เครื่องมือถือตลาดเงียบ ผู้ค้าคาดกำลังซื้อตก แถม ก.พ.วันขายน้อย ระบุ "ทัชสกรีน" กระตุ้นกำลังซื้อระดับ 1-2 หมื่นบาท พยุงตลาดรวมทรงตัว
นายมนาเทศ อันนวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจสื่อสารการตลาดและองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดมือถือช่วง 2 เดือนแรกยังทรงตัว ไม่หวือหวาแต่ไม่หดตัว ส่วนหนึ่งมาจากการทำตลาดเครื่องกลุ่มทัชสกรีน ซึ่งช่วยกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภคได้
แม้เศรษฐกิจชะลอตัวจะมีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคบางส่วน แต่เครื่องทัชสกรีน เป็นตลาดระดับบน เน้นกลุ่มผู้ชอบเทคโนโลยีและดีไซน์ ซึ่งยังมีกำลังซื้อสินค้าอยู่ และยิ่งทัชสกรีนมีราคาลงมาอยู่ 1-2 หมื่นบาท ก็ทำให้ตลาดกว้างมากขึ้น ผู้ซื้อจึงขยายจากกลาง-บน
ซัมซุงเอง ส่วนแบ่งมูลค่าตลาดมีมากกว่าจำนวนเครื่อง 3-4% แสดงว่าขายเครื่องราคาสูงกว่าราคาเฉลี่ยในตลาด เพราะมีมือถือทัชสกรีน 4 รุ่นหลัก โดยเฉพาะเอฟ 480 และออมเนีย ทำตลาดอย่างต่อเนื่อง และเดือน มี.ค. จะเปิดตัวทัชสกรีน ตระกูลอัลตร้า เน้นความบางและการออกแบบ อีก 1 รุ่น
นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการบริหารสายงานการตลาด บมจ.เจมาร์ท กล่าวว่า การเข้ามาทำตลาดของเครื่องทัชสกรีน มีส่วนช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้น เห็นชัดจากโนเกีย 5800 และแอลจี คุกกี้ ที่ตอบรับดี รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ทำให้อินเตอร์แบรนด์ยังครองตลาดบน และล่างต่ำกว่า 2,000 บาทได้ รักษาส่วนแบ่งตลาด 70% เพราะเครื่องอินเตอร์แบรนด์กับเฮ้าส์แบรนด์ที่ต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต่างกันนัก ผู้บริโภคจึงเลือกอินเตอร์แบรนด์
ส่วนการทำตลาดเครื่องเจโฟน ได้ขยายเป็น 7 รุ่น และเตรียมเปิดรุ่นใหม่ๆ ต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกระดับราคา 1,000-7,000 บาท แต่เน้นกลาง-บนรับตลาดเฮ้าส์แบรนด์ที่โตเพิ่ม
นายกิตติพงศ์ กิตติภัสสร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บมจ.ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า อินเตอร์แบรนด์ได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งสภาวะที่ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง จะเปรียบเทียบราคาเครื่องกับฟังก์ชัน และฟีเจอร์ที่ได้ ที่สำคัญ คือ อินเตอร์แบรนด์ไม่มีลูกเล่นใหม่ๆ ทำทีวีโมบายไม่ได้ เครื่อง 2 ซิมมีน้อย ไม่มี 2 ซิม 2 ระบบ เครื่องราคาสูง แต่ความคุ้มค่าไม่เท่าเฮ้าส์แบรนด์ ซึ่งมีทัชสกรีนแล้วเช่นกัน ส่วนยอดขายของทีดับบลิวแซดยังอยู่ระดับที่น่าพอใจ เดือน ก.พ.จำนวนวันน้อยกว่าเดือนอื่นๆ แต่เทียบแล้วยอดขายยังเติบโต
นายกุลดิษฐ์ สมุทรโคจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวร์เลส ดีไวซ์ ซัพพลาย จำกัด (ดับบลิวดีเอส) ผู้ค้าเครื่องโทรศัพท์มือถือในเครือเอไอเอส กล่าวว่า สถานการณ์ขายเครื่องมือถืออยู่ในภาวะทรงตัว เดือน ก.พ. ตลาดเงียบกว่า ม.ค. คาดว่ากำลังซื้อน่าจะตกลง และมีวันขายน้อย
บริษัทจะพยายามเร่งยอด ดึงส่วนแบ่งตลาดด้วยการจัดกิจกรรมการตลาดต่างๆ ต่อสู้มากกว่า และที่ดำเนินการภายใน คือ ลดต้นทุนดำเนินงาน อาทิเช่น กรรมวิธีทำโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ โครงสร้างการส่งของต้องมีมินิมัม ออเดอร์ ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการตลาด เพราะเมื่อความต้องการของตลาดตก แม้จะทำอย่างไรก็ขายไม่ได้อยู่ดี
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า รายได้จากการจำหน่ายเครื่องมือถือลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ปริมาณเครื่องที่ บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย จำหน่ายได้ไม่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน หรือกว่า 4 ล้านเครื่อง เป็นยี่ห้อไอ-โมบายกว่า 90% และยังรักษาส่วนแบ่งตลาด 28% ไว้ได้
ที่มา: bangkokbiznews.com