บรรยากาศงานเปิดตัว Samsung Galaxy S4 ล่าสุดซัมซุงและกูเกิล รวมถึงผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์อื่นๆกำลังถูกฟ้องร้องฐานละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยี กลุ่มบริษัทไอทีรายใหญ่รวมตัวในชื่อ “ร็อคสตาร์ คอนซอร์เตียม (Rockstar Consortium)” เดินหน้าฟ้องกูเกิล (Google), ซัมซุง (Samsung), เอชทีซี (HTC) และผู้ผลิตรายอื่นในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีการผลิตโทรศัพท์มือถือ ถือเป็นการโหมไฟให้ศึกฟ้องร้องสิทธิบัตรเทคโนโลยีทวีความร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง ร็อกสตาร์นั้นเป็นบริษัทที่มีเจ้าของเป็นกลุ่มบริษัทใหญ่อย่างแอปเปิล (Apple), ไมโครซอฟท์ (Microsoft), แบล็กเบอร์รี (Blackberry), อีริคสัน (Ericsson) และโซนี่ (Sony) โดยทันทีที่ Rockstar ประกาศชื่อจำเลยที่บริษัทจะฟ้องร้องในข้อหาละเมิดสิทธิบัตร โลกจึงเห็นชัดว่าการฟ้องร้องครั้งนี้เป็นการโจมตีผู้ผลิตสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิลอย่างจัง
การฟ้องครั้งนี้เป็นผลต่อเนื่องจากการประมูลซื้อสิทธิบัตรเทคโนโลยีหลายพันชื่อจากบริษัทนอร์เทล (Nortel) ซึ่งร็อคสตาร์สามารถชนะการประมูลด้วยเงิน 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐตั้งแต่ครั้งนอร์เทลกลายเป็นบริษัทล้มละลายในปี 2009 โดยกูเกิลแพ้ประมูลและหันมาซื้อหน่วยธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโมโตโรล่าแทน
ในคำฟ้อง ร็อคสตาร์อ้างว่ากูเกิลละเมิด 7 สิทธิบัตรเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงโฆษณาตามผลการค้นหาบนอุปกรณ์พกพา จุดนี้นักวิเคราะห์เชื่อว่ากลุ่มร็อคสตาร์ต้องการปกป้องไม่ให้กูเกิลสามารถกินรวบตลาดสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และเกมคอนโซลทั่วโลกด้วยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยปัจจุบันแอนดรอยด์คือผู้อยู่เบื้องหลังที่ทำให้อุปกรณ์ตระกูลกาแล็กซี (Galaxy) ของซัมซุงสามารถขยายอาณาจักรได้บนเวทีโลก
ขณะนี้อุปกรณ์แอนดรอยด์คิดเป็น 81.3% ของสมาร์ทโฟนที่จัดส่งในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2013 โดยข้อมูลจากบริษัทวิจัยสเตรทีจี อนาไลติกส์ (Strategy Analytics) ระบุว่าอุปกรณ์ไอโอเอสของแอปเปิลนั้นคิดเป็น 13.4% ของตลาดเท่านั้น ขณะที่วินโดวส์โฟนมีสัดส่วน 4.1%
เบื้องต้นยังไม่มีรายงานว่ากลุ่มร็อคสตาร์เรียกร้องให้ซัมซุง กูเกิล และเอชทีซี รวมถึงผู้ผลิตรายอื่นชดใช้ความผิดฐานละเมิดที่กล่าวอ้างอย่างไร แต่นักสังเกตการณ์เชื่อว่ากูเกิลจะออกแถลงการณ์เกี่ยวกับมาตรการในอนาคตเพื่อปกป้องผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์รายอื่นต่อไป
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของซัมซุงคือการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2013 โดยระบุว่ามีรายได้ 59.08 ล้านล้านวอน (ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท) บนกำไรสุทธิ 8.05 ล้านล้านวอน (ราว 2.4 แสนล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รายได้ที่ถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่ของบริษัทนั้นเป็นผลจากการขยายตัวของธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่เป็นแหล่งรายได้หลักของซัมซุง (2 ใน 3 ของรายได้บริษัท) จุดนี้ซัมซุงไม่ให้ข้อมูลตัวเลขยอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่ชัดเจน ระบุเพียงว่าสมาร์ทโฟนระดับล่างนั้นเติบโต 10% ขณะที่ยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์รุ่นท็อปนั้นทรงตัว ท่ามกลางแท็บเล็ตที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 20%
ในมุมของเอชทีซี ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติไต้หวันระบุว่าบริษัทมีรายได้รวมตลอดไตรมาส 3 ปี 2013 มากกว่า 4.70 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน แต่ด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาลทำให้บริษัทประสบภาวะขาดทุนราว 3.5 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน ถือเป็นไตรมาสแรกที่เอชทีซีพบกับภาวะขาดทุนนับตั้งแต่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2002
สำหรับกูเกิล ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2013 สะท้อนว่ากูเกิลสามารถทำรายได้รวม 1.48 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.7 แสนล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปี 2012 เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายกูเกิลสามารถทำกำไรสุทธิ 3.64 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.1 แสนล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 23% การเติบโตหลักอยู่ที่รายได้ส่วนโฆษณาบนหน้าเว็บกูเกิลดอทคอมที่เพิ่มขึ้น 22% ขณะที่ส่วนธุรกิจโมโตโรล่ามีรายได้ลดลงและยังขาดทุนจากการดำเนินงานนับ 248 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากผลประกอบการ กูเกิลยังประกาศปิดบริการไอกูเกิล (iGoogle) บริการหน้าเว็บส่วนตัวของกูเกิลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขยายผลจากการหยุดให้บริการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการประกาศครั้งนี้จะเป็นสัญญาณว่ากูเกิลพร้อมลบข้อมูลทั้งหมดของไอกูเกิลออกจากเซิร์ฟเวอร์ที่เคยให้บริการ
ที่มา: manager.co.th