"ไมโครซอฟท์" เปิดเกมรุกชูโปรเจ็กต์ "iCafe" เจาะกลุ่มผู้ประกอบการร้าน "อินเทอร์เน็ตคาเฟ่" กว่าหมื่นแห่งทั่วประเทศ เสนอสินค้าลิขสิทธิ์ราคาต่ำกว่าปกติ 80% และสนับสนุนการตกแต่งร้านและแอปพลิเคชั่นเสริม ขณะที่บริษัทแม่ประเดิมจัดสรรงบฯให้ประเทศไทยเพื่อช่วยคนตกงาน 2 ล้านคน ให้การอบรมต่อยอดความรู้ เดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ตั้งเป้าปีนี้โต 35%
นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ของไมโครซอฟท์ นอกจากจะทำหน้าที่เป็น trusted advisor แก่ลูกค้าแล้ว ล่าสุด ไมโครซอฟท์มีโครงการ iCafe ในการเข้าไปสนับสนุนร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ในประเทศไทยที่มีจำนวนกว่าหมื่นแห่งทั่วประเทศ ทั้งในส่วนของการนำเสนอซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ราคาถูกกว่าปกติ 80% พร้อมการตกแต่งร้าน และคอนเทนต์ด้านการเรียนรู้ เช่น ภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ พร้อมกับการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไลเซนส์ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์
แผนดำเนินงานจะจัดโรดโชว์ โดยเบื้องต้นจะเป็นจังหวัดหลักๆ เช่น กทม. ขอนแก่น โคราช ระยอง เชียงใหม่ เป็นต้น และคาดว่ากลางปีจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น โดยร้านอินเทอร์เน็ตที่สนใจต้องเป็นร้านที่มีคอมพิวเตอร์มากกว่า 5 เครื่องขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจร่วมโครงการกว่า 4,000 ร้านค้า และตั้งเป้าจะถึงหนึ่งหมื่นร้านค้าทั่วประเทศในปีนี้ โดยไทยถือเป็นประเทศแรกในโลกที่มีโครงการร่วมกับร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ จากนั้นจะเป็นโมเดลนำร่องให้ประเทศอื่นนำๆ ไปใช้ต่อไป
"2 ปีที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ได้นำร่องร่วมกับทรูคาเฟ่ 30 แห่ง ซึ่งได้มีการรับฟีดแบ็กจากพาร์ตเนอร์มาปรับปรุงโซลูชั่นให้ เหมาะสม โมเดลนี้ไม่ใช่ธุรกิจทำเงินของไมโครซอฟท์ และไม่หวังผลทางธุรกิจ เพราะสินค้ามีราคาต่ำ แต่เน้นให้คนเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีมากกว่า" นางสาวปฐมากล่าวและว่า
นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังได้รับ งบประมาณมาจากบริษัทแม่ที่เรดมอนต์มาช่วยเหลือกลุ่มคนตกงานในประเทศไทย โดยจะมีการร่วมมือกับภาครัฐ คือ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ ในการช่วยเหลือคนตกงานที่คาดว่าจะมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มคนตกงานที่สนใจต้องการเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งเด็กจบใหม่
"ไทยเป็นประเทศแรกที่ได้งบประมาณสนับสนุนในเรื่องคนตกงาน โดยจะเป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี แบบ end to end ทั้งการเทรนนิ่ง และการเข้าไปอยู่ในชุมชนเพื่อสร้างงาน สร้างโอกาส และติดตามวัดผล ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวโครงการในเร็วๆ นี้"
รวมถึงโครงการอื่นๆ เช่น โครงการนำแอปพลิเคชั่นเฮลท์แคร์มารองรับการใช้งานกับโรงพยาบาลรัฐ ปัจจุบันมี 3 แห่ง ที่อยู่ในช่วงนำร่องเพื่อเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สำหรับความคืบหน้าการย้ายฐานศูนย์ทดสอบซอฟต์แวร์จากสหรัฐมายังประเทศไทยนั้น ปัจจุบันอยู่ในช่วงการหาบุคลากรระดับหัวหน้าประมาณ 10 ราย หลังจากที่บริษัทได้ย้ายฐานการโลคอลไลซ์ซอฟต์แวร์มาไทยมาเรียบร้อยแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา
นางสาวปฐมากล่าวเพิ่มเติมถึงตลาดรวมซอฟต์แวร์ปีนี้ว่าจะมีโอกาสเติบโตประมาณ 9-10% ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่เติบโต 11% โดยเฉพาะซอฟต์แวร์เดี่ยวน่าจะชะลอตัว เช่น กลุ่มซอฟต์แวร์สำหรับใช้งานทั่วไป ไม่ได้เจาะลงไปในแต่ละอุตสาหกรรม แต่ถ้าเป็นซอฟต์แวร์ที่เจาะจง เช่น ซีอาร์เอ็ม อีอาร์พี มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้น
จากปัจจัยเศรษฐกิจปัจจุบัน อาจมีผู้ประกอบการบางส่วนที่ต้องปิดตัวไป แต่การนำไอทีมาใช้จะช่วยลดค่าใช้จ่าย จึงเป็นโอกาสที่ตลาดซอฟต์แวร์จะกลับขึ้นมาโตอีกครั้ง โดยการ์ดเนอร์คาดการณ์ว่าปี 2009 ซอฟต์แวร์จะเข้ามาช่วยลดต้นทุน และองค์กรจะหันกลับมาใช้ข้อมูลที่มีอยู่ดีขึ้น ซึ่งไมโครซอฟท์มีสินค้าและโซลูชั่นช่วยตอบโจทย์อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามในส่วนของไมโครซอฟท์ก็มีการปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจ เช่น การปรับทีมงานโดยเฉพาะฝ่ายเซอร์วิสเพื่อดูแลพาร์ตเนอร์ลูกค้ามากขึ้น เพื่อช่วยให้พาร์ตเนอร์สามารถทำธุรกิจต่อยอดด้านการบริการ หรือการบำรุงรักษาระบบได้ ขณะที่ทีมงานที่ดูแลสินค้าได้มีการเตรียมนำสินค้าใหม่ เช่น วินโดวส์ 7 มาพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดเมืองไทยมากขึ้น และทีมการตลาดที่จะต้องมองการทำตลาดแบบทุกผลิตภัณฑ์ รวมถึงการดูแลลูกค้าองค์กรที่ต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
สำหรับภาพรวมครึ่งปีงบประมาณที่ผ่านมา (เริ่ม ก.ค.2551) ไมโครซอฟท์และพาร์ตเนอร์มีอัตราการเติบโต 26% และปีนี้ตั้งเป้าการเติบโต 35% จะเน้นโซลูชั่นด้านยูนิฟายด์ คอมมูนิเคชั่น และ knowledge management เพราะช่วยองค์กรลดต้นทุนและเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงคือ ตลาดเอสเอ็มอีโต 52% กลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ 28% การศึกษา 26%
ที่มา : matichon.co.th