Author Topic: 7 มุมมืดของ iOS 7 (พร้อมวิธีรับมือ)  (Read 760 times)

0 Members and 2 Guests are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


เสียงวิจารณ์และความจริงที่ปรากฏกลับสะท้อนว่าระบบปฏิบัติการไอโอเอสเวอร์ชันล่าสุด iOS 7 ยังมีข้อบกพร่องมากมาย


ยังมีคุณสมบัติที่ซ่อนอยู่ในส่วน Frequent Locations


ทัชไอดี (Touch ID) ระบบอ่านลายนิ้วมือที่แอปเปิลมาติดไว้ให้ผู้ใช้สามารถปลดล็อกไอโฟนรุ่นใหม่ iPhone 5S ด้วยการแตะนิ้วมือลงบนปุ่มโฮม ก็มีปัญหาที่แอปเปิลต้องศึกษาให้ดีเช่นกัน

แม้ iOS 7 จะทำให้ชาวแอปเปิลตื่นเต้นกับหน้าตาโปรแกรมสีสวยดูทันสมัย แต่เสียงวิจารณ์และความจริงที่ปรากฏกลับสะท้อนว่าระบบปฏิบัติการไอโอเอสเวอร์ชันล่าสุดที่แอปเปิลเปิดตัวมาเพื่อใช้กับอุปกรณ์พกพาตระกูลไอ ทั้งไอโฟน ไอแพด และไอพ็อดนั้นยังมีข้อบกพร่องมากมาย ซึ่งถือเป็นมุมมืดที่แอปเปิลต้องตามล้างตามเช็ดโดยเร็ว
       
       ข้อบกพร่องเหล่านี้ทำให้เราสามารถสรุปเป็น 7 มุมมืดของ iOS 7 ซึ่งบางปัญหาถูกแก้ไขไปแล้วแต่บางปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งปัญหาการรับส่งข้อความผ่านบริการ iMessage ที่ไม่สามารถทำงานได้บนบางอุปกรณ์ระบบ iOS 7, ปัญหาการออกแบบฟังก์ชันการตั้งค่าในเมนู Setting ที่ดูแล้วชวนงงเหลือเกิน, ปัญหาความปลอดภัยของระบบอ่านลายนิ้วมือในไอโฟนรุ่นใหม่ iPhone 5S ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการ iOS 7 รวมถึงปัญหาอาการวิงเวียนเหมือนเมารถของผู้ใช้ iOS 7 ที่แพทย์ออกมายืนยันว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จริง

       
       นอกจากนี้ยังมีปัญหาแบตเตอรี่หมดเร็วผิดปกติ, ปัญหาเรื่องการปิดตัวเองอัตโนมัติของแอปพลิเคชันที่ใช้งานอยู่ ซึ่งส่งผลให้การใช้งานต้องสะดุดลงอย่างไร้เหตุผล รวมถึงปัญหาช่องโหว่ที่ทำให้ไอโฟน ไอแพด หรือไอพ็อดสามารถทำงานแม้ไม่มีการกรอกรหัสผ่าน ที่แอปเปิลแก้ไขปัญหานี้แล้วด้วยการออกเวอร์ชันใหม่ iOS 7.0.2 ในช่วง 1 สัปดาห์หลังการเปิดให้ดาวน์โหลด iOS 7
       
       ในช่วงเวลาระหว่างรอให้แอปเปิลแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งที่ผู้ใช้ iOS 7 ควรทำคือการเรียนรู้และเข้าใจวิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยตัวเอง พร้อมกับทำใจยอมรับสัจธรรมว่า ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์แบบได้ทั้งหมด
       
       1 iMessage บกพร่อง
       
       แอปเปิลออกมาประกาศแล้วว่ารับทราบปัญหาข้อบกพร่องของแอปพลิเคชันรับส่งข้อความ iMessage ซึ่งทำให้ผู้ใช้ iOS 7 บางรายไม่สามารถรับส่งข้อความได้ และกำลังดำเนินการแก้ไขในขณะนี้
       
       ปัญหานี้ถูกพูดถึงในสังคมออนไลน์วงกว้าง เนื่องจากผู้ใช้ iOS 7 หลายคนร้องเรียนว่าพบสัญลักษณ์สีแดงซึ่งแปลว่าการส่งข้อความที่เพิ่งดำเนินการไปนั้นล้มเหลว ทั้งที่ระหว่างส่งนั้นไม่พบปัญหาใดๆ จนทำให้ดูเหมือนว่าการส่งนั้นทำงานได้ดีตามปกติ ทั้งหมดนี้แอปเปิลออกแถลงการณ์ผ่านอีเมลว่าได้รับทราบปัญหานี้แล้ว โดยปัญหานี้เกิดขึ้นกับผู้ใช้ iMessage เพียง 1% และจะถูกแก้ไขใน iOS 7 เวอร์ชันถัดไปที่แอปเปิลจะเปิดให้ดาวน์โหลดต่อจาก iOS 7.0.2
       
       แอปเปิลแนะนำให้ผู้ใช้ที่พบปัญหานี้แก้ปัญหาเบื้องต้นตามเอกสารช่วยเหลือ หรือติดต่อศูนย์บริการ AppleCare เพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้น พร้อมกับขออภัยสำหรับความไม่สะดวกที่ทำให้ผู้ใช้ได้รับผลกระทบ
       
       วิธีการรับมือกับปัญหานี้คือการปิดและเปิดเครื่องใหม่ ซึ่งผู้ใช้หลายคนพบว่าสามารถแก้ปัญหานี้ได้ชั่วคราว ถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ทำได้ง่ายในช่วงที่แอปเปิลยังไม่ได้ออก iOS 7 เวอร์ชันใหม่ที่แก้ปัญหานี้แล้ว
       
       2 ภาพเคลื่อนไหวทำป่วย
       
       แพทย์อเมริกันออกมายืนยันแล้วว่าภาพแอนิเมชันหรือภาพเคลื่อนไหว “ซูมเข้า ซูมออก” ใน iOS 7 นั้นสามารถทำให้ผู้ใช้มีอาการมึนศีรษะได้ไม่ต่างจากอาการเมารถ เนื่องจากผู้ใช้สามารถเมาภาพเคลื่อนไหวเหล่านี้เหมือนที่มึนศีรษะกับหน้าจอยักษ์ในโรงภาพยนตร์ไอแม็กซ์ (IMAX) ซึ่งเป็นอาการที่เกิดในผู้ใช้บางคนเท่านั้น
       
       ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะสมองเกิดความสับสนเมื่อตาพยายามจับโฟกัสภาพที่ไม่สอดคล้องกับข้อมูลจากอวัยวะคุมการทรงตัวของร่างกาย (balancing organ) ที่อยู่ในหูชั้นใน เช่น ผู้ที่นั่งในรถซึ่งกำลังวิ่งหรืออยู่บนเรือที่กำลังโคลงเคลงแล้วพยายามอ่านหนังสือ ก็จะเกิดอาการเมาขึ้นได้
       
       เพื่อสร้างความแน่ใจว่าปัญหานี้จะไม่เกิดกับชาว iOS 7 ควรจะเลือกปิดภาพเคลื่อนไหวเหล่านี้โดยเลือกที่ Settings > General > Accessibility แล้วมองหาตัวเลือกชื่อ “Reduce Motion” จากนั้นแตะภาพสวิตช์ด้านข้างเพื่อเปิดการทำงานของระบบลดภาพเคลื่อนไหว เมื่อเปิดแล้วสวิตช์จะเปลี่ยนเป็นสีเขียว
       
       Reduce Motion เป็นฟีเจอร์ที่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้ใช้บางคนมีอาการมึนศีรษะและวิงเวียนเมื่อใช้งาน iOS 7 เนื่องจากภาพเคลื่อนไหวที่แอปเปิลจัดเต็มในระบบปฏิบัติการใหม่เพื่อให้ภาพสัญลักษณ์แอปพลิเคชันสามารถเคลื่อนที่ไปมาบนพื้นหลังได้ จุดนี้ผู้ใช้ที่อ่อนไหวต่อภาพเคลื่อนไหวมีโอกาสสูงที่จะเกิดอาการวิงเวียนศีรษะในที่สุด
       
       3 สูบแบตขั้นเทพ
       
       คุณสมบัติมากมายของ iOS 7 นั้นมีประโยชน์ แต่ต้องยอมรับว่าการตั้งค่าหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ภายในนั้นมีผล “สูบแบต” จนทำให้ผู้ใช้ไอโฟน ไอพ็อด และไอแพดที่อัปเกรดระบบปฏิบัติการเป็นเวอร์ชันใหม่ล่าสุด iOS 7 ต้องระอาใจกับแบตเตอรี่ที่หมดลงอย่างรวดเร็ว
       
       หนึ่งในคุณสมบัติที่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ iOS 7 สูบแบตเตอรี่ คือ Background app refreshing ซึ่งเป็นความสามารถในการทำให้แอปพลิเคชันเปลี่ยนแปลงหรือรีเฟรชอยู่ตลอดเวลาแบบมัลติทาสก์ จุดเด่นของคุณสมบัตินี้คือเมื่อฝนตกฟ้าดำครึ้ม แอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศใน iOS 7 จะมีพื้นหลังหรือ background เป็นสีครึ้มที่แสดงว่าฝนกำลังตั้งเค้า แม้ว่าจะมีการเปิดใช้งานแอปพลิเคชันอื่นอยู่
       
       การอัปเดทตลอดเวลานี้มีส่วนทำให้ iOS 7 สูบแบตเตอรี่มากโดยไร้ความจำเป็น เนื่องจาก iOS 7 ตั้งค่าเริ่มต้น หรือ default มาให้ทุกแอปพลิเคชันสามารถอัปเดตตัวเองตลอดเวลาที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพื่อแก้ไขปัญหานี้ สามารถเลือกที่เมนู Settings > General > Background App Refresh เพื่อปิดการตั้งค่านี้กับทุกแอปพลิเคชันหรือบางแอปพลิเคชัน ซึ่งไม่เพียงช่วยยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ต่อวัน แต่ยังทำให้เครื่องสามารถทำงานเร็วขึ้นด้วย
       
       4 แอปเด้งออก
       
       ผู้ใช้ iOS 7 หลายคนพบเหตุการณ์ “แอปพลิเคชันปิดตัวเองอัตโนมัติ” หลังจากอัปเดทระบบปฏิบัติการไอโอเอสแล้ว โดยในขณะที่ใช้งานแอปพลิเคชันทั่วไป แอปจะค้างและปิดตัวเองแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย จุดนี้ผู้ใช้ระบุว่าหนึ่งในแอปพลิเคชันที่พบปัญหา “เด้งออก” บ่อยที่สุด คือ สแนปแชต (Snapchat) และเมลบ็อกซ์ (Mailbox)
       
       ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะบางแอปพลิเคชันยังไม่ถูกปรับปรุงให้รองรับ iOS 7 อย่างเต็มที่ ทำให้เครื่องที่ถูกอัปเดทเป็น iOS 7 แล้วเปิดคุณสมบัติ Background App Refresh จะทำให้แอปพลิเคชันทำงานผิดพลาด จุดนี้ผู้ใช้จะต้องปิดคุณสมบัติ Background App Refresh ตามวิธีเดียวกับปัญหาข้อ 3 คือการเลือกที่เมนู Settings > General > Background App Refresh และตรวจให้แน่ใจว่าแอปพลิเคชันที่พบปัญหานั้นถูกคลิกปิดคุณสมบัตินี้แล้ว
       
       5 ล็อกไปก็ไร้ประโยชน์
       
       แอปเปิลแถลงว่า กำลังเร่งมือแก้ไขปัญหาความปลอดภัยบนระบบล็อกหน้าจอ เช่น ปัญหาโอกาสถูกลักลอบเปิดชมภาพถ่ายจากหน้าจอที่กำลังล็อกอยู่ หรือปัญหาโอกาสเครื่องสามารถโทร.ออกเบอร์ใดก็ได้ (ไม่ใช่เบอร์ฉุกเฉิน) ในหน้าโทร.ฉุกเฉินหรือ emergency call จากหน้าจอที่ถูกล็อก ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ทำให้การล็อกหน้าจอด้วยรหัสผ่านไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะผู้อื่นสามารถลักลอบใช้งานโทรศัพท์ได้โดยไม่ต้องใช้รหัสผ่าน
       
       หลังจากเปิดอัปเดตระบบปฏิบัติการ iOS 7 เพียงสัปดาห์เดียว แอปเปิลจึงประกาศเปิดอัปเดตระบบปฏิบัติการใหม่ในชื่อ iOS 7.0.2 ให้ผู้ใช้ iOS ทุกคนได้ดาวน์โหลด ซึ่งนอกจากการแก้ปัญหาความปลอดภัยนี้ แอปเปิลยังเพิ่มความสามารถใหม่ให้ผู้ใช้สามารถป้อนภาษากรีก (Greek keyboard) เป็นรหัสผ่านได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติใหม่ที่ยังไม่เคยมีใน iOS เวอร์ชันใด
       
       ผู้ใช้ไอโอเอสสามารถอัปเดต iOS 7.0.2 ด้วยการคลิกที่ Settings เลือก General และ Software Update โดยไฟล์อัปเดตมีขนาด 17.4 MB เท่านั้น
       
       6 ตั้งค่า iOS 7 สุดงง
       
       iOS 7 ถูกสื่อมวลชนอเมริกันตั้งคำถามอย่างเจ็บแสบว่า จงใจออกแบบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวหรือ privacy setting ให้ผู้ใช้เข้าใจผิด หรือเป็นการออกแบบที่ผิดพลาดจนทำให้ตัวเลือกการตั้งค่าดูน่าสับสนไปหมด
       
       สาเหตุที่ทำให้ iOS 7 ถูกวิจารณ์เช่นนี้ คือ คุณสมบัติที่ซ่อนอยู่ในส่วน Frequent Locations บริการอิงสถานที่ซึ่งจะนำข้อมูลพิกัดจุดที่ผู้ใช้ยืนอยู่ในขณะนั้นมาประมวลผลเพื่อนำเสนอข้อมูลที่อยู่บริเวณใกล้เคียงหรือสอดคล้องกัน คุณสมบัตินี้ไม่เพียงมีส่วนทำให้เกิดปัญหาแบตเตอรี่หมดเร็ว แต่ยังมีความเสี่ยงที่ทำให้ผู้ใช้ได้รับอันตรายจากเหตุไม่คาดฝันเพราะการเปิดเผยตำแหน่งที่อยู่ที่ชัดเจนเกินไป
       
       ปัญหาคือ ยังมีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวที่มีความสำคัญแม้ผู้ใช้จะปิดคุณสมบัตินี้แล้ว ซึ่งเชื่อว่ามีผู้ใช้ส่วนน้อยที่รู้ทันว่าต้องตั้งค่าเพิ่มเติมเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของตัวเอง การปิดคุณสมบัตินี้เริ่มที่ Settings > Privacy > Location Services จากนั้นต้องเลื่อนหน้าจอลงแล้วเลือก System Services ก่อนจะเลือก Frequent Locations ให้เป็นปิด
       
       ตัวเลือกในหน้านี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ใช้งานบริการแอปพลิเคชันแนะนำสิ่งน่าสนใจบริเวณที่ยืนอยู่ได้ดีก็จริง แต่ก็มีหลายแอปพลิเคชันที่อาจไม่มีความจำเป็นโดยตรงอย่างระบบโฆษณาของแอปเปิล “ไอแอดส์ (iAds)” ซึ่งเมื่อผู้ใช้ส่วนใหญ่เลือกปิดทั้งหมด และเลื่อนลงมาที่บรรทัดล่างสุด Frequent Locations ก่อนจะกดปิดคุณสมบัตินี้แล้ว แต่ยังมีคุณสมบัติอื่นที่ซ่อนอยู่หลังจากนี้อีก นั่นคือ Status Bar Icon
       
       ข้อมูลระบุว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรที่แอปเปิลตั้งค่าเริ่มต้นให้ Status Bar Icon ถูกปิดไว้ เนื่องจากคุณสมบัตินี้จะทำให้ผู้ใช้เห็นการแจ้งเตือนว่าแอปพลิเคชันใดกำลังเรียกใช้งานข้อมูลพิกัดที่ผู้ใช้ยืนอยู่ คุณสมบัติที่มีประโยชน์เช่นนี้กลับถูกปิดไว้โดยแอปเปิล ซึ่งผู้ใช้หลายคนถูกหลอกตาว่าการตั้งค่าให้ปิดนั้นเป็นเรื่องที่ดีแล้ว ดังนั้นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องความเป็นส่วนตัว ควรตรวจสอบการตั้งค่าในหน้า System Services ให้ละเอียดอีกครั้ง
       
       7 ทัชไอดีถูกลองของ
       
       ถ้าคำว่าลองของคือการท้าทาย แอปเปิลก็ต้องถูกเรียกว่ากำลังโดนผู้ใช้ลองของระบบทัชไอดี (Touch ID) ระบบอ่านลายนิ้วมือที่แอปเปิลมาติดไว้ให้ผู้ใช้สามารถปลดล็อกไอโฟนรุ่นใหม่ iPhone 5S ด้วยการแตะนิ้วมือลงบนปุ่มโฮม เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่แอปเปิลทำนั้นมีข้อผิดพลาด เนื่องจากผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องใช้นิ้วมือแตะอย่างเดียว แต่สามารถใช้อวัยวะอื่นอย่างจมูก นิ้วหัวแม่เท้า หัวนม รวมถึงอวัยวะเพศชายหรือเจ้าโลกก็ได้
       
       การตรวจดูลายนิ้วมือในระบบยืนยันบุคคลนั้นมีหลากหลายวิธี แต่วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการเปรียบเทียบจุดสังเกตขนาดเล็ก (minutiae) โดยจุดดังกล่าว คือ จุดที่เส้นลายนิ้วมือ (ridge) มาบรรจบหรือแยกออกจากกัน หรืออาจเป็นจุดจบของเส้นลายนิ้วมือก็ได้ แต่แอปเปิลเคยยืนยันว่ารูปแบบสแกนลายนิ้วมือของทัชไอดีนั้นถูกปรับปรุงจากระบบสแกนลายนิ้วมือที่ใช้กันทั่วไปให้สามารถทำงานได้ดีและไวยิ่งขึ้น ซึ่งการเล่นพิเรนทร์ของผู้ใช้อาจเป็นผลจากการจงใจพัฒนาระบบทัชไอดีให้สามารถทำงานอย่างยืดหยุ่นทุกสถานการณ์
       
       จุดนี้แอปเปิลเคยระบุว่าได้นำทัชไอดีนำมาประยุกต์กับระบบอ่านลายนิ้วมือบนคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่รองรับการปาดนิ้ว และที่ผ่านมาแอปเปิลพยายามปรับให้นิ้วที่มีการทาครีมโลชัน นิ้วที่ได้รับการผ่าตัด ซึ่งมีรายงานว่าแอปเปิลสามารถแก้ปัญหานี้ได้ระดับหนึ่ง การแก้ปัญหานี้อาจทำให้ระบบทัชไอดีของแอปเปิลสามารถรองรับการอ่านค่าลายผิวหนังบริเวณอื่นได้ดีกว่าระบบทั่วไป ทั้งจมูก หัวนม รวมถึงนิ้วหัวแม่เท้า หรือแม้แต่เจ้าโลกของคุณผู้ชาย
       
       หลายคนมองว่าปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเรื่องของการบอกให้โลกรู้ว่ายักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลก็มีข้อบกพร่องที่ไม่ได้ศึกษาวิจัยให้ดีก่อนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใด ซึ่งวิธีรับมือกับเรื่องนี้ คือ การถามตัวคุณเองว่าจะลองของแอปเปิลด้วยอวัยวะใดของคุณดี หากซื้อ iPhone 5S มาใช้งาน.
       
       >>>>>รู้หรือไม่>>>>>>
       
       ***กลุ่มผู้พิการทางสายตาในไทย ร้องแอปเปิลคืนเสียง “นาริสา” กลับมาใน iOS 7

       
       เว็บไซต์ macthai.com รายงานว่าผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยกำลังพบกับปัญหาในการใช้งาน iOS 7 เนื่องจากแอปเปิลได้นำเสียงระบบ “นาริสา” ที่ผู้ใช้คุ้นเคยออกไปแล้วแทนที่ด้วยเสียงระบบ “Kanya for Thai users” ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่มีคุณภาพและความชัดเจนเทียบเท่าระบบเสียงดั้งเดิม
       
       ที่ผ่านมา ไอโฟน ไอแพด และไอพ็อด จัดเป็นอุปกรณ์ไอทีที่มีผู้พิการนิยมใช้งานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยเหลือผู้พิการมากมายโดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการทางสายตา วิธีการใช้งานหน้าจอเรียบแบนบนสมาร์ทโฟนของผู้พิการทางตาคือจะต้องแตะที่หน้าจอแล้วรอฟังเสียงที่พูดกลับมา (Voice Over) เพื่ออธิบายว่านี่คือปุ่มอะไร หน้าจออะไร รวมถึงการให้อ่านข่าว อ่านเว็บ อีเมล์ ข้อความอื่นๆ แบบอัตโนมัติ แต่ปัญหาคือผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยกลุ่มหนึ่งไม่ได้รับความสะดวกจากการใช้งาน iOS 7 เนื่องจากการเปลี่ยนระบบเสียงอ่านใหม่ ซึ่งทำให้ผู้ใช้ไม่คุ้นเคย
       
       อาจารย์อิศวรา หนึ่งในผู้พิการทางสายตาและใช้สินค้าของแอปเปิลให้ความเห็นว่า หลายปีที่ผ่านมานี้ อาจารย์ชื่นชมแอปเปิลที่เห็นความสำคัญของผู้ใช้ในประเทศไทยโดยการเพิ่มเสียงพูดภาษาไทยมาด้วย เสียงของนาริสาช่วยอาจารย์ได้มากในการใช้ไอโฟนและไอแพด แต่เมื่อได้รู้ว่าแอปเปิลเลือกใช้เสียง Kanya ใน iOS 7 ทำให้อาจารย์ผิดหวังมาก เนื่องจากความชัดเจนและคุณภาพไม่สามารถเทียบกับนาริสาได้เลย
       
       “ฉันร้องขอให้แอปเปิลนำเสียงนาริสากลับมา”
       
       อาจารย์อิศวรา หรือ @nupomme เป็นหนึ่งในผู้พิการทางสายตาในไทย ที่ใช้เทคโนโลยีครบถ้วนได้อย่างคนปกติ ไม่ว่าจะเป็น Twitter, Facebook หรือแม้แต่การเขียนบล็อก โดยกลุ่มผู้พิการทางสายตาในไทยได้ตั้งแคมเปญในเว็บ Change.org เพื่อเรียกร้องให้แอปเปิลนำเสียงนาริสากลับมาบน iOS อีกครั้ง ผู้สนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอเรื่องนี้ต่อแอปเปิล ด้วยการร่วมลงชื่อ “เห็นด้วย” กับแคมเปญ “Apple Inc.,accessibility@apple.com: Make the Thai TTS of VoiceOver a Higher Quality“ ที่นี่
       
       ***สื่อชม iOS 7 ปรับใหม่รองรับธุรกิจยิ่งขึ้น
       
       iOS 7 ได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบปฏิบัติการที่ปรับโฉมระบบรักษาความปลอดภัยครั้งใหญ่สำหรับการนำไอโฟนหรือไอแพดไปใช้ในการทำงานกับองค์กร ซึ่งครั้งนี้ iOS 7 ทำให้ฝ่ายไอทีขององค์กรสามารถจัดการอุปกรณ์ iOS ของพนักงานไม่ให้เกิดวิกฤติข้อมูลรั่วไหลได้แบบเต็มที่ เรียกว่าปูทางสะดวกให้องค์กรทั่วโลกซื้อไอโฟนหรือไอแพดให้พนักงานใช้ขณะเดินทาง
       
       ตัวอย่างเช่นหากบริษัท ก. แจกไอแพดให้พนักงานขายนำไปใช้เปิดระบบงานของบริษัทเมื่อต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ฝ่ายไอทีของบริษัทนั้นสามารถใช้โปรแกรมพิเศษบล็อกไม่ให้พนักงานเปลี่ยนแปลงหรือลบชื่อบัญชีด้วยไอแพดนั้นได้ เนื่องจากมีโอกาสที่ไอแพดเครื่องนั้นจะถูกขโมยและปั่นป่วนระบบ นอกจากนี้ ฝ่ายไอทีสามารถควบคุมการตั้งค่าอุปกรณ์ของเครื่อง เช่น การเปลี่ยนพื้นหลัง wallpaper, การปิดคุณสมบัติแชร์อินเทอร์เน็ต personal hotspot, การเรียกดูประวัติการเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าย้อนหลัง รวมถึงสามารถปิดระบบ ad tracking หรือระบบติดตามพฤติกรรมผู้ใช้ของโฆษณาต่างๆ
       
       การจัดการเหล่านี้เรียกว่า Mobile Device Management หรือ MDM ซึ่งแม้จะเป็นกระบวนการที่ถูกคิดค้นโดยแบล็กเบอร์รี แต่ต้องยอมรับว่าธุรกิจ MDM นั้นถูกสร้างขึ้นมาด้วยแอปเปิล เนื่องจากแอปเปิลเป็นผู้ปฏิวัติชุดคำสั่ง Blackberry API แล้วลงมือเปิดกว้างให้ชุดคำสั่งนั้นสามารถทำงานร่วมกับระบบโซลูชันจัดการงานไอทีของบริษัทอื่นๆ ได้อย่างเสรี ผลลัพธ์ที่ตามมาคือบริษัทรายอื่น หรือ third party สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจระบบจัดการอุปกรณ์พกพาในองค์กร ซึ่งต้องใช้ระบบจัดการ MDM เหล่านี้เพื่อป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลเมื่อเกิดเหตุพนักงานทำอุปกรณ์หายหรือถูกโจรกรรม

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)