในการรับประทานอาหาร และความถี่ในการจาม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถสะท้อนสัญญาณเจ็บป่วยของผู้ใช้ได้
นอกจากนี้ แอคเซลเลโรมิเตอร์ในเครื่องยังสามารถบอกข้อมูลได้ว่า ผู้ใช้พบอุบัติเหตุหกล้มหรือไม่ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังสมาร์ทโฟนเพื่อส่งต่อให้คนในครอบครัว เพื่อดำเนินการเรียกรถพยาบาลไปที่ข้อมูลจีพีเอสที่ตรวจพบ
ขณะนี้ Earclip-type Wearable PC เริ่มต้นทดสอบแล้วที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น บนเป้าหมายพร้อมทำตลาดในเดือนเมษายนปี 2559
ที่มา: manager.co.th