ไอเอ็มซีสำรวจความพร้อมของไทยใน 4 เทคโนโลยี พบยังล้าหลังญี่ปุ่นในเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์อยู่ถึง 4 ปี แม้จะมีการใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นจำนวนมาก แนะแนวโน้มการแข่งขันควรมุ่งพัฒนาแอปฯบนมือถือเพื่อตอบสนองตลาดที่กำลังโตจะมีโอกาสมากกว่า เผยธุรกิจไทยให้ความสำคัญกับ Emerging Technology เพราะเห็นโอกาสทางการตลาด แต่ยังขาดบุคลากรเก่งๆ ส่วนคลาวด์ในไทยยังอีกไกลเหตุยังไร้แผนพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้งาน ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) กล่าวว่า สถาบันไอเอ็มซี ร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ทำการวิจัยเชิงสำรวจในหัวข้อ “Emerging Technology: Thai IT Professional Readiness Survey” เพื่อศึกษาถึงภาพรวมและความพร้อมของประเทศไทยเกี่ยวกับการใช้งานทางด้านซอฟต์แวร์ และการพัฒนาเทคโนโลยีก่อกำเนิด (Emerging Technology) เพื่อให้สามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆเพื่อการแข่งขันในเวทีโลก รวมไปถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะมาถึง
การสำรวจดังกล่าวมุ่งศึกษาความพร้อมในเข้าถึง 4 เทคโนโลยีใหม่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย ทักษะของบุคลากรในด้านภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม ด้านการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์บนคลาวด์เทคโนโลยี และด้านการพัฒนาเทคโนโลยีก่อกำเนิดอื่นๆ โดยมีการศึกษาในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2556 มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างกว่า 100 บริษัทในประเทศไทย
ผลสำรวจที่น่าสนใจพบว่า องค์กรต่างๆตระหนักถึงความสำคัญของ Emerging Technology เพราะเห็นโอกาสทางการตลาด แต่ปัญหาสำคัญคือขาดบุคลากรที่มีความเข้าใจทางด้านนี้เพียงพอ นอกจากนี้ยังพบว่า ธุรกิจไทยมีความสนใจที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันบนโมบายสูงสุด ในขณะที่ระบบคลาวด์ยังไม่ได้เติบโตเหมือนตลาดอื่นแถมยังคงขาดแคลนบุคลากรนักพัฒนาซอฟต์แวร์มือดี รวมไปถึงยังไม่มีแผนงานธุรกิจที่ชัดเจน
“ปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะดูเหมือนว่ามีการใช้งานสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ กันมากขึ้น แต่หากพิจารณาทางด้านการใช้งานซอฟต์แวร์แล้วจะเห็นได้ว่ายังมีความล้าหลังในหลายๆ ด้าน ซึ่งเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นแล้วการใช้งานซอฟต์แวร์ของไทยยังคงล้าหลังกว่าประมาณ 4-5 ปี โดยเฉพาะการใช้งานคลาวด์ที่ยังมีการใช้งานน้อย และไม่มีการพัฒนาบุคลากรซอฟต์แวร์เพื่อใช้บนคลาวด์คอมพิวติงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ในส่วนอื่นๆ ยังพบว่าใน 4 เทคโนโลยีสำคัญนั้น ไทยยังมีจำนวนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในแต่ละองค์กรยังมีน้อย โดยบางเทคโนโลยีมีนักพัฒนาน้อยกว่า 10 คนในหนึ่งองค์กร”
ดร.ธนชาติ กล่าวว่า แนวโน้มของการแข่งขันที่ไทยจะสามารถพัฒนาต่อไปได้คือ การมุ่งพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ เนื่องจากในปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้กำลังจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัว และจะสามารถสร้างรายได้ให้ในอนาคต ในขณะที่ธุรกิจของไทยเองได้มีการเพิ่มบุคลากรพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันมากกว่าเทคโนโลยีด้านอื่นๆ อยู่แล้ว จึงน่าจะสร้างโอกาสได้ไม่ยาก
ทั้งนี้จากผลการสำรวจพบว่านักพัฒนาส่วนใหญ่ให้ความสนใจที่ขยายตัวด้าน iOS มากที่สุด จากปัจจุบันที่มีการพัฒนาบนระบบ iOS และ Android ในจำนวนที่เท่ากัน คือ 51.69% ตามมาด้วย Windows 24.72% แต่กระแสใหม่คือ เริ่มสนใจพัฒนา HTML5 เป็นแอปพลิเคชันแบบ Cross Platform ในจำนวนถึง 50.56%
สำหรับผลการวิจัยในส่วนอื่นๆ อย่างในด้านภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม (Computer Programming Language) พบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ยังนิยมใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ PHP, Java และ .NET โดยภาษาทั้งสามได้รับความนิยมเป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างนั้น ได้แก่ PHP 65.17% Java 62.92% และ .NET 61.80%
ทางด้านคลาวด์คอมพิวติงเทคโนโลยี (Cloud Computing Technology) ที่เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวาง แต่ผลจากการสำรวจพบว่าแนวโน้มการพัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud Platform ยังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย และส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนงานในการขยายบุคลากรซอฟต์แวร์อย่างชัดเจน โดยแพลตฟอร์มที่หน่วยงาน/บริษัทมีบุคลากรที่มีทักษะในการพัฒนามากที่สุดคือ Google App Engine เพียง 22.47% และ Microsoft Azure จำนวน 19.10% ตามมาด้วย Amazon Web Services 13.48% และ Heroku 5.62%
สำหรับเทคโนโลยีก่อกำเนิดอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของบริษัทไทย พบว่ามีบุคลากรพัฒนาด้าน Business Intelligence (BI) มากที่สุด ถึง 58.42% ตามด้วย Facebook Application Development 33.71% noSQL 21.35% และ Big Data 17.98% อย่างไรก็ตามบริษัทส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนงานทางด้านนี้อย่างชัดเจนนัก โดยปัญหาหลักในการพัฒนาเทคโนโลยี คือการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถ 76.40% ขาดแคลนแหล่งความรู้ / การฝึกอบรม 49.44%, ขาดงบประมาณ 42.70% , เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถก้าวตามได้ทัน 31.46%, ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ 25.84%, และยังมองไม่เห็นโอกาสทางการตลาด 16.8%
Company Relate Link :
IMC
ที่มา: manager.co.th