แฟ้มภาพงานเปิดตัว BlackBerry Z10 ของทอร์สเทน ไฮนส์ (Thorsten Heins) อดีตซีอีโอบริษัท Research in Motion ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น BlackBerry ในภายหลัง ล่าสุดไฮนส์โบกมือลาตำแหน่งซีอีโอบริษัทแล้ว ขณะที่จอห์น เฉิน (John Chen) ถูกแต่งตั้งเป็นประธานบริษัทกรรมการบริหารคนใหม่ และรักษาการณ์ซีอีโอ กลายเป็นเป้าที่ถูกพูดถึงในแง่ลบยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับแบล็กเบอร์รี (BlackBerry) อดีตสมาร์ทโฟนยอดนิยมที่ไม่สามารถขายกิจการได้ตามที่หวังไว้ ล่าสุดซีอีโอรักษาการออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะกู้จุดยืนแบล็กเบอร์รีให้ได้ด้วยความแข็งแกร่งด้านงานบริการและซอฟต์แวร์ ไม่ใช่อุปกรณ์ ทำให้โลกจับตามองว่าแบล็กเบอร์รีกำลังจะถอนตัวจากธุรกิจจำหน่ายสมาร์ทโฟนอย่างเป็นทางการ คำกล่าวถึงยุทธศาสตร์ใหม่แบล็กเบอร์รีนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการประกาศยุติกระบวนการเฟ้นหาผู้ซื้อกิจการ โดยก่อนหน้านี้กลุ่มทุนแฟร์แฟกซ์ (Fairfax Financial) ยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือของแบล็กเบอร์รีทั้งหมดและแปรเปลี่ยนเป็นบริษัทเอกชนด้วยเงิน 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผลจากการยื่นข้อเสนอทำให้แบล็กเบอร์รีขีดเส้น 4 พฤศจิกายนขึ้นมาเพื่อเป็นกรอบเวลาว่าหากไม่มีผู้ใดให้ข้อเสนอที่ดีกว่าแฟร์แฟกซ์จะสามารถซื้อกิจการแบล็กเบอร์รีไปตามข้อเสนอที่ยื่นมา ปรากฏว่าไม่เพียงไร้ข้อเสนอจากกลุ่มทุนอื่นเพิ่มเติม แฟร์แฟกซ์ยังเปลี่ยนใจไม่ซื้อกิจการแบล็กเบอร์รีตามที่เสนอด้วย โดยปรับเปลี่ยนจากการเทเงิน 4.7 พันล้านเหรียญเพื่อซื้อหุ้นทั้งหมด มาเป็นการซื้อหุ้นบางส่วนด้วยมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น
แถลงการณ์ของแบล็กเบอร์รีสะท้อนว่า ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นคือกลุ่มแฟร์แฟกซ์จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของแบล็กเบอร์รีด้วยสัดส่วน 10% โดยแบล็กเบอร์รีจะยังเป็นบริษัทเอกชนต่อไปและไม่มีการขายกิจการใดๆ ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ซีอีโอแบล็กเบอร์รี “ทอร์สเทน ไฮนส์” จะลงจากตำแหน่งเพื่อหลีกทางให้จอห์น เฉิน ประธานกรรมการบริหารแบล็กเบอร์รีคนใหม่ซึ่งรับหน้าที่รักษาการซีอีโอ ได้สรรหาซีอีโอคนใหม่ขึ้นมาแทนที่ โดยเฉินให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวเอพีว่า พนักงานแบล็กเบอร์รีทุกคนจะต้องมองบริษัทในมุมใหม่ และต้องยอมรับว่าแบล็กเบอร์รีเป็นบริษัทให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับโทรศัพท์ ไม่ใช่บริษัทโทรศัพท์มือถือเท่านั้น
เฉินมีดีกรีเป็นอดีตซีอีโอบริษัทซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลชื่อดังอย่างไซเบส (Sybase) จุดนี้ทำให้ไม่น่าประหลาดใจเมื่อเฉินยืนยันว่าจะเฟ้นหาซีอีโอแบล็กเบอร์รีคนใหม่ที่มีประวัติการทำงานเชี่ยวชาญด้านธุรกิจบริการและซอฟต์แวร์เป็นหลัก
เฉินยกตัวอย่างแอปพลิเคชันแบล็กเบอร์รี เมสเซนเจอร์ (BlackBerry Messenger) แอปพลิเคชันรับส่งข้อความแชตยอดฮิตจากแบล็กเบอร์รีบนอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอนดรอยด์ (Android) ซึ่งมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 20 ล้านครั้งในเวลาเพียง 10 วัน ความสำเร็จของบริการรับส่งข้อความทันใจนี้ทำให้แบล็กเบอร์รีมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้
ยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมากกว่า 20 ล้านครั้งนี้ไม่ธรรมดา เมื่อมองว่าผู้ใช้แบล็กเบอร์รีในปัจจุบันมีอยู่ไม่มากนัก ที่ผ่านมา BlackBerry Messenger หรือ BBM เป็นบริการรับส่งข้อความที่ผู้ใช้ไม่ต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติม (จากค่าบริการอินเทอร์เน็ต) และเป็นฟีเจอร์ยอดนิยมที่สามารถใช้งานได้บนอุปกรณ์แบล็กเบอร์รีเท่านั้น แต่การที่แบล็กเบอร์รีเปลี่ยนแปลงให้ BBM สามารถทำงานบนสมาร์ทโฟนคู่แข่งได้ด้วยการสร้างแอปพลิเคชันสำหรับแอนดรอยด์และไอโอเอส ทำให้ตัวเลขผู้ใช้งาน BBM ในขณะนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 80 ล้านรายแล้ว ซึ่งซีอีโอใหม่แบล็กเบอร์รีจะต้องหาทางทำเงินจากผู้ใช้กลุ่มนี้ให้ได้
อย่างไรก็ตาม คอลิน กิลลิส (Colin Gillis) นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมของบริษัทวิจัยบีจีซี ไฟแนนเชียล (BGC Financial) มองว่าแนวคิดนี้อาจเป็นไปได้ยาก โดยเปรียบเทียบว่าคำพูดของเฉินนั้นเหมือนกับการที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนฮิตอย่างแอปเปิล (Apple) กำลังออกมาประกาศหยุดผลิตโทรศัพท์ เพื่อเปลี่ยนตัวเองเป็นบริษัทให้บริการรับส่งข้อความแชตเท่านั้น หรือ iMessage company ซึ่งมองแล้วถือว่ามีทางต่อยอดธุรกิจได้ยากมาก
ทั้งหมดนี้แบล็กเบอร์รีปฏิเสธไม่เปิดเผยยอดผู้ใช้อุปกรณ์แบล็กเบอร์รีอย่างเป็นทางการ โดยโฆษกแบล็กเบอร์รีใช้คำว่ายอดผู้ใช้นั้นไม่มีผลสะท้อนภาพธุรกิจของแบล็กเบอร์รีในวันนี้
อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่าฐานผู้ใช้อุปกรณ์แบล็กเบอร์รีทั่วโลกในวันนี้มีประมาณ 72 ล้านราย โดยนักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 65 ล้านคนช่วงเดือนสิงหาคม 2013 ที่ผ่านมา ถือเป็นการลดลงจากช่วงพีกราวสิงหาคม 2012 ที่แบล็กเบอร์รีเคยโกยยอดผู้ใช้มากที่สุด 80 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนอย่างซัมซุง (Samsung Electronics Co.) จะพบว่าตัวเลขผู้ใช้ทั่วโลกของแบล็กเบอร์รีนั้นน้อยมาก เพราะข้อมูลจากบริษัทวิจัยตอกย้ำชัดเจนว่าซัมซุงสามารถจัดส่งสมาร์ทโฟน 81 ล้านเครื่องเฉพาะช่วงเวลาไตรมาส 3 ที่ผ่านมา (กรกฎาคม-กันยายน)
ที่สำคัญ นักวิเคราะห์มองว่าการเลิกจำหน่ายสมาร์ทโฟนบีบีในท้องตลาดอาจไม่ใช่เรื่องดี เนื่องจากฐานผู้ใช้แบล็กเบอรีหลายล้านคนทั่วโลกสะท้อนว่ายังมีผู้ที่ไม่กังวลว่าบีบีที่ตัวเองถืออยู่คืออุปกรณ์ที่ล้าสมัย ซึ่งการบอกลาตลาดสมาร์ทโฟนอาจเป็นการดับไฟส่องทางของแบล็กเบอร์รีเอง
การเสื่อมมนต์ขลังของแบล็กเบอร์รีนั้นเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยปี 1999 สมาร์ทโฟนบีบีกลายเป็นสุดยอดอุปกรณ์ที่ทำให้นักธุรกิจสามารถรับส่งอีเมลขณะเดินทางได้อย่างรวดเร็ว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถึงกับพกพาแบล็กเบอร์รีไม่ห่างตัว เช่นเดียวกับพิธีกรผู้ทรงอิทธิพลของคนอเมริกันอย่างโอปราห์ วินฟรีย์ ที่ยกให้แบล็กเบอร์รีเป็นหนึ่งอุปกรณ์ในดวงใจ
แต่เมื่อแอปเปิลเปิดตัวไอโฟนรุ่นแรกในปี 2007 พร้อมกับแสดงความสามารถว่าสมาร์ทโฟนสามารถทำงานอย่างอื่นได้นอกเหนือจากอีเมลและโทรศัพท์ ตั้งแต่นั้นมาแบล็กเบอร์รีก็สูญเสียตำแหน่งแชมป์และล้มลุกคลุกคลานกับการแข่งขันสุดดุเดือดระหว่างตัวเองกับแอปเปิล รวมถึงนานาค่ายมือถือที่พัฒนาอุปกรณ์แอนดรอยด์สู่ตลาด ซึ่งล่าสุดแบล็กเบอร์รีต้องลดค่าใช้จ่ายให้ตัวเองด้วยการเลิกจ้างพนักงานมากกว่า 4,500 ตำแหน่งทั่วโลก หรือประมาณ 40% ของพนักงานทั้งหมด
เบื้องต้น นักวิเคราะห์เชื่อว่าธุรกิจบริการที่แบล็กเบอร์รีจะเข้าไปให้ความสำคัญคือธุรกิจจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ในองค์กรสำนักงาน โดยมีโอกาสสูงที่แบล็กเบอร์รีจะให้บริการระบบที่ฝ่ายไอทีขององค์กรใหญ่จะสามารถจัดการความปลอดภัยให้พนักงานในองค์กรนั้นสามารถนำสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตส่วนตัวมาใช้เปิดข้อมูลสำคัญขององค์กรได้อย่างปลอดภัยไร้ความเสี่ยง ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีการขยายตัวตามยุคสมัยที่ชาวดิจิตอลมีอุปกรณ์พกพาส่วนตัวกันทุกคน
ที่มา: manager.co.th