คดีฆาตกรรมดาราสาว "ซายะ ซูซูกิ" กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสวิจารณ์การทำงานของตำรวจญี่ปุ่นดาราวัย 18 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ต.ค. หลังกฎหมาย "Stalker" ฉบับใหม่เพิ่งมีผลบังคับใช้ได้ 5 วันก่อนจะสังหารอดีตหญิงคนรัก อิเคะนากะ ยังปล่อยภาพนู้ดของ ซูซูกิ ลงเน็ตด้วยแม้จะข่มขู่เอาชีวิตอดีตหญิงคนรัก แต่ก็มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่เพียงเตือน ชาร์ล อิเคะนากะ เพียง 3 ครั้งเท่านั้น ข่าวการเสียชีวิตของดาราสาววัย 18 ปี จากน้ำมือของอดีตแฟนหนุ่ม ทำให้สังคมญี่ปุ่นต้องผวากับภัยของพฤติกรรม Stalker อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดความแคลงใจ ว่ากฎหมาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจของญี่ปุ่น อาจจะไม่สามารถคุ้มครองประชาชนจากภัยประเภทนี้ได้ ซายะ ซูซูกิ อาจจะไม่ใช่นักแสดงสาวที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักอะไรนัก เธอเพิ่งจะมีงานภาพยนตร์ ในบทเล็กๆ ของหนังอินดีเรื่องหนึ่ง หลังเริ่มเรียนการแสดงมาตั้งแต่ชั้น ม. 5 และกำลังจะลองรับงานละครเวทีดู แต่สุดท้ายเธอต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า แต่การเสียชีวิตของดาราสาวววัย 18 ปี ที่ก่อนหน้านี้แทบไม่ได้มีใครรู้จัก กำลังเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ และส่งผลให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากมาย
ประเด็นการเสียชีวิตของ ซายะ ซูซูกิ ด้วยการถูกอดีตแฟนหนุ่มสังหารโหด ได้สร้างผลกระทบไปไกลกว่าที่ใครคิด เมื่อเกิดความไม่มั่นใจออกมาทันที ว่ากฎหมายของญี่ปุ่นในปัจจุบัน อาจจะไม่สามารถยับยั้งการกระทำความผิดของกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมที่เรียกว่า “Stalker” ได้ แม้จะเพิ่งมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมคุกคามความเป็นส่วนตัวในลักษณะนี้ ที่หมายความรวมถึงทั้งการสะกดรอยตาม, ถ้ำมอง และใช้ช่องทางการสื่อสารต่างๆ ในการคุกคามด้วย
“ซายะ ซูซูกิ” เสียชีวิตอย่างน่าเศร้าสลดเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ในบ้านของเธอในกรุงโตเกียว โดยฆาตกรซึ่งเป็นอดีตหนุ่มคนรักที่ชื่อว่า “ชาร์ล อิเคะนากะ” วัย 21 ปี ที่ใช้มีดซึ่งเขาซื้อมาเมื่อ 10 วันก่อนหน้านั้น จ้วงแทงฝ่ายหญิง 5 ครั้ง จนถึงแก่ความตายอย่างโหดเหี้ยม
แต่ที่น่าเศร้าสลดก็คือรายงานที่ว่าตัวของผู้เสียชีวิตได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจของโรงพักท้องถิ่นในเขตบ้านของเธอไปแล้ว ว่าอดีตหนุ่มคนรักได้ข่มขู่เอาชีวิตเธอ หลังทั้งสองได้แยกทางกัน แม้เธอจะพยายามปิดช่องทางการสื่อสาร ทั้งบล็อกอีเมล และเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ เขาก็ยังคุกคามเธอไป และยังปล่อยภาพนู้ดของเธอระหว่างที่ทั้งสองมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งลงอินเทอร์เน็ตด้วย แต่ก็คงไม่มีใครคาดว่าสุดท้าย อิเคะนากะ จะลงมือสังหารอดีตหญิงคนรักอย่างโหดเหี้ยม อย่างที่พูดเอาไว้จริงๆ
โดยสิ่งที่ตำรวจญี่ปุ่นได้ทำ หลังรับเรื่องจาก ซูซูกิ ก็คือการพยายามติดต่อส่งข้อความไปหาผู้ต้องสงสัย เพื่อเตือนและออกคำสั่งให้เขามารายงานตัวเท่านั้น
สื่อญี่ปุ่นรายงานว่าก่อนหน้าจะเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ยังได้โทรศัพท์ไปตรวจสอบว่า ซูซูกิ เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยรึเปล่า ซึ่งฆาตกรก็สารภาพว่าตอนนั้นเขาได้แอบเข้ามาในบ้านของฝ่ายหญิง และซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าแล้ว นอกจากนั้นก็ยังได้ยินเสียงโทรศัพท์ของอดีตหญิงคนรักกับตำรวจด้วย
ตลอดเกือบ 1 เดือนหลังจากเสียชีวิตของ “ซายะ ซูซูกิ” ความวิตกกังวลของชาวญี่ปุ่นต่อภัย Stalker ได้แพร่กระจายไปเรื่อยๆ เมื่อประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มรู้สึกว่าทั้งกฎหมายและวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการปกป้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยตลอดเดือน ต.ค.หลังการเสียชีวิตของ ซูซูกิ เป็นข่าวใหญ่ ได้มีการร้องเรียน และแจ้งความถึงพฤติกรรมแบบเดียวกันจากทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยเหล่าเหยื่อที่เริ่มวิตกกังวลว่าพวกเธออาจะต้องลงเอยแบบเดียวกับหญิงสาววัย 18 ปี
ชายที่ชื่อ มาซาชิ ฮิดากะ วัย 33 ปี กลายเป็นผู้ต้องหา และถูกควบคุมตัวทันที เมื่อมีรายงานว่าเขาเขียนข้อความบรรยายถึงรายละเอียดในกิจวัตรของหญิงสาววัย 25 ปีคนหนึ่งลงอินเทอร์เน็ต ซึ่งฝ่ายหญิงเชื่อว่าเธอโดนเขาสะกดรอยตาม และแอบเฝ้ามองพฤติกรรมต่างๆ
นอกจากนั้นในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจกรุงโตเกียวยังได้รับคำร้องขอจากหญิงสาววัยรุ่นที่ต้องการความช่วยเหลือ หลังเธอรู้สึกว่าตัวเองโดนชายคนหนึ่งลวนลามระหว่างขึ้นรถไฟใต้ดิน และเชื่อว่าเขายังสะกดรอยตามเธอมาอีกด้วย โดยเด็กสาววัย 14 ปีคนนี้ ยังเคยโดนลวนลาม และสะกดรอยตามแบบนี้มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ 2 เดือนก่อน
แต่กระแสสังคมเกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้น ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ความหวาดระแวงเท่านั้น เพราะในเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตกเป็นผู้ต้องหาของสังคมไปด้วย
ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าตำรวจมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของดาราสาววัย 18 ปี เพราะการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ ก็คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอตกเป็นเหยื่อของฆาตกร จนลงเอยต้องสิ้นลมลงก่อนวัยอันควร
ยังมีข้อมูลอีกว่าเหตุที่ตำรวจไม่สามารถช่วยเหลือคุ้มครอง ซายะ ซูซูกิ อย่างที่เธอต้องการได้ ก็เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าคงไม่สามารถช่วยเหลือจัดการกับคดีที่ “ไม่เร่งด่วน” ลักษณะนี้ในช่วงสุดสัปดาห์ได้ นอกจากนั้นก็ยังไม่มีการแจ้งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงทราบแต่อย่างใด
ยังมีข้อสงสัยไปไกลถึงขั้นที่ว่ามาตรการของตำรวจที่ส่งข้อความไปเตือน ชาร์ล อิเคะนากะ และสั่งให้เขามารายงานตัวที่สถานีตำรวจ อาจเป็นการยั่วยุบันดาลโทสะให้เขาก่อเหตุสังหารโหดอดีตแฟนสาวด้วยก็ได้
บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มาอินิจิ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างรุนแรงว่า “แม้ตำรวจจะได้รับคำแจ้งความจากเหยื่อแล้ว แต่พวกเขาก็ไม่มีมาตรการที่จะปกป้องเธอแต่อย่างใด ... จากคำให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าวทั้งในฝ่ายตำรวจ และโรงเรียน ก็ต่างยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีมาตรการใดๆ ในเรื่องเร่งด่วนแบบนี้ เพราะบ่อยครั้งที่การสะกดรอยตามจะบานปลายกลายเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงได้”
จากข้อมูลของสื่อญี่ปุ่นเปิดเผยว่าเมื่อปีก่อนมีคำร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมสะกดรอยตามจากทั่วประเทศญี่ปุ่น 19,920 ครั้ง เพิ่มขึ้นถึง 5,302 ครั้ง จากปีก่อน ซึ่งบางกรณีก็เป็นคดีความระหว่างเหยื่อและผู้ต้องหา ที่รู้จักคุ้นเคยกัน นอกจากนั้นก็ยังมีคดีที่เหยื่อโดนคนแปลกหน้าสะกดรอยตามด้วย
โดยญี่ปุ่นเพิ่งจะมีการเพิ่มรายละเอียดของกฎหมายที่ว่าด้วยพฤติกรรม Stalker เมื่อเดือนที่แล้ว ทั้งในส่วนที่ระบุให้การข่มขู่ทางอีเมลก็เข้าข่ายเป็นความผิดด้วย นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังจะมีอำนาจในการสั่งห้ามไม่ให้บุคคลเข้าออกในบริเวณที่กำหนดอาจจะเป็นที่พัก หรือที่ทำงานของเหยื่อ
ก่อนหน้านี้กฎหมายว่าด้วยการปกป้องความเป็นส่วนตัว เคยถูกปรับปรุงแก้ไขมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1999 หลังหญิงสาววัย 21 ปี โดนอดีตคนรักจ้วงแทงเสียชีวิตในเขตไซตามะ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเธอได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ไปแล้วว่าเธอโดนเขาขู่ฆ่า
ส่วนการแก้ไขครั้งล่าสุด ที่มีการเพิ่มเติมข้อกฎหมายว่าการข่มขู่ทางอีเมล ก็เข้าข่ายเป็นความผิดทางกฎหมาย ก็เกิดขึ้นหลังจากมีเหตุการณ์ที่หญิงสาววัย 20 เศษที่อาศัยอยู่ที่คานางาวะ ได้เสียชีวิตจากการฆาตกรรมของอดีตหนุ่มคนรัก หลังเธอโดนขู่ฆ่าทางอีเมลที่เขาส่งถึงเธอมากกว่า 1,000 ครั้ง
ซึ่งกฎหมายใหม่ดังกล่าวเพิ่งจะมีผลเริ่มต้นบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ก่อนหน้าการเสียชีวิตของ “ซายะ ซูซูกิ” เพียง 5 วันเท่านั้น
ที่มา: manager.co.th