ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต ผู้ป่วยสุดช้ำ! มารักษาตัว รพ.รามาธิบดี แต่เจอโจนแสบแอบผสม "สารไซลาซีน" ลงในน้ำ หลอกให้ดื่มจนหมดสติ ถูกรูดทรัพย์เกลี้ยง ผอ.รพ.รามาธิบดี ร่อนหนังสือเวียนแจ้งเตือนด่วน ให้ระวังมิจฉาชีพ ชี้สารดังกล่าวดูดซึมเร็วอาจทำให้เสียชีวิตได้ อึ้ง! สถานีตำรวจพญาไทแฉโรงพยาบาลอื่นก็โดนถ้วนหน้า วันนี้ (11 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ส่งหนังสือเวียนถึงหน่วยงานต่างๆ ภายในโรงพยาบาล โดยหนังสือระบุว่า เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาปลดทรัพย์ผู้ป่วยนอก ที่รอรับการรักษาในโรงพยาบาลฯ โดยใช้สารไซลาซีน (Xylazine) ซึ่งเป็นสารที่ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี และดูดซึมได้เร็วทางกระเพาะอาหาร จนทำให้ผู้ป่วยหมดสติและอาจเสียชีวิตได้ โดยวิธีการผสมกับน้ำแล้วนำมาให้ผู้ที่รอรับบริการในโรงพยาบาลฯ ดื่ม อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลฯได้สอบถามทางสถานีตำรวจพญาไท ปรากฏว่า ในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลอื่นๆ เช่นกัน
ล่าสุด รพ.รามาธิบดี ได้ออกแถลงการณ์เรื่องนี้ว่า จากเหตุการณ์ผู้มารับบริการถูกมิจฉาชีพหลอกให้ดื่มน้ำผสมยา จนหมดสติและถูกปลดทรัพย์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง รพ.รามาธิบดีมีความห่วงใยผู้มาใช้บริการ เนื่องจากในแต่ละวันมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก และอาจมีมิจฉาชีพปะปนอยู่ ดังนั้น ทางโรงพยาบาลจึงออกประกาศแจ้งเตือนเป็นการภายในเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติระวังตัวมากขึ้น พร้อมเน้นย้ำบุคลากรในเรื่องมาตรการความปลอดภัย ส่วนมาตรการเรื่องยานั้นทางโรงพยาบาลได้เรียนประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แล้ว เพื่อหาแนวทางป้องกันในระยะยาวต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีผู้ป่วย รพ.รามาธิบดี ถูกปลดทรัพย์ด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว 2 ราย โดยกรณีนี้เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ รพ.รามาธิบดี พบผู้ป่วยสลบอยู่ภายในโรงพยาบาล เมื่อทำการรักษาและตรวจสารภายในร่างกาย จึงพบว่าผู้ป่วยได้รับสารไซลาซีน จึงทำให้ทราบว่ามีมิจฉาชีพเข้ามาปลดทรัพย์ด้วยการวางยาผู้ป่วย
อย.แจง "ไซลาซีน" เป็นยาใช้ในการขนย้ายสัตว์เพื่อให้มีความสงบ ไม่มีรายละเอียดผลกระทบจากการใช้ในคน ชี้เป็นยาอันตราย ระบุอาจต้องยกระดับยา ภญ.ประภัสสร ธนะผลเลิศ รักษาการผู้อำนวยการสำนักยา อย. กล่าวว่า สารไซลาซีน (Xylazine) จัดเป็นตำรับยาสำหรับสัตว์ เป็นยาอันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยข้อบ่งชี้สำหรับยานี้ จะมีฤทธิ์เพื่อสงบประสาทส่วนกลาง ซึ่งส่วนมากจะใช้ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ เพราะยาจะทำให้สัตว์มีความสงบ โดยในประเทศไทยมีการขึ้นทะเบียนยาดังกล่าว 9 รายการในจำนวนนี้นำเข้า 3 รายการ จากประเทศฝรั่งเศส สเปน และเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ ยาดังกล่าวเป็นยาที่ใช้สำหรับสัตว์ ดังนั้น จึงไม่มีรายการว่าใช้ในคนแล้วจะเป็นอย่างไร แต่มีข้อมูลทางวิชาการว่า จะทำให้หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัสสาวะมาก ทำให้ความดันต่ำลง น้ำตาลในเลือดสูง ปากแห้ง และทำให้มีอาการในระบบทางเดินหายใจและระบบเลือด
"สารดังกล่าวเป็นยาที่ใช้ในสัตว์ จึงไม่มีรายการความผิดปกติในคนมากนัก แต่มักพบว่ากลุ่มมิจฉาชีพจะอาศัยผลข้างเคียงของยามาใช้ในทางที่ผิดเสมอ ซึ่งเป็นหน้าที่ อย.ต้องเฝ้าระวัง โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การใช้ในโรงพยาบาล หากผู้ได้รับยาเป็นผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็ก หรือ ผู้มีโรคประจำตัว ก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงกว่าคนปกติทั่วไป” รักษาการ ผอ.สำนักยา กล่าว
ภญ.ประภัสสร กล่าวอีกว่า สารดังกล่าวถือเป็นยาอันตรายที่ซื้อได้ในร้านขายยา ซึ่งในสัปดาห์หน้า อย.จะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหามาตรการควบคุมไม่ให้มิจฉาชีพนำยาดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อพบยาบางกลุ่มถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดก็จะมีการยกระดับ เช่น กลุ่มยาสลบอย่างยาเคตามีน ก็มีการยกระดับเป็นยาควบคุมพิเศษ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การยกระดับยาจะต้องประเมินผลกระทบในการเข้าถึงยาตัวนั้นด้วย ทั้งนี้ สารไซลาซีน จัดเป็นสารที่มีความเข้มข้นน้อยกว่ากลุ่มยาเคตามีน เนื่องจากใช้ทำให้สัตว์สงบเท่านั้น โดยการใช้ในสัตว์จะใช้ตามน้ำหนักของสัตว์ โดยฉีดเข้าเส้นเลือดดำ จะออกฤทธิ์ใน 3-5 นาที และมีฤทธิ์อยู่ประมาณ 20 นาที ส่วนระยะเวลาการออกฤทธิ์ในคนนั้น ไม่มีรายงาน
“คำแนะนำเบื้องต้น มีเฉพาะผู้ให้ยาสัตว์เท่านั้น คือ 1.กรณีทาน หรือ เข้าสู่ร่างกายโดยบังเอิญให้รีบพบแพทย์และนำฉลากยาแสดงต่อแพทย์ ห้ามขับรถ เพราะยาทำให้ง่วงซึม มีการเปลี่ยนแปลงความดันเลือด 2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสยากับผิวหนัง ตา เยื่อเมือก 3.หากมีการสัมผัสยาให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดมากๆ ทันที" ภญ.ประภัสสร กล่าวและว่า สำหรับกรณีนำมาผสมน้ำ เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย การขับออกไม่สามารถทำได้โดยง่าย หากพบแพทย์ตามหลักวิชาการ จะมีการให้ยาต้านพิษ คือ สารโยฮิมบิน (Yohimbine) ส่วนกรณีฉุกเฉินให้พยายามบอกคนรอบข้างช่วยเหลือ เพราะยาดังกล่าวมีฤทธิ์อ่อนกว่ากลุ่มยาสลบ น่าจะยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในช่วงสั้นๆ
ที่มา: manager.co.th