Author Topic: ปิดฉากประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่อง มูลค่ารวมสูง 50,862 ล้านบาท  (Read 650 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai






ประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่องปิดฉาก มูลค่ารวม 50,862 ล้านบาท เสนอราคา 4 ประเภททะลุเพดานทุกหมวด “ช่อง3” กวาดเยอะสุด 3ใบ HD-SD-เด็ก “เนชั่น/จีเอ็มเอ็ม/อสมท/ทรู/ทีวีพูล” คว้ารายละ 2 ใบ “นที” ระบุผู้แพ้สามารถขอเช่าช่วงเวลาผู้ชนะได้ตามประกาศ กสทช.พร้อมเตรียมประกาศผู้ชนะการประมูลอย่างเป็นทางการภายใน 15 วันจากนี้
       
       พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าววภายหลังจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ สำหรับการประมูลทีวีดิจิตอลช่องธุรกิจ 24 ช่อง ระหว่างวันที่ 26 - 27 ธ.ค.2556 โดยสรุปตลอดระยะเวลา 2 วันของการประมูลมีการเสนอราคามูลค่ารวม 4 ประเภท 50,862 ล้านบาท แบ่งเป็นการเสนอราคาประเภทช่องทั่วไปความคมชัดสูง (HD) 7 ใบอนุญาต รวมมูลค่า 23,700 ล้านบาท ,ช่องทั่วไปความคมชัดปกติ (SD) 7 ใบอนุญาต รวมมูลค่า 15,950 ล้านบาท, ช่องข่าวสารสาระ 7 ใบอนุญาต รวมมูลค่า 9,238 ล้านบาท และช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว 3 ใบอนุญาต รวมมูลค่า 1,974 ล้านบาท
       
       ทั้งนี้การประมูลทีวีดิจิตอลในวันแรก (26 ธ.ค.) แบ่งออกเป็น2 ช่วงการประมูลโดยในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 11.00 - 12.00 น.เป็นการประมูลประเภทช่องทั่วไปความคมชัดสูง (HD) ซึ่งมีใบอนุญาต 7 ใบ อนุญาตแต่มีผู้เข้าร่วมประมูลเสนอราคาจำนวน 9 ราย โดยมีราคาเริ่มต้นการประมูลอยู่ที่ 1,510 ล้านบาท และเคาะครั้งละ 10 ล้านบาท
       
       ซึ่งผลสรุปการเสนอราคาผู้ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลช่อง HD อย่างไม่เป็นทางการ อันดับ1. บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 3) เสนอราคาสูงสุดที่ 3,530 ล้านบาท อันดับ2.บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (กลุ่มปราสาททองโอสถ) 3,460 ล้านบาท อันดับ3. บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด 3,370 ล้านบาท อันดับ4. บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (เครือไทยรัฐ) 3,360 ล้านบาท อันดับ5. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 3,340 ล้านบาท อันดับ6. บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด 3,320 ล้านบาท และอันดับ7. บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด 3,320 ล้านบาท ตามลำดับ
       
       โดยการประมูลประเภทHD มีผู้เสนอราคาสูงสุดที่ 3,530 ล้านบาทซึ่งถือว่าสูงกว่าราคาเริ่มต้นไป 2,020 ล้านบาทรวมมูลค่าการเสนอราคา 23,700 ล้านบาท
       
       “ผลการประมูลที่ออกมาถือว่าเกินกว่าที่ได้คาดการณ์เอาไว้ โดยเฉพาะช่อง HD ที่เดิมคาดว่าการประมูลจะอยู่ในช่วงราคา 2,500-3,000 ล้านบาท หรือมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 10% ซึ่งจากผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการภาคเอกชนได้เล็งเห็นว่าธุรกิจโทรทัศน์มีอัตราการเติบโตที่ดีสามารถทำกำไรได้ ซึ่งในส่วนของต้นทุนที่นำมาใช้ในการประมูล เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายได้วางแผนมาเป็นอย่างดีแล้ว”
       
       ส่วนในช่วงบ่ายตั้งแต่ 16.30 - 17.30 น. เป็นการประมูลประเภทช่องทั่วไปความคมชัดปกติ (SD) จำนวน 7 ใบอนุญาต โดยมีผู้เข้าร่วมประมูล 16 ราย ราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 380 ล้านบาท และเคาะเสนอราคาครั้งละ 5 ล้านบาท โดยสรุปผลการเสนอราคาผู้ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลช่อง SD อย่างไม่เป็นทางการ อันดับ 1. บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (เวิร์คพอยท์) เสนอราคาสูงสุดที่ 2,355 ล้านบาท อันดับ2. บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด 2,315 ล้านบาท อันดับ3. บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด 2,290 ล้านบาท อันดับ4. บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 3 ) 2,275 ล้านบาท อันดับ5. บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด 2,265 ล้านบาท อันดับ6. บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด (เครือจัสมิน) 2,250 ล้านบาท และ อันดับ 7. บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด (เครือเนชั่น) 2,200 ล้านบาท
       
       โดยสรุปการประมูลทีวีดิจิตอลประเภทช่องSD มีมูลค่ารวมสูงถึง 15,950 ล้านบาทจากการประมูล 7 ใบอนุญาต และมีการเสนอราคาสูงกว่าราคาเริ่มต้นการประมูลถึง 1,975 ล้านบาท ซึ่งราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 380 ล้านบาท
       
       “ผลการประมูลที่ออกมาในประเภท SD ถือว่าเกินกว่าที่ตนคาดการณ์เอาไว้เช่นเดียวกัน ที่เดิมคาดว่าการประมูลจะอยู่ในช่วงราคา 1,500-2,000 ล้านบาทเท่านั้น”
       
       ประมูลวันที่สอง “ข่าว-เด็ก”แรงไม่น้อยหน้า
       
       พ.อ.นที กล่าวว่า การประมูลทีวีดิจิตอลในวันที่สอง (27 ธ.ค.) เป็นการประมูลอีก 2 ประเภทช่องรายการแบ่งเป็นช่วงเช้าตั้งแต่11.00-12.00 น.เป็นการประมูลประเภทช่องข่าวสารและสาระ มีใบอนุญาต 7 ใบราคาเริ่มต้นที่ 220 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 2 ล้านบาท
       
       โดยผลสรุปการเสนอราคาผู้ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาระอย่างไม่เป็นทางการโดยอันดับ1. บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด(เครือเนชั่นฯ) 1,338 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเสนอราคาสูงสุด และอันดับที่ 2.บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด 1,330 อันดับที่3.บริษัท ไทยทีวี จำกัด 1,328 ล้านบาท อันดับที่4.บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด 1,318 ล้านบาท อันดับที่5. บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด(ทีเอ็นเอ็น) 1,316 ล้านบาท อันดับที่6. บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด 1,310 ล้านบาท และอันดับที่7. บริษัท 3เอ. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด 1,298 ล้านบาท
       
       จากการเสนอราคาการประมูลประเภทช่องข่าวสารและสาระทั้ง 7 ใบอนุญาต รวมมูลค่า 9,238 ล้านบาท โดยผู้เสนอราคาสูงสุดอยู่ที่ 1,338 ล้านบาทซึ่งสูงกว่าราคาเริ้มต้นการประมูลถึง 1,118 ล้านบาท ส่วนรายที่พลาดใบอนุญาตไป 3 บริษัท คือ บริษัท ไอ-สปอร์ต มีเดีย จำกัด ,บริษัท โพสต์ ทีวี จำกัด และบริษัท โมโน เจนเนอเรชั่น จำกัด
       
       ”การเสนอราคาในประเภทช่องข่าวถือว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ว่าจะมีการเสนอราคาประเภทดังกล่าวราว 1,000-1,500 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมประมูลมีการวางแผนธุรกิจในการเสนอราคาไว้แล้วซึ่งมีการตั้งราคาในใจเอาไว้ 2 ราคามีการเสนอราคาเกินราคาแรกที่ตั้งไว้ก็เสนอราคาต่อให้ถึงราคาที่2 แต่หากเลยจากนั้นก็จะหยุดการเสนอราคาทันที”
       
       ขณะที่ในช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 15.30 - 16.30 น. เป็นการประมูลประเภทช่องเด็ก ครอบครัว และเยาวชน จำนวน 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 140 ล้านบาท เคาะครั้งละ 2 ล้านบาท ซึ่งผลสรุปการเสนอราคาผู้ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างไม่เป็นทางการอันดับ1. บริษััท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด เสนอ 666 ล้านบาท อันดับ 2. บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 660 ล้านบาท อันดับ3. บริษัท ไทยทีวี จำกัด (เครือทีวีพูล)เสนอราคา 648 ล้านบาท รวม 3 ใบอนุญาตมูลค่ารวม 1,974 ล้านบาท
       
       ซึ่งบริษัทที่พลาดใบอนุญาตไปมีจำนวน 3 รายประกอบด้วย บริษัท โรสมีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ,บริษัท เนชั่น คิดส์ จำกัด และบริษัท ทรู ดีทีที จำกัด
       
       “ผู้ที่พลาดโอกาสชนะการประมูลทีวีดิจิตอลในครั้งนี้ ก็ยังมีโอกาสที่จะเข้ามาเช่าช่วงเวลาเพื่อออกอากาศกับผู้ชนะการประมูลที่ได้รับใบอนุญาตเพื่อผลิตคอนเทนต์ ตามที่ประกาศกสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ ที่ระบุเอาไว้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจากการประมูลทีวีดิจิตอลต้องปล่อยให้มีการเช่าช่วงเวลา 10%-40% ของช่วงเวลาออกอากาศด้วย”
       
       พ.อ.นที กล่าวอีกว่า เงินทั้งหมดที่ได้จากการเสนอราคาประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่องในครั้งนี้เงินจำนวนดังกล่าวจะต้องนำเข้า กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะต่อไป พร้อมย้ำว่าจุดประสงค์หลักของการประมูลทีวีดิจิตอลในครั้งนี้ไม่ใช่ต้องการมูลค่าการประมูลที่สูง แต่ต้องการผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในเชิงผลิตคอนเทนต์เพื่อประโยชน์สาธารณะมากกว่า
       
       อย่างไรก็ตามหลังจากสิ้นสุดการประมูลทีวีดิจิตอลในวันนี้ จะมีการประกาศรับรองรายชื่อผู้ชนะการประมูลภายใน 15 วันนับแต่สิ้นสุดเวลาการประมูล โดยหลังได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะการประมูล ผู้ชนะการประมูลจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขก่อนรับใบอนุญาต ให้ครบถ้วนภายใน 45 วันจึงจะได้รับใบอนุญาต ซึ่งเงื่อนไขก่อนรับใบอนุญาตประกอบด้วย การชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 1 จำนวน 50% ของราคาขั้นต่ำ พร้อมวางหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินสำหรับค่าธรรมเนียมงวดที่ 2 จำนวน 30%(ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล)
       
       ส่วนปีที่ 3 ต้องชำระจำนวน 10% และปีที่ 4 จำนวน 10% และในส่วนที่ 2 ที่ต้องดำเนินการคือการชำระ 10% ของราคาที่เกินมาจากราคาขั้นต้น พร้อมทั้งดำเนินการขอใช้โครงข่ายโทรทัศน์กับผู้ให้บริการโครงข่ายฯภายใน 30 วัน และดำเนินการตามประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีกรอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภายใน 45 วันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล
       
       จากนั้น เมื่อผู้ชนะการประมูลปฏิบัติตามเงื่อนไขการประมูลครบถ้วนแล้ว คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติให้ โดยใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลมีอายุ 15 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาต
       
       ทั้งนี้ในเบื้องต้นบอร์ดกสท.จะมีการประชุมบอร์ดนัดแรกภายหลังการประมูลในวันที่ 6 ม.ค.2557 โดยคาดว่าจะมีวาระการประชุมเรื่องการพิจารณารับรองผลการประมูลทีวีดิจิตอลด้วย และจะเสนอผลต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช. เพื่อรับทราบในวันที่ 15 ม.ค. 2557 จากนั้นจะดำเนินการออกใบอนุญาตให้แล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2557 และคาดว่าจะออกอากาศได้ภายในเดือน ก.พ. 2557 ต่อไป
       
       อนึ่งผลสรุปการประมูลทีวีดิจิตอลทั้ง 2 วันบริษัทผู้เข้าร่วมประมูลที่ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลมากกว่า 1 ใบอนุญาต ประกอบด้วย บริษัท บีอีซี-มัตติมีเดีย จำกัด หรือ ช่อง3 คว้ามา 3 ใบอนุญาต โดยสามารถเสนอราคาชนะการประมูลเป็นอันดับ 1 ได้ถึง 2 ประเภทช่องรายการคือประเภทช่องHD และช่องเด็ก ส่วนช่องSDก็สามารถชนะการประมูลในอันดับ 4 ส่วนบริษัท เครือเนชั่น สามารถชนะการประมูล 2 ใบอนุญาตคือช่อง SD และข่าว ,บริษัท เครือจีเอ็มเอ็ม ได้ 2 ใบอนุญาตคือช่องHD และSD ,บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) คว้ามาได้ 2 ใบอนุญาตเช่นเดียวกันคือประเภทช่องHD และเด็ก และบริษัท เครือทรู สามารถชนะการประมูลคว้ามาได้ 2 ใบอนุญาต คือช่องSD และข่าว รวมถึงบริษัท ไทยทีวี จำกัด (ทีวีพูล) เป็นผู้ชนะ 2 ประเภทใบอนุญาตเช่นกันคือประเภทช่องข่าว และช่องเด็ก

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)