The Faces of Facebook เว็บไซต์ที่ออกแบบเป็นแอปพลิเคชันรวมโฉมหน้าชาวเฟซบุ๊ก 1.2 พันล้านคนผู้ใช้จะสามารถคลิกบริเวณใดก็ได้ของเพจเพื่อขยายภาพจุดจิ๋วซึ่งจะเห็นเป็นตารางภาพโปรไฟล์ผู้ใช้เฟซบุ๊ก นักสร้างสรรค์งานเทคโนโลยีชาวอาร์เจนตินาที่ย้ายไปปักหลักในสหรัฐอเมริกา ลงมือออกแบบเว็บไซต์ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเห็นภาพโปรไฟล์ของชาวเฟซบุ๊ก (Facebook) ทั้ง 1.2 พันล้านคนได้ โดยผู้ใช้ทุกคนสามารถค้นหาภาพของตัวเอง ซึ่งลำดับการแสดงภาพจะอิงกับช่วงเวลาในการสมัครใช้งานเฟซบุ๊ก ทำให้ภาพของผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กอย่างมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ถูกแสดงภาพในอันดับที่ 1 เจ้าของไอเดียนี้คือนาตาเลีย โรจาส (Natalia Rojas) นักเทคโนโลยีครีเอทีฟรายนี้ตั้งชื่อเว็บไซต์ที่ออกแบบเป็นแอปพลิเคชันรวมโฉมหน้าชาวเฟซบุ๊ก 1.2 พันล้านคนว่าเดอะเฟซเซสออฟเฟซบุ๊ก (The Faces of Facebook) การแสดงภาพบนเว็บไซต์นี้จะเน้นให้ผู้ใช้สามารถขยายหรือซูมเพื่อชมภาพโปรไฟล์ของผู้ใช้ทุกคนได้อย่างใกล้ชิด โดยตัวเลขในเว็บไซต์มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนภาพผู้ใช้เฟซบุ๊กตลอดเวลา สถิติล่าสุดคือ 1,276,126,928 ภาพ (1 ตุลาคม 2556 เวลา 11.35 น.)
ภาพโปรไฟล์ของชาวเฟซบุ๊กทั้ง 1.2 พันล้านคนถูกแสดงในรูปจุดขนาดจิ๋วบนเว็บเพจเดียว จุดแต่ละแถวสามารถแสดงภาพได้มากกว่า 5 หมื่นภาพ ผู้ใช้จะสามารถคลิกบริเวณใดก็ได้ของเพจเพื่อขยายภาพจุดจิ๋วซึ่งจะเห็นเป็นตารางภาพโปรไฟล์ผู้ใช้เฟซบุ๊ก เมื่อคลิกที่ภาพของผู้ใช้รายใด ระบบจะเปิดหน้าโปรไฟล์เฟซบุ๊กที่ถูกตั้งค่าเป็นสาธารณะ
ชาวเฟซบุ๊กทุกคนสามารถค้นหาภาพตัวเองบนแอปพลิเคชัน The Faces of Facebook หรือ TFOF ได้ด้วยการลงชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านเฟซบุ๊ก เพียงคลิกกดที่ปุ่มรูปปักหมุดบริเวณมุมบนขวาของหน้าจอ เมื่อกรอกข้อมูลแล้วระบบจะแสดงตำแหน่งภาพโปรไฟล์ ซึ่งสามารถคลิกขยายเพื่อชมภาพโปรไฟล์ของตัวเองพร้อมตัวเลขลำดับการแสดงภาพเป็นเลขหลายสิบหลัก เช่นผู้สมัครใช้เฟซบุ๊กช่วงปี 2009 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จะมีลำดับเลขแสดงภาพในช่วง 175,000,000-300,000,000 ตามสถิติผู้ใช้เฟซบุ๊กในขณะนั้น
ทั้งหมดนี้ นักออกแบบหัวใสยืนยันว่าเว็บไซต์ TFOF จะไม่สร้างปัญหาละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เนื่องจากระบบไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนตัว ภาพ หรือชื่อผู้ใช้เฟซบุ๊ก โดยจุดประสงค์ของการสร้างแอปพลิเคชันในรูปเว็บไซต์นี้คือการหาวิธีการแสดงภาพผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้ง 1.2 พันล้านคน และจัดกลุ่มภาพตามลำดับเวลาที่สมัครใช้งาน จุดนี้ทำให้ผู้ก่อตั้งอย่างมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก กลายเป็นเจ้าของภาพโปรไฟล์ที่ถูกแสดงในอันดับที่ 1
อย่างไรก็ตาม การทดสอบพบว่าลำดับการแสดงภาพในการค้นหาแต่ครั้งนั้นไม่คงที่ โดยจะเปลี่ยนแปลงในช่วงหลักแสน เช่น หากค้นหาครั้งแรกได้ #362,467,600 อาจเป็น #362,630,437 ในการค้นหาครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดของระบบซึ่งทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่า ลำดับที่ค้นพบคือลำดับการสมัครใช้งานบนเฟซบุ๊กที่แท้จริง
ตัวแอปยังเปิดให้ชาวเฟซบุ๊กสามารถแบ่งปันตำแหน่งภาพให้เพื่อนได้ร่วมสนุก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลจากการเขียนชุดคำสั่งด้วยภาษา HTML5, Javascript, CSS, jQuery, EaseIJS, Ajax, FBAPI, PHP และ MySQL
ข่าวคราวล่าสุดของเฟซบุ๊กในขณะนี้คือการขยายความสามารถของบริการค้นหาซึ่งเฟซบุ๊กตั้งชื่อว่า "กราฟเสิร์ช (Graph Search)" เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อความหรือข้อมูลที่ต้องการได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ทั้งข้อความอัปเดทสถานะ (status update), คำบรรยายภาพ (photo caption), สถานที่ที่เช็คอิน (check-in) และความเห็นต่างๆ (comment) โดยความสามารถเหล่านี้เริ่มใช้งานได้แล้วในบางประเทศตั้งแต่วันจันทร์ที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา
ที่มา: manager.co.th