กสทช.ประกาศเลขช่องทีวีดิจิตอลอย่างเป็นทางการลำดับที่ 13-36 พร้อมย้ำผู้ชนะประมูลทั้ง 24 ช่องต้องดำเนินการด้านเอกสารภายในเดือน ก.พ.นี้ก่อนแจกใบอนุญาตต้นเดือน มี.ค. ส่วนคูปองสนับสนุนคาดแจกได้หลังออกอากาศจริงแล้ว พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ทางสำนักงาน กสทช.ได้จัดให้มีการประกาศหมายเลขลำดับการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติจำนวน 24 ช่อง ที่ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ บางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ภายหลังจากเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา กสทช.จัดประชุมผู้ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง เพื่อเลือกหมายเลขลำดับช่อง โดยเริ่มตั้งแต่เลขหมาย 13-36 ตามลำดับ ส่วนลำดับที่ 1-12 จะเป็นทีวีดิจิตอลประเภทสาธารณะ และลำดับที่ 37-48 เป็นประเภทชุมชนตามลำดับ
ทั้งนี้ ภายในเดือน ก.พ. 2557 ผู้ชนะการประมูลทั้ง 24 รายจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขก่อนรับใบอนุญาตให้ครบถ้วนตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ประกอบด้วย ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่หนึ่งภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งกำหนดให้ชำระเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 จำนวน 50% ของส่วนราคาขั้นต่ำ พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระเงินส่วนของราคาขั้นต่ำในส่วนที่เหลือตามแบบที่กำหนด และส่วนที่ 2 จำนวน 10% ของส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ รวมถึงหนังสือค้ำประกันการชำระเงินส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำในส่วนที่เหลือตามแบบที่กำหนด และเอกสารต่างๆที่ใช้ประกอบในการพิจารณามอบใบอนุญาตด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้ชนะการประมูลจะต้องขอใช้บริการโครงข่ายโทรทัศน์จากผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ซึ่งมี 4 บริษัท ประกอบด้วย กองทัพบก, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ภายใน 30 วันเช่นเดียวกัน
“คาดว่าภายในต้นเดือน มี.ค.นี้ กสทช.จะสามารถมอบใบอนุญาตทีวีดิจิตอลแก่ผู้ชนะการประมูลทั้ง 24 รายได้ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว กสทช.จะมีการหารือกับผู้ชนะการประมูลว่าจะมีการทดลองออกอากาศเมื่อใด ก่อนจะสามารถออกอากาศได้จริงวันที่ 1 เม.ย.นี้”
นอกจากนี้ เมื่อได้รับใบอนุญาต ผู้ประกอบการจะต้องประกอบกิจการตามประกาศ กสทช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป, ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการ, ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ และประกาศอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
พ.อ.นทีกล่าวว่า ส่วนกรณีการสนับสนุนช่วยเหลือการเปลี่ยนผ่านทีวีจากระบบแอนะล็อกเป็นดิจิตอลด้วยการแจกคูปองแก่ประชาชน 22ล้านครัวเรือนนั้น ความคืบหน้าล่าสุดคาดว่าจะสามารถดำเนินการแจกได้ภายหลังมีการออกอากาศจริงบนระบบทีวีดิจิตอลแล้ว เนื่องจากในช่วงทดลองออกอากาศลำดับหมายเลขช่องต่างๆ จะยังไม่ตรงกับช่องที่ผู้ชนะการประมูลได้รับเลือกไปแต่อย่างใด ซึ่งราคาประเมินในการสนับสนุนเบื้องต้นที่เคยประกาศไว้อยู่ที่ 690 บาทต่อครัวเรือน
ขณะที่การเลือกหมายเลขลำดับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลตามลำดับที่ชนะการประมูลทั้ง 4 หมวดหมู่ ซึ่งมีผู้ชนะการประมูลทั้ง 20 บริษัท 24 ใบอนุญาต โดยผู้ที่ชนะการประมูลที่เสนอราคาสูงสุดในแต่ละหมวดหมู่เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกหมายเลขลำดับช่องก่อน ยกเว้นในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) ที่มีผู้ชนะการประมูลด้วยราคาเท่ากันที่ต้องมีการจับสลากเลือกลำดับก่อนหลัง โดยผลการจับสลากปรากฏว่าบริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ได้ลำดับที่ 6 และบริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด ได้ลำดับที่ 7
สำหรับการเลือกหมายเลขลำดับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประกอบด้วย หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว หมายเลขช่อง 13-15 ซึ่ง บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง3) ได้หมายเลขช่อง 13, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หมายเลขช่อง 14, บริษัท ไทยทีวี จำกัด (เครือทีวีพูล) ได้หมายเลขช่อง 15
หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ เริ่มจากหมายเลขช่อง 16-22 บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด ได้หมายเลขช่อง 16, บริษัท ไทยทีวี จำกัด (ทีวีพูล) หมายเลขช่อง 17, บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด (เครือบริษัท เดลินิวส์ทีวี) หมายเลขช่อง 18, บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด หมายเลขช่อง 19, บริษัท 3เอ. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด หมายเลขช่อง 20, บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด หมายเลขช่อง 21, บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด (เครือเนชั่น) หมายเลขช่อง 22
ขณะที่หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ SD หมายเลขช่อง 23-29 ผลการเลือกลำดับคือ บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (ในเครือเวิร์คพอยท์) ได้หมายเลขช่อง 23, บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด หมายเลขช่อง 24, บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด หมายเลขช่อง 25, บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด (เครือเนชั่น) หมายเลขช่อง 26, บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด หมายเลขช่อง 27, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (เครือช่อง 3) หมายเลขช่อง 28 และบริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด หมายเลขช่อง 29
ส่วนในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง HD หมายเลขช่อง 30-36 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้หมายเลขช่อง 30, บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด หมายเลขช่อง 31, บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (เครือไทยรัฐ) หมายเลขช่อง 32, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด(เครือช่อง 3) หมายเลขช่อง 33, บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด หมายเลขช่อง 34, บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (เครือช่อง7)หมายเลขช่อง 35 และบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ของ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ได้หมายเลขช่อง 36
สำหรับบรรยากาศภายในงานมอบลำดับช่องทีวีดิจิตอลเป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากมีคณะผู้บริหารระดับสูงทุกรายที่ชนะการประมูลเข้าร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง รวมถึง กสทช.ยังได้ให้แต่ละช่องโทรทัศน์สามารถเชิญคนดัง ศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง ในสังกัดมาร่วมเชิญหมายเลขช่องภายในงานด้วย
Company Relate Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th