"เมแกน ยัง" สาวงามวัย 23 ปีตัวแทนของประเทศฟิลิปปินส์คือผู้คว้ามงกุฎ "มิสเวิลด์" ครั้งล่าสุด ในการประกวดซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ท่ามกลางกระแสประท้วงของชาวมุสลิมจำนวนหนึ่งของประเทศ ที่เชื่อว่าการประกวดความงามผิดต่อหลักศาสนาอิสลาม โดยตัวแทนของฝรั่งเศสได้ตำแหน่งรองอันดับ 1 และประเทศกานาเป็นรองอันดับ 2 ส่วนตัวแทน บราซิล, สเปน และยิบรอลตาร์คือผู้ที่ผ่านเข้ารอบ 6 คนสุดท้ายมาได้ด้วย สำหรับสาวงามเจ้าภาพอินโดนีเซียทำดีที่สุดคือการผ่านเข้ารอบ 10 คนสุดท้าย
สาวลูกครึ่งฟิลิปปินส์/สหรัฐฯ เมแกน ยัง ที่พอจะมีชื่อเสียงอยู่ในวงการบันเทิงที่บ้านเกิดของเธออยู่แล้ว ตัดสินใจขึ้นประกวดมิสเวิลด์ฟิลิปปินส์ในช่วงต้นปี 2013 ก่อนจะได้เป็นตัวแทนของประเทศ สำหรับการประกวดมิสเวิลด์ในปีเดียวกัน ที่ปีนี้มาจัดกันที่ประเทศเพื่อนบ้านของฟิลิปปินส์อย่างอินโดนีเซีย ก่อนจะเอาชนะผู้เข้าประกวดอีก 126 คนจากทั่วโลก เป็นสาวงามฟิลิปปินส์คนแรกที่คว้ามงกุฏมิสเวิลด์ได้ในที่สุดในการประกวดเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 28 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น
ในรอบตอบคำถามที่สาวงามผู้เข้ารอบต้องตอบคำถามที่ว่า "ทำไมคุณควรได้เป็น มิสเวิลด์" สาวงามตัวแทนจากฟิลิปปินส์กล่าวว่า "ฉันให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ และอยากจะชี้นำให้ผู้คนได้เห็นว่า เหตุใดพวกเขาถึงปฏิบัติตัวกันไปแบบนั้น ... ฉันจะใช้ตำแหน่งนี้ในการแสดงให้พวกเขาได้เข้าใจกันได้มากขึ้น เป็นหนึ่งเดียวกัน เราสามารถช่วยเหลือสังคมได้ค่ะ"
การประกวดมิสเวิลด์ในปีนี้เป็นข่าวใหญ่มาตั้งแต่หลายเดือนก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อกองประกวดตัดสินใจตัดการโชว์ตัวในรอบชุดว่ายน้ำของสาวงามออก และให้ผู้เข้าประกวดทุกคนใส่โสร่งกับชุดว่ายน้ำวันพีซในการประกวดรอบแฟชั่นชายหาดแทน เพื่อลดกระแสความไม่พอใจของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในประเทศอินโดนีเซีย ที่เชื่อว่าการอวดเนื้อหนังมังสาของหญิงสาว และมองสตรีเป็นเพียงวัตถุ ถือเป็นเรื่องผิดหลักศาสนาอิสลาม
แต่เมื่อการเก็บตัวของสาวงามเริ่มต้นขึ้นกระแสความไม่พอใจของประชาชนชาวอินโดนีเซียก็ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ เกิดการประท้วงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มมุสลิมที่เคร่งครัดน้อยกว่า ก็เริ่มเห็นด้วยกับการประท้วงมากขึ้น
ท้ายที่สุดก่อนหน้าการประกวดในรอบสุดท้ายเพียง 3 สัปดาห์ รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้ตัดสินใจให้ย้ายการประกวดในรอบสุดท้าย ไปจัดกันที่เกาะบาหลีแทนที่จะเป็นเขตรอบนอกของกรุงจาการ์ตาอย่างที่ตระเตรียมเอาไว้ตอนแรก เพราะประชากรในเมืองท่องเที่ยวชายหาดอย่างบาหลี ดูจะต้อนรับการประกวดมากกว่ากลุ่มเคร่งศาสนาที่มีอยู่จำนวนมากในจาการ์ตา
ถึงขั้นที่ว่าในช่วงของการประกวดสถานทูตของทั้งออสเตรเลีย, อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ต่างออกคำเตือนประชาชนของตัวเอง ให้ระวังตัวหากมีแผนจะมาเยือนบาหลีในช่วงที่มีการประกวดมิสเวิลด์ โดยประเทศเหล่านี้กล่าวว่าอาจมีการประท้วงใหญ่ หรือแม้กระทั่งเหตุโจมตีเกิดขึ้นในช่วงนี้ได้
พันตรีอูมาร์ ฟาร็อค ผู้อำนวยการหน่วยรักษาความปลอดภัย ของตำรวจบาหลีกล่าวว่าได้มีการเตรียมกำลังพลหลักพันนายสำหรับการประกวดมิสเวิลด์ในรอบสุดท้าย ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าได้มีการตรึงกำลังเอาไว้ที่ชายฝั่งด้านเหนือของเกาะชวาตะวันออกมากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประท้วงเดินทางเข้ามาจากเกาะอื่น ๆ นั่นเอง ... "ความสำเร็จของการดูแลรักษาความปลอดภัยในการจัดมิสเวิลด์รอบสุดท้าย จะเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการดูแลรักษาความปลอดภัยของการประชุม APEC ต่อไป" พันตรี ฟาร็อค กล่าวอ้างอิงถึงการจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะจัดขึ้นในบาหลีเช่นเดียวกัน และจะมีผู้นำจากทั่วโลก รวมถึงประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกาเดินทางมาที่นี่
ปัญหาในการประกวดมิสเวิลด์ คือภาพการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมจากต่างชาติ และความเชื่อทางศาสนาในประเทศนี้ครั้งล่าสุด แม้ตามปกติมุสลิมชาวอินโดนีเซีย ที่ถือว่าเป็นประเทศซึ่งมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก จะได้ชื่อว่าค่อนข้างเปิดรับวัฒนธรรมภายนอกก็ตาม แต่กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ก็ยังคงมีอิทธิพลต่อรัฐบาลของอินโดนีเซีย
เมื่อปีก่อน กลุ่มแนวหน้าปกป้องศาสนาอิสลาม ก็เคยเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการต่อต้านคอนเสิร์ตของ เลดี้ กาก้า จนทำให้ศิลปินหญิงคนดังระดับโลกยกเลิกคอนเสิร์ตในอินโดนีเซียมาแล้ว หลังมีผู้นำทางศาสนาออกมาโจมตีว่าเธอเป็นพวก "บูชาปีศาจ"
ที่มา: manager.co.th