กสทช.เผยดีแทคยอมลดกำลังส่งสัญญาณเครือข่ายความถี่ 850 MHz หลังเกิดปัญหาคลื่นรบกวนกับค่ายมือถือ 'อีทีแอล' ของลาวที่เวียงจันทน์ที่เรือรังมานานกว่า 2 ปี แต่ยอมรับสัญญาณดีแทคจะอ่อนลงบริเวณอุดรธานี-หนองคาย พล.อ.ต.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจิรญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า ภายหลังจากเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประชุมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคว่าด้วยการ ประสานและจัดสรรความถี่วิทยุตามบริเวณชายแดนไทย-ลาว (Joint Technical Committee on Coordination and Assignment of Frequencies ailog Thailand - Laos common Border: JTC) ครั้งที่ 4 ที่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 24-26 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีการหารือในประเด็นปัญหาคลื่นความถี่ที่รบกวนกันระหว่าง 2 ประเทศบริเวณตามแนวชายแดนซึ่งส่งผลทำให้คุณภาพการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้อยลง
ทั้งนี้ปัญหาเกิดจากคลื่นความถี่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ในย่าน 850 MHz ซึ่งมีกำลังส่งสูงเกินไปในบริเวณจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย ส่งผลทำให้ผู้ใช้บริการในลาวที่ใช้บริการจากผู้ประกอบการบริษัท เอ็นเตอร์ไพซ์ ออฟ เทเลคอมมูนิเคชั่น ลาว (อีทีแอล) ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เกิดปัญาหาคลื่นสัญญาณรบกวนกันในบริเวณเวียงจันทน์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของลาว โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานกว่า 2 ปีแล้วส่งผลทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการของ อีทีแอล ย้ายออกจากระบบไปกว่าครึ่ง
อย่างไรก็ตามกสทช.ได้มีการหารือกับดีแทคถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว ซึ่งดีแทคพร้อมที่จะแก้ไขด้วยวิธีการลดกำลังส่งสัญญาณลง โดยพยายามให้การส่งคลื่นไม่เกินครึ่งหนึ่งของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่าง 2ประเทศ แต่การแก้ไขดังกล่าวก็จะส่งผลต่อสัญญาณดีแทคในประเทศไทยที่ลดประสิทธิภาพลงตามไปด้วยโดยเฉพาะบริเวณที่เกิดปัญหาตามชายแดน
ขณะเดียวกันตามแนวชายแดนยังมีปัญหาเรื่องของการใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติระหว่างประเทศ(โรมมิ่ง) เนื่องจากปัจจุบัน มีผู้ใช้ในประเทศไทยจำนวนมากร้องเรียนมาที่กสทช. ว่าโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานอยู่บริเวณชายแดนไปจับคลื่นของผู้ประกอบการฝั่งลาว ทำให้เสียค่าบริการในอัตราโรมมิ่ง และทำให้ค่าบริการแต่ละรอบบิลสูงเกินกว่าปกติ เช่นเดียวกับผู้ใช้บริการในลาวก็เจอปัญหาเดียวกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดกรณีนี้ ผู้ใช้ทั้ง 2ประเทศควรปิดการใช้งานเชื่อมต่อโครงข่ายอัตโนมัติ โดยให้เลือกการตั้งค่าโครงข่ายด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเปิดใช้โรมมิ่งโดยไม่ตั้งใจอีก
'เชื่อว่าในอนาคตเมื่อการเปิดให้บริการ 3G ของผู้ประกอบการไทยครอบคลุมทุกพื้นที่แล้วการใช้คลื่นความถี่จะมีมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นธรรมาดา ดังนั้นในการหารือครั้งหน้าอาจจะต้องมีการหยิบยกประเด็นเรื่องปรับระบบสัญญาณระหว่างกันเพื่อให้ไม่เกิดคลื่นรบกวนกันต่อไป'
นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการหารือในหลักการร่วมกันในการที่จะต้องกำกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทั้ง 2 ประเทศไม่ให้แพร่คลื่นความถี่ล้ำไปยังประเทศเพื่อนบ้านเกินกว่าระยะจากแนวเขตชายแดนที่ตกลงกันไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้โทรศัพท์ข้ามแดนที่ไม่ต้องการ รวมไปถึงการแจ้งจดทะเบียนการใช้คลื่นความถี่ตามแนวชายแดนระหว่าง 2ประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการรบกวนในอนาคต อีกทั้งยังเห็นชอบร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในประเด็นกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นการเฉพาะ โดยมีการกำหนดให้จัดประชุมอย่างน้อยปีละ2ครั้ง เนื่องปัจจุบันการประชุม JTC มีการประชุมเพียงปีละ1ครั้งซึ่งไม่เพียงพอกับการแก้ปัญหา และยังมีการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยเฉพาะในบริเวณชายแดน ไทย-ลาวด้วย ซึ่งในอนาคตจะมีการจัดทำเป็นบันทึกความเข้าใจร่วมกัน(MOU)ต่อไป
Company Related Link :
กสทช.
ที่มา: manager.co.th