Author Topic: “แอลจี” ดันมือถือขึ้นแถวหน้า  (Read 589 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


LG G2

หลังเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือได้เพียง 3 เดือน ‘อนุพันธ์ ภักดีศุภฤทธิ์’ กลับกลายเป็นกำลังสำคัญที่ทางเกาหลีเห็นว่าจะเป็นหน่วยธุรกิจหลักของแอลจีในอนาคตได้อย่างไม่ยาก จากเดิมที่กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่แอลจีตลอดมา
       
       สิ่งที่อนุพันธ์เข้ามาล้างไพ่คือระบบบริหารจัดการเดิมๆ ของแอลจี ที่จะเน้นเพียงการส่งต่อสินค้าไปให้หน้าร้านเพื่อจำหน่าย และทำตามนโยบายจากบริษัทแม่เพียงอย่างเดียว ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาจะไม่ค่อยเห็นการทำตลาดของแบรนด์แอลจีมากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับคู่แข่งจากประเทศเดียวกันอย่างซัมซุงที่ทุ่มทำการตลาดแบบไม่อั้น
       
       โดยในช่วงเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมาแอลจีได้เพิ่มบุคลากรเข้ามาช่วยบริหารจัดการในแง่การกระจายสินค้าไปยังหน้าร้านเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และในขณะเดียวกันก็เพิ่มความสัมพันธ์กับโอเปอเรเตอร์ในการนำสมาร์ทโฟนเข้าไปจำหน่ายด้วย เพราะมองไปถึงทิศทางของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่าน 2G ไปสู่ 3G ที่จะเริ่มดุเดือดขึ้นในช่วงกลางปีหน้า
       
       อนุพันธ์ ภักดีศุภฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ควรจับตามองและถือเป็นช่วงเริ่มต้นของการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดโทรศัพท์มือถือคือช่วงประมาณไตรมาส 2 ของปีหน้า เพราะจะเป็นช่วงที่โอเปอเรเตอร์เร่งโอนย้ายฐานลูกค้าจากระบบสัมปทานที่ใกล้จะหมด ให้มาอยู่บนสัญญาโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ของทรูมูฟ เอช หรือจะเป็นบนระบบใบอนุญาต 3G 2100 ของเอไอเอส
       
       “กลุ่มลูกค้าที่แอลจีมองไว้ว่าจะกลายเป็นกลุ่มตลาดที่สำคัญในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าคือกลุ่มลูกค้าที่ต้องเปลี่ยนจากฟีเจอร์โฟนมาใช้งานสมาร์ทโฟนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านเครื่องจากทุกโอเปอเรเตอร์ เพราะในเมืองเริ่มมีการขยายพื้นที่ให้บริการ 3G ไปแล้ว ก็เชื่อว่าทางโอเปอเรเตอร์น่าจะมีการเร่งผลักดันให้ลูกค้าเปลี่ยนมาใช้เครื่องที่รองรับ 3G ด้วยเช่นเดียวกัน”
       
       สิ่งที่เกิดขึ้นเลยภายในแอลจี ประเทศไทย คือการฟีดแบ็กไปยังบริษัทแม่ ที่เกาหลีว่า ตอนนี้สถานการณ์ตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเป็นอย่างไร และต้องการโปรดักต์แบบไหนมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ทางแอลจี ประเทศไทย จะทำได้แค่เพียงรับฟัง และปฏิบัติตามสิ่งที่บริษัทแม่กำหนดมาเท่านั้น
       
       โดยช่วงระดับราคาของสมาร์ทโฟนที่แอลจีมองว่าจะเข้ามาช่วยผลักดันในตลาดที่มีการเปลี่ยนเครื่องได้คือระดับราคา 2,000-3,000 บาท ที่ปัจจุบันแอลจีมีผลิตภัณฑ์ในระดับราคาดังกล่าวอยู่เพียงรุ่นเดียวคือ LG L1 ซึ่งปัจจุบันวางจำหน่ายร่วมกับทางเอไอเอสที่ให้โปรโมชันลดราคาค่าแพกเกจ 50% ส่วนดีแทค และทรูมูฟ เอช กำลังอยู่ในระหว่างการวางแผน
       
       อย่างไรก็ตาม จึงต้องมีการส่งเรื่องไปยังบริษัทแม่ให้ผลิตโทรศัพท์ที่ดึงจุดเด่นของแอลจีออกมาในระดับราคาดังกล่าวให้ได้ และเชื่อว่าจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 แน่นอน
       
       ส่วนในแง่ของการปรับช่องทางการจำหน่าย หลังจากอนุพันธ์เข้ามารับตำแหน่งก็ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนจากเดิมที่จะเน้นเฉพาะการส่งต่อสินค้าไปยังหน้าร้านเพียงอย่างเดียว มาเป็นการเข้าไปดูแลในฝั่งของช่องทางจำหน่ายแบบเต็มตัวมากขึ้น ด้วยการเพิ่มทีมงานเฉพาะเข้ามาดูแลกว่า 40 คน ใน 2 เดือนเพื่อให้เข้าถึงร้านค้ามากขึ้น
       
       “ในมุมของร้านค้าย่อมต้องการสินค้าที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันเข้ามาจำหน่ายสัก 2-3 แบรนด์อยู่แล้ว เพราะจะได้สามารถต่อรองสินค้าเพื่อนำมาจำหน่ายได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีเพียงเจ้าเดียวเท่านั้นที่ครองตลาดอยู่ อีกส่วนหนึ่งก็คือการเพิ่มหน้าร้านให้ครอบคลุมทั่วประเทศจังหวัดละ 1 ราย”
       
       พร้อมๆ กันนี้ ด้วยการที่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับโอเปอเรเตอร์ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้กลุ่มธุรกิจโทรศัพท์ของแอลจีขึ้นมาเป็นส่วนสำคัญให้แก่บริษัท เนื่องมาจากที่ผ่านมาแอลจีแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับทางโอเปอเรเตอร์ในการนำสมาร์ทโฟนเข้าไปร่วมทำโปรโมชัน ลดราคาค่าแพกเกจเลย
       
       “ผมใช้เวลาไม่เกิน 2 วันในการดีลกับโอเปเรเตอร์แต่ละราย เพราะที่ผ่านมาด้วยการที่เคยทำตู้เติมเงินบุญเติม เลยทำให้แต่ละรายรู้จักถึงแนวทางการทำธุรกิจที่ตรงไปตรงมา เมื่อเข้ามารับไม้ต่อในการบริหารแอลจี เลยช่วยให้ทางโอเปอเรเตอร์มั่นใจถึงทิศทางในการทำธุรกิจในอนาคต”
       
       แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะในแง่ของการบริหารเท่านั้นที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้แอลจีกลับมามีจุดยืนที่ชัดเจนในตลาดโทรศัพท์มือถือ เพราะด้วยการทุ่มเวลาพัฒนาสมาร์ทโฟนเรือธงอย่าง LG G2 ทำให้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สำคัญในการเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ จากการเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมการใช้งาน ด้วยการนำข้อมูลจากผู้ใช้งานมาเรียนรู้เพื่อคิดค้นและพัฒนาออกมาเป็นตัวผลิตภัณฑ์
       
       จุดเด่นสำคัญที่แตกต่างไปจากคู่แข่งรายอื่นในตลาดของ G2 คือ การย้ายปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และปรับลดเสียงมาอยู่ด้านหลัง พร้อมกับการเพิ่มฟังก์ชันพิเศษในการเปิด-ปิดหน้าจอด้วย ‘Knock On’ จากการใช้นิ้วเคาะ 2 ทีบนหน้าจอ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานเครื่องได้รวดเร็วขึ้น
       
       นอกจากนี้ยังมีการคิดค้น Guest Mode ที่เป็นการเพิ่มหน้าจอการใช้งานอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อมีการเข้าจากรหัสผ่านที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลบนเครื่องของเจ้าของได้ รวมไปถึงฟีเจอร์อื่นๆ ที่แอลจีเคยคิดค้นขึ้นมาและนำมาใช้งานกับสมาร์ทโฟนรุ่นก่อนหน้าแล้วอย่างโหมดกล้องถ่ายภาพที่สามารถถ่ายกล้องหน้าหลังพร้อมกันได้ทั้งภาพนิ่ง และวิดีโอ เป็นต้น
       
       ขณะเดียวกัน ในแง่ของการออกแบบ ด้วยการที่แอลจีเป็นผู้ผลิตจอภาพรายใหญ่ของโลกที่มีเทคโนโลยีของตนเอง จอแสดงผลใน G2 จึงถือได้ว่าเป็นจอขนาด 5.2 นิ้วที่มีขนาดตัวเครื่องเล็กที่สุด ด้วยการลดพื้นที่ที่ไม่จำเป็นบริเวณขอบเครื่องออกไป แต่ยังคงความสามารถในการแสดงผลแบบ Full HD IPS+ ซึ่งแอลจีเคลมว่าสีสมจริงที่สุดในท้องตลาด
       
       ประกอบกับการตั้งราคาจำหน่ายเครื่องสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ที่มีพื้นที่เก็บข้อมูล 32 GB ในระดับราคา 19,990 บาท ช่วยเป็นแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เพราะถ้ามองไปในท้องตลาดเครื่องระดับราคาไฮเอนด์ที่มีพื้นที่เก็บข้อมูล 32 GB จะอยู่ในช่วงราคาตั้งแต่ 20,900 บาท ไปจนถึง 27,500 บาท
       
       “ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ G2 สามารถทำสถิติยอดขายได้ดีที่สุดตั้งแต่ตั้งกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์มือถือมา และมียอดขายดีกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นก่อนหน้าอย่าง G Pro ถึง 2 เท่า ทำให้เป็นทิศทางที่ดีของแอลจีในการรุกเข้ามายังตลาดโทรศัพท์มือถือ
       
       จุดสำคัญที่เชื่อว่า G2 จะสามารถยืนระยะในการจำหน่ายต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง คือการที่ฮาร์ดแวร์ของตัวเครื่องรองรับการใช้งาน 4G ด้วย เพียงแต่ทางแอลจียังไม่ได้ปรับแต่งซอฟต์แวร์ให้รองรับการใช้งานออกมา เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการส่งเครื่องเข้าไปทดสอบกับทางโอเปอรเตอร์ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
       
       ในส่วนของตลาดแท็บเล็ต แม้ว่าแอลจีจะมีแผนนำ G Pad 8.3 เข้ามาทำตลาดภายในช่วงปลายปีนี้ แต่เนื่องจากมองว่ายังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกมาหยั่งเชิงตลาดเท่านั้น จึงทำให้อาจไม่มีการทำตลาดอย่างรุนแรง เพราะเชื่อว่าในอนาคตจะมีรุ่นที่นำความคิดเห็นของผู้บริโภคไปพัฒนาและออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับ G2 ต่อไปในช่วงปีหน้า
       
       ขณะที่ในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้แอลจีจะมีผลิตภัณฑ์เข้ามาทำตลาดอีก 2-3 รุ่น ในระดับราคาช่วงหมื่นกลางๆ ซึ่งคาดว่าหนึ่งในนั้นคือ LG Nexus 5 ที่แอลจีร่วมผลิตกับกูเกิลเพื่อใช้เป็นเครื่องต้นแบบสำหรับแอนดรอยด์ 4.4 (Kitkat) โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีโอเปอเรเตอร์รายหนึ่งนำมาวางจำหน่ายในราคา 16,900 บาท ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนอีกรุ่นคาดว่าจะเป็น G Pro Lite ที่มาพร้อมกับจอขนาด 5.5 นิ้ว กล้องถ่ายภาพ 8 ล้านพิกเซล แบตเตอรี 3,140 mAh
       
       ส่วนในอนาคตก็คาดว่าจะมีการออกรุ่นย่อยของ G2 ออกมาเพื่อทำตลาด เช่นเดียวกับที่แบรนด์อย่าง ซัมซุง มีการออก Galaxy S4 mini หรือแม้แต่โซนี่ ที่มีเรือธงอย่าง Xperia Z1 ก็เตรียมที่จะวางจำหน่าย Z1 mini ด้วยเช่นเดียวกัน บนจุดหมายหลักที่วางไว้คือการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในทุกๆ กลุ่มเป้าหมาย
       
       อีกส่วนหนึ่งที่แอลจีวางแผนไว้คือในแง่ของบริการหลังการขาย ที่ปัจจุบันจะใช้วิธีการให้บริการแบบจุดรับส่งของเพื่อส่งเครื่องเข้ามาซ่อมที่ศูนย์บริการภายหลัง เนื่องจากมองว่าปัญหาของสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ถ้าเสียจะต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่อยู่แล้ว จึงไม่มีการตั้งจุดซ่อมขึ้นมาแต่ใช้วิธีการขนส่ง ซึ่งจำเป็นต้องหาทางลดระยะเวลาในการรับ-ส่งเครื่องให้เร็วที่สุดแทน
       
       “ปัจจุบันถ้ามีเครื่องส่งเข้ามาซ่อมแล้วจำเป็นต้องเปลี่ยนอะไหล่ จะใช้เวลาในการซ่อมราว 15 วัน ซึ่งถือว่านานเกินไป จึงวางแผนว่าจะลดให้เหลือ 7-10 วันแทน พร้อมๆ กับการเพิ่มจุดรับซ่อมสินค้าจากช่องทางจำหน่ายที่ขยายเพิ่มขึ้นด้วย”
       
       ด้วยระบบ และช่องทางการจำหน่ายที่แอลจีปรับแผนรับมือในครั้งนี้ ทำให้เชื่อว่าจะสามารถกลับมาเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนได้ภายในอนาคต แม้ว่าจะไม่ได้มีการตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องขึ้นมาภายในกี่ปี แต่เชื่อว่าด้วยสภาพการแข่งขันที่ดุเดือดของตลาดในปีหน้า จะช่วยให้แอลจีมองเห็นแสงสว่างได้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน

***ประชัน 3 สมาร์ทโฟนเด็ดจากเกาหลี***


 เมื่อ Nexus 5 ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการอัดสเปกมาอยู่ในระดับเดียวกับ G2 ทำให้พลาดไม่ได้ที่จะนำ 3 ที่สุดสมาร์ทโฟจากเกาหลีในเวลานี้มาประชันกัน ด้วยระดับราคาจำหน่ายที่ใกล้เคียงกันระหว่าง 16,900-19,990 บาท อาจทำให้หลายคนชั่งใจได้ถูกว่าจะเลือกซื้ออะไรดี
       
       เมื่อเทียบกันในแง่ของสเปก ต้องยอมรับว่า Nexus 5 และ G2 จะได้เปรียบกว่าในแง่ของหน่วยประมวลผลที่รุ่นใหม่กว่าอย่าง Snapdragon 800 ส่วน S4 เนื่องจากวางจำหน่ายมาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้อาจมีข้อเสียเปรียบในจุดนี้
       
       แง่ของการเชื่อมต่อทั้ง Nexus 5 และ G2 ก็รองรับการเชื่อมต่อถึง 4G ในขณะที่ S4 รุ่นที่วางจำหน่ายในประเทศไทยรองรับแค่เพียง 3G เท่านั้น แต่ก็ใช่ว่า S4 จะไม่มีข้อเหนือกว่าอีก 2 รุ่น เพราะซัมซุงจะพยายามชูจุดเด่นในแง่ของฟีเจอร์การใช้งานที่มีลูกเล่นเยอะกว่าเป็นหลัก
       
       ส่วน Nexus 5 อย่างที่รู้กันว่านอกจากสเปกของตัวเครื่องแล้ว ในแง่ของการอัปเกรดระบบปฏิบัติการ ผลิตภัณฑ์ในตระกูล Nexus จะได้รับสิทธิในการอัปเดตก่อนใคร ดังนั้นถ้าซื้อ Nexus 5 ก็จะได้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์รุ่นใหม่ล่าสุดอยู่ตลอดเวลา
       
       G2 นอกจากจุดเด่นที่กล่าวไปแล้วเบื้องต้น ก็คงต้องรอดูกันถึงแง่ของการอัปเดตเฟิร์มแวร์ หลังจากมีระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ออกมาว่าแอลจีจะใช้เวลาในการพัฒนาระบบให้เข้ากับฟังก์ชันของตัวเครื่องได้รวดเร็วแค่ไหน
       
       ในส่วนของกล้อง แม้ว่าทั้ง S4 และ G2 จะมีความละเอียด 13 ล้านพิกเซลเหมือนกัน แต่ G2 ที่ออกตามหลังมาจะได้เปรียบกว่าในแง่ของระบบกันสั่น และความสามารถในการถ่ายภาพในที่แสงน้อย ผิดกับ Nexus 5 ที่ให้กล้องความละเอียดมาแค่ 8 ล้านพิกเซล และรีวิวจากต่างประเทศต่างพร้อมใจกันบอกว่าควรใช้โหมดถ่ายภาพแบบ HDR+ เพื่อให้ได้ภาพที่ดีขึ้นกว่าการถ่ายโหมดปกติ
       
       สุดท้ายนี้ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้งานว่าเหมาะสมกับรุ่นใด เพราะแต่ละรุ่นก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป
       
       Company Related Link :
       LG (Thailand)

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)