การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานแบบเก่าไปสู่ดาตาเซ็นเตอร์ที่ใช้ระบบคลาวด์ส่วนตัว และนำเสนอระบบไอทีให้แก่ลูกค้าภายในและภายนอกองค์กรในรูปแบบของบริการคลาวด์ คอมพิวติง
โดย...พรหมเมศร์ ศิริสุขวัฒนานนท์
กระแสสังคมเครือข่ายออนไลน์ หรือโซเชียล เน็ตเวิร์ก แพร่กระจายครอบคลุมพื้นที่ไปทั่วทุกมุมโลก เมื่อผนวกกับกระแสไอพอด ไอโฟน และไอแพด ฟีเวอร์ ยิ่งส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกเร่งกระแสการบริโภคข้อมูลดิจิตอลเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลภายในองค์กรเองหรือข้อมูลของบุคคลทั่วไป ทำให้ความจุที่ใช้กันอยู่พุ่งทะยานขึ้นไปสู่ระดับเทราไบต์ เพตาไบต์ และเซตตาไบต์ ซึ่ง 1 เซตตาไบต์ เท่ากับ 1 ล้านล้านกิกะไบต์
นฐกร พจนสัจ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีเอ็มซี อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ไอดีซีเปิดผลการศึกษาภายใต้ชื่อ “ทศวรรษแห่งจักรวาลข้อมูลดิจิตอล-คุณพร้อมแล้วหรือยัง?” ศึกษาอัตราการเพิ่มขึ้นของข้อมูล มีจุดมุ่งหมายเพื่อติดตาม ตรวจวัด และคาดการณ์เกี่ยวกับข้อมูลดิจิตอลที่มีจำนวนมหาศาล ซึ่งถูกสร้างและคัดลอกในแต่ละปี รวมถึงผลกระทบต่อผู้ใช้และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทั่วโลก
ปี 2552 ที่ผ่านมาทั่วโลกเผชิญกับ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่” แต่ปริมาณข้อมูลดิจิตอลกลับเพิ่มขึ้น 62% มากกว่าช่วงปี 2551 จนมีปริมาณ 8 แสนล้านกิกะไบต์ (0.8 เซตตาไบต์) ขณะที่ปริมาณข้อมูลดิจิตอลที่จะถูกสร้างขึ้นในปี 2553 คาดมีราว 1.3 ล้านเพตาไบต์ หรือราว 1.2 เซตตาไบต์ โดยข้อมูลดิจิตอลทั้งหมดเหล่านี้ เทียบได้กับการ “ทวีต” อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 100 ปี โดยประชากรทุกคนบนโลกใบนี้ หรือการดาวน์โหลดข้อมูลบน “แอปเปิล ไอแพด” บนความจุขนาด 16 กิกะไบต์จำนวน 7.5 หมื่นล้านเครื่อง ตัวอย่างข้างต้นเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงปริมาณข้อมูลดิจิตอลกับการใช้พื้นที่จริงของจำนวนไฟล์ รูปภาพ การบันทึกข้อมูล รวมเนื้อหาข้อมูลดิจิตอลอื่นๆ
ข้อมูลทั้งหมดนี้ จำเป็นที่จะต้องได้รับการจัดการ คุ้มครองและปกป้อง แม้ว่าข้อมูลจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่จำนวนบุคลากรด้านไอทีทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.4 เท่า ผลกระทบที่ตามมาก็คือ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติงาน (ซีไอโอ) จำเป็นที่จะต้องเพิ่มความคล่องตัว ประสิทธิภาพและการควบคุม ด้วยการปรับเปลี่ยนไปคลาวด์ คอมพิวติง แบบส่วนตัว ข้อมูลดิจิตอลจะถูกจัดเก็บและส่งผ่านระบบคลาวด์ ปริมาณข้อมูลดิจิตอลที่สร้างขึ้นในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้นจากสื่อ เช่น เสียง โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ ได้ปรับเปลี่ยนจากอะนาล็อกไปสู่ดิจิตอล
ปัจจุบันมีการสร้างข้อมูลดิจิตอลมากกว่าพื้นที่จัดเก็บที่มีอยู่ 35% ตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็นกว่า 60% ในช่วงหลายปีข้างหน้า และกว่า 70% ของข้อมูลดิจิตอลสร้างขึ้นโดยผู้ใช้ทั่วไป ส่วนองค์กรต่างๆ ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดเก็บ การปกป้อง และการจัดการข้อมูลดิจิตอล 80% หน้าที่ความรับผิดชอบดังกล่าวขององค์กรจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีสังคมออนไลน์และเว็บ 2.0 ได้รับการใช้งานภายในองค์กรเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานแบบเก่าไปสู่ดาตาเซ็นเตอร์ที่ใช้ระบบคลาวด์ส่วนตัว และนำเสนอระบบไอทีให้แก่ลูกค้าภายในและภายนอกองค์กรในรูปแบบของบริการ ระบบคลาวด์ คอมพิวติง ส่วนตัว ซึ่งเป็นพัฒนาการขั้นถัดไปของไอที จะช่วยให้องค์กรและผู้ใช้ทั่วไปสามารถจัดการและคุ้มครองข้อมูลจำนวนมหาศาลได้โดยอัตโนมัติ นอกจากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 3จี ได้ส่งผลให้การเข้าถึงข้อมูลมัลติมีเดียมากขึ้น จำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการคอนเทนต์เข้ามาดูแล และจากการเติบโตของคอนเทนต์ก็ทำให้ความต้องการระบบจัดเก็บและสำรองข้อมูล (สตอเรจ) เพิ่มขึ้นตามด้วยเช่นกัน
ใครจะรู้ว่า อนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะเก็บรูปภาพหรือคลิปวิดีโอของครอบครัว เพลงสุดโปรด ภาพยนตร์สุดมัน และอะไรต่อมิอะไรในรูปแบบดิจิตอลไฟล์ บนคลาวด์ คอมพิวติง ส่วนตัว แค่คลิกเบาๆ ทุกอย่างก็พร้อมใช้ทันที
ที่มา: posttoday.com