ภารกิจหลักในช่วงปีนี้ของ OPPO ที่จะเน้นการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับอินเตอร์แบรนด์ ส่งผลให้ต้องมีการทุ่มงบในการทำตลาดในช่วงปีนี้กว่า 150 ล้านบาท พร้อมปูทางให้กับเครื่องไฮเอนด์อย่าง OPPO N1 ที่คาดว่าจะตอบสนองพฤติกรรมการใช้งานสมาร์ทโฟนของคนไทยในยุค “Selfie” (ถ่ายภาพตัวเอง) นายชานนท์ จิรายุกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท โอพีพีโอ ไทย จํากัด เคยให้ข้อมูลว่า OPPO วางงบการตลาดในปีนี้ไว้ทั้งหมด 150 ล้านบาท เพื่อที่จะเน้นสร้างการรับรู้แบรนด์ให้แก่ผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์ของ OPPO ไม่ใช่สมาร์ทโฟนเฮาส์แบรนด์ หรือแบรนด์จีน แต่อยู่ในระดับอินเตอร์แบรนด์เช่นเดียวกับ แอลจี ซัมซุง โซนี่ หรือแม้แต่แอปเปิล
เพราะก่อนหน้าที่ OPPO จะเข้ามารุกในตลาดสมาร์ทโฟน ชื่อชั้นของ OPPO ถือว่าเป็นที่รู้จักในสหรัฐอเมริกาในวงกว้าง ในแง่ของแบรนด์ผู้ผลิตลำโพง เครื่องเสียงชั้นนำ และเครื่องเล่นบลูเรย์ประสิทธิภาพสูง ทำให้ OPPO มีนวัตกรรมทั้งในแง่ของเสียง และการแสดงผล ที่นำมาต่อยอดเพื่อทำตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน
เครื่องเล่นบลูเลย์ภายใต้แบรนด์ OPPO นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับเปลี่ยนในมุมของผู้ขาย ที่มีการกำหนดราคากลางขึ้นมาเพื่อให้คู่ค้าที่เป็นพันธมิตรกับทาง OPPO สามารถจำหน่ายสินค้าโดยไม่ถูกคู่แข่งตัดราคา และช่วยให้มีรายได้ที่แน่นอนขึ้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวช่วยให้ OPPO มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง 30% ในทุกๆ ไตรมาส แน่นอนว่าทาง OPPO ค่อนข้างคาดหวังกับแฟลกชิปรุ่นส่งท้ายปีนี้อย่าง OPPO N1 ที่เพิ่งเริ่มวางจำหน่ายไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 เป็นอย่างมาก ตั้งแต่การตั้งราคาเครื่องอยู่ในระดับ 19,990 บาท จากที่ก่อนหน้านี้ OPPO ทำตลาดสมาร์ทโฟนอยู่ในช่วงราคา 3,990-16,900 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นระดับราคาที่เทียบชั้นกับรุ่นไฮเอนด์ของอินเตอร์แบรนด์ทั้ง แอลจี G2 ซัมซุง Galaxy S4 และ HTC One ที่มีการปรับราคาลงมาอยู่ใกล้เคียงกัน
คำถามที่ตามมาก็คือมีอะไรที่ทำให้ OPPO มั่นใจได้ว่า N1 จะสามารถเข้ามาแย่งชิงเค้กในตลาดที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงได้ หรือเป็นการตั้งราคาเพื่อยกระดับให้แบรนด์อย่าง OPPO ขึ้นมาเทียบเท่ากับอินเตอร์แบรนด์รายอื่นๆ เพื่อเตรียมปูทางให้กับเครื่องรุ่นอื่นในราคาระดับกลางที่จะทยอยออกมาทำตลาดในช่วงปีหน้า
จุดเด่นที่สุดของ N1 คงหนีไม่พ้นตัวกล้อง 13 ล้านพิกเซล ที่มาพร้อมกับไฟแฟลชคู่ที่จะช่วยปรับแสงให้นุ่มนวล เช่นเดียวกับใน iPhone 5S แต่สิ่งที่ N1 พิเศษกว่าก็คือ ตัวเลนส์กล้องสามารถหมุนได้ 206 องศา ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้กล้องหลักตัวเดียวทั้งในการถ่ายภาพทั่วไป หรือจะหมุนมาถ่ายภาพตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องง้อกล้องหน้าความละเอียดต่ำๆ เหมือนในสมาร์ทโฟนรุ่นอื่น
OPPO N1 การที่ตัวกล้องสามารถหมุนได้ 206 องศา ไม่ใช่แค่อำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพตนเอง แต่ยังช่วยให้สามารถถ่ายภาพในมุมมองใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย อย่างเช่นต้องการถ่ายภาพจากมุมสูง หรือมุมต่ำ ก็สามารถทำได้ด้วยการหมุนองศาของกล้องให้เหมาะกับการใช้งาน สิ่งที่ OPPO ยังคิดเพิ่มมาอีกสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายรูปคือ O Click ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนปุ่มชัตเตอร์กล้องแบบไร้สาย โดยตัว O Click จะทำการเชื่อมต่อกับ N1 ผ่านระบบบลูทูธ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถสั่งกดชัตเตอร์ถ่ายภาพจาก O Click แทนการเอื้อมมือไปสัมผัสที่หน้าจอ รวมถึงในกรณีที่ตั้งสมาร์ทโฟนทิ้งไว้แล้ววิ่งมาถ่ายภาพหมู่ก็สามารถทำได้
ทั้งนี้ ในโหมดกล้องถ่ายภาพของ N1 ยังมีการเพิ่มโหมดถ่ายภาพตนเองมาให้ ซึ่งจะมีความพิเศษตรงทำหน้าที่เสมือนแอปแต่งหน้า ช่วยให้หน้าที่ถ่ายออกมาเนียนสวยเหมือนแต่งหน้าทันที รวมไปถึงถ้าไม่พอใจยังสามารถกดเข้าไปแต่งเพิ่มเติมได้ ทั้งการทำตาโต ปากบาง หรือแต่งหน้าให้อัตโนมัติ เรียกได้ว่าเหมาะสำหรับการนำมาใช้ถ่ายภาพตนเองให้รับกับคำว่า “Selfie” ที่เป็นศัพท์ใหม่สุดฮิตท้ายปีนี้
กล้องหมุนได้ของ OPPO N1 ถัดมาอีกจุดเด่นหนึ่งก็คือระบบสัมผัสในการสั่งงานจากบริเวณด้านหลังเครื่อง (O Touch) ที่เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่อยู่ส่วนหลังของเครื่องใต้สัญลักษณ์ OPPO โดยในบริเวณดังกล่าว ผู้ใช้สามารถใช้ในการเลื่อนซ้าย ขวา ขึ้น ลง หรือใช้งานร่วมกับโหมดกล้องในการเป็นชัตเตอร์ถ่ายภาพ ใช้เลื่อนหน้าจอเว็บเบราว์เซอร์ เพียงแต่ในแง่ของการใช้งานจริง บางทีเวลามือไปสัมผัสอาจโดนโดยไม่ตั้งใจได้ ก็จะเป็นการเลื่อนหน้าจอ อาจทำให้เกิดความรำคาญได้ แน่นอนว่าถ้าไม่ชอบใช้งานผู้ใช้ก็สามารถสั่งปิดระบบดังกล่าว หรือจะเลือกเปิดใช้งานเฉพาะแอปฯ ก็ได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ก็ยังมีฟีเจอร์ที่ถือเป็นลูกเล่นสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ใช้ อย่างการลากนิ้วเป็นเครื่องหมายบนหน้าจอขณะที่จอปิดเพื่อเรียกใช้งานแอปฯ ยกตัวอย่างเช่น การวาดนิ้วเป็นวงกลมจะเป็นการเรียกใช้งานโหมดกล้องถ่ายภาพ หรือวาดเป็นตัวอักษร V เป็นการเรียกใช้แอปฯ ไฟฉาย ซึ่งในจุดนี้ผู้ใช้สามารถสร้างสัญลักษณ์เพิ่มเพื่อเรียกใช้งานแอปฯ อื่นๆ ได้ด้วย หรือจะเป็นการนำเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของเครื่องมาใช้งานให้เป็นประโยชน์ อย่างการหมุนเครื่อง 1 รอบ ที่เป็นการเรียกใช้งานแอปฯ กล้องเช่นเดียวกัน
OPPO N1 ขณะเดียวกันก็ยังสามารถใช้นิ้วสัมผัส 2 ครั้งที่หน้าจอเพื่อเรียกให้จอติดขึ้นมาได้คล้ายๆ กับในสมาร์ทโฟนของแอลจี และโนเกีย ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเช็กการแจ้งเตือนต่างๆ ของเครื่อง และแน่นอนว่าถ้าไม่ชอบก็สามารถปิดการใช้งานได้
อย่างไรก็ตาม ฟีเจอร์ที่ให้มาเหล่านี้อาจจะไม่ใช่จุดขายโดยตรง เพราะในแง่ของการใช้งานจริงยังถือว่าสร้างความรำคาญมากกว่าความสะดวก (ในแง่ของคนที่ไม่ถนัด) ส่งผลให้สุดท้ายก็แทบจะปิดลูกเล่นเหล่านี้ไปแทบทั้งหมดอยู่ดี หรือใช้ไปเรื่อยๆ อาจจะลืมไปก็ได้ว่ามีฟังก์ชันนี้ให้ใช้ด้วย
ส่วนในมุมของสเปกเครื่องก็จะมีจุดเด่นอยู่ที่จอแสดงผลขนาด 5.9 นิ้ว ที่ใช้จอของกอริลลา กลาส 3 และยังเป็นจอแบบ IPS ที่ช่วยเพิ่มองศาในการมอง โดยความละเอียดของจอจะเป็น Full HD (1,920 x 1,080 พิกเซล) ให้ความละเอียดเม็ดสี 337 ppi
ขณะที่หน่วยประมวลผลนั้นเป็นรุ่นของ Snapdragon 600 ที่ไม่ใช่ตัวที่สูงที่สุดของ Snapdragon แต่ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานในระดับหนึ่ง แต่ก็ถือว่าอาจจะเป็นจุดที่ส่งผลให้ผู้บริโภคหลายรายมองข้าม N1 ไป เพราะว่าในระดับราคาเดียวกันอย่าง G2 กลับใช้หน่วยประมวลผลเป็น Snapdagon 800 ที่เร็วกว่า และยังรองรับการใช้งาน 4G ด้วย สุดท้ายในแง่ของตัวเครื่อง มุมมองของดีไซน์ N1 ถือว่าออกแบบมาได้ค่อนข้างโอเค แต่ด้วยขนาดหน้าจอที่ใหญ่ ส่งผลให้ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย และก็ค่อนข้างหนักสำหรับการเป็นสมาร์ทโฟน ซึ่งถ้าพกใช้งานแบบไม่มีกระเป๋าถืออาจจะลำบากได้
ความพยายามในการนำเสนอฟังก์ชันต่างๆ ของ OPPO N1 คงต้องรอดูกันต่อไปว่า N1 จะยืนราคาในระดับนี้ได้ยาวนานแค่ไหน ซึ่งถ้าทำได้ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ OPPO ให้แก่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
Company Related Link :
OPPO Thai
ที่มา: manager.co.th