สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) คือซีอีโอคนที่ 3 ของไมโครซอฟท์ในรอบ 39 ปี บอกว่าคนรอบข้างมักตัดสินให้เขาเป็นคนที่กระหายกับการเรียนรู้ตลอดเวลา นอกจากนิสียนี้ ยังมีเรื่องราวน่าสนใจอื่นอีกมากที่ซ่อนอยู่ในชีวิตของชายผู้จะกุมบังเหียนเจ้าพ่อไมโครซอฟท์คนนี้ ซึ่งอาจเป็นแรงบัลดาลใจให้ทุกคนต่อไป 1. สัตยา นาเดลลา มีชื่อเต็มว่า Satyanarayana Nadella เกิดปี 1967 ได้รับการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียน Hyderabad Public School (Begumpet) ประเทศอินเดีย โดยโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนดั้งเดิมของเปรม วัตสา (Prem Watsa) ประธานและซีอีโอกลุ่ม Fairfax Financial Holdings ซึ่งเคยลงชื่อเซ็นสัญญาซื้อแบล็กเบอรี่ก่อนหน้านี้
2. สัตยาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัย Mangalore University ในอินเดีย โดยมหาวิทยาลัยดังกล่าวยังไม่มีการเปิดสอนสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่สัตยาสนใจ ทำให้สัตยาหันมาศึกษาปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เต็มตัวที่มหาวิทยาลัย University of Wisconsin
นอกจากการเพิ่มความรู้ด้านเทคโนโลยี สัตยายังพัฒนาตัวเองอีกขั้นด้วยการศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจ โดยได้รับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย University of Chicago อีกใบ
3. บิดาของสัตยามีนามว่า บี.เอ็น. ยูกันธาร์ (B. N. Yugandhar) นั้นเป็นหนึ่งในทีมเจ้าหน้าที่ Indian Administrative Service officer (IAS) ของรัฐบาลอินเดียซึ่งมีส่วนในคณะกรรมการวางนโยบายช่วงปี 2004-2009 ให้นายกรัฐมนตรีอินเดียในขณะนั้น (โมฮัมหมัด สิงห์) นอกจากนี้ บิดาของสัตยายังมีหน้าที่เป็นหนึ่งในทีมเลขาของนายกรัฐมนตรีอินเดียเพื่อการพัฒนาพื้นที่ห่างไกล และยังเป็นประธานคณะทำงาน Lal Bahadur Shastri National Academy of Administration เพื่อส่งเสริมการศึกษาในแดนภารตะ
4. สัตยาแต่งงานมาแล้วมากกว่า 22 ปี ขณะนี้มีบุตร 3 คน เป็นบุตรสาว 2 คนและบุตรชาย 1 คน ขณะนี้ทั้งครอบครัวพำนักในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยภรรยาของสัตยาซึ่งมีนามว่า “อนุภามา (Anupama)” นั้นเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน Hyderabad Public School ในไฮเดอร์ราบัดเช่นกัน ก่อนจะเข้ารับการศึกษาด้านวิศวกรรมที่มหาวิทยาลัย Manipal ในอินเดีย
5. สัตยาชื่นชอบกีฬาคริกเก็ตมาก และฝึกฝนจนได้รับเลือกให้เป็นทีมประจำโรงเรียน นอกจากการชมการแข่งขันคริกเก็ต ข้อมูลระบุว่าสัตยาชอบอ่านโคลงกลอนเพื่อผ่อนคลาย โดยชื่นชอบทั้งงานเขียนสัญชติอเมริกันและอินเดีย
เหตุผลที่ซีอีโอคนใหม่ของไมโครซอฟท์ชอบอ่านโคลงกลอนนั้นไม่ธรรมดา เพราะสัตยาให้เหตุผลว่ากลอนเหล่านี้ไม่ต่างจากรหัส (code) โดยแทนที่จะต้องใช้ถ้อยคำหรือประโยคมากมายบรรยายความรู้สึกทั้งหมด แต่โคลงกลอนสามารถใช้คำเพียงไม่กี่บรรทัดเพื่อสื่อสารให้ผู้อ่านได้รับความรู้สึกแบบครบถ้วน ความประทับใจนี้ทำให้สัตยาคิดว่า “กลอนคือรหัสที่ดีที่สุด” หรือ best code is poetry
6. ก่อนเริ่มงานกับไมโครซอฟท์ สัตยามีประสบการณ์การทำงานที่บริษัทใหญ่อย่างซัน ไมโครซิสเต็มส์ (Sun Microsystems) ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือออราเคิล (Oracle)
7. สัตยาร่วมงานกับไมโครซอฟท์ในปี 1992 โดยเงินเดือนของสัตยาในปี 2013 มีมูลค่าราว 7.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 250 ล้านบาท
8. Nadella เคยปลุกปั้นทั้งหน่วยธุรกิจที่ทำกำไรให้ไมโครซอฟท์มากที่สุด อย่างธุรกิจเซิร์ฟเวอร์และเครื่องมือ (server and tools business) และหน่วยธุรกิจที่ทำกำไรให้ไมโครซอฟท์ได้น้อยที่สุดอย่าง “บิง (Bing)” ปัจจุบัน สัตยาดูแลงานส่วนที่ยังถกเถียงกันว่านี่คืออนาคตของไมโครซอฟท์จริงหรือไม่อย่างบริการคลาวด์ “อะซัวร์ (Azure)” รวมถึงธุรกิจซอฟต์แวร์ในภาพรวม
9. รายงานระบุว่าสัตยาได้ขอให้ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์อย่างบิล เกตส์ (Bill Gates) กลับมาทำงานที่ไมโครซอฟท์ และเกตส์ได้ตกลงตอบรับในเบื้องต้น โดยจะกลับมาดูแลงานส่วนวางนโยบายเทคโนโลยี ภาพรวมของโครงการ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้
10. สัตยาแสดงความเชื่อมั่นในไมโครซอฟท์ไว้บนอีเมลถึงพนักงาน ว่าเขามีความคิดเหมือนพนักงานทุกคนที่ร่วมงานกับไมโครซอฟท์ซึ่งต้องการเปลี่ยนโลกด้วยเทคโนโลยีที่ให้อำนาจผู้ใช้ทุกคนสามารถทำสิ่งที่มหัศจรรย์ได้มากมาย ซึ่งแม้หลายบริษัทจะมีความมุ่งมั่นเปลี่ยนโลกเหมือนกัน แต่มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่มีปัจจัยพร้อม ทั้งบุคลากรที่มีความสามารถ ทรัพยากรที่จำเป็น และความมุ่งมั่นตั้งใจ ซึ่งไมโครซอฟท์ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นบริษัทที่มีครบทั้ง 3 สิ่งนี้
นี่อาจเป็นภารกิจแรกของสัตยาในฐานะซีอีโอไมโครซอฟท์ ที่ต้องเรียกความเชื่อมั่นจากโลกให้ได้เสียก่อน
ที่มา: manager.co.th