ในยุคเทคโนโลยี 3จี เกิดขึ้น พฤติกรรมการใช้งานบนโลกออนไลน์ของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผ่านมือถือ และแท็บเล็ต ที่มีช่วงเวลาในการใช้งานยาวนานและสม่ำเสมอขึ้น โดยเฉพาะออฟฟิศเลดี้จะเพลิดเพลินกับการชอปปิ้งออนไลน์เป็นอย่างมาก เพราะด้วยการทำงานที่เร่งรีบ สภาพการจราจรติดขัด นับวันมีเวลาไปเดินวินโดวส์ชอปปิ้งน้อยลง การจะซื้อของผ่านแอปฯ จึงเป็นทางเลือกที่ตอบสนองความต้องการได้ดีที่สุด จึงได้เกิดแนวคิดและพัฒนาแอปพลิเคชันจนกลายเป็น Fingshop แอปฯ ที่เสมือนเดินชอปปิ้งย่านดังผ่านปลายนิ้วสัมผัส นายเมธี สุขสง่าเจริญ ประธานกรรมการ บริษัท พอร์ทเทเบิ้ล ดิจิตอล บ๊อกซ์ ผู้พัฒนา Fingshop กล่าวว่า จากแนวคิดที่อยากสร้างร้านค้าที่ให้บรรยากาศเหมือนเดินชอปปิ้งมีหลายร้านค้าที่เข้าไปดูสินค้าได้ ด้วยการย่อโลกการชอปปิ้งอยู่บนสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์พกพา จึงได้ร่วมมือกับบริษัท โคดแอพ พัฒนาแอปพลิเคชันภายใต้ชื่อ Fingshop ซึ่งช่วยทั้งร้านค้าให้มีระบบจัดการสินค้า คำนวณต้นทุนค่าขนส่ง และมีระบบแจ้งเตือน 2 ทาง คือทั้งร้านค้า และลูกค้า จะได้รับการแจ้งเตือนเรื่องของสินค้าตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ
สำหรับการเดินชอปปิ้งด้วยปลายนิ้ว นี่คือจุดแตกต่างของ Fingshop ที่ไม่ใช่มาร์เกตเพลส มีร้านมีสินค้าคลิกๆ เท่านั้น แต่มีการออกแบบสเตชันหรือสถานีต่างๆ ไว้ 10 แห่ง แต่ละสเตชันจะมี 10 ซอย และแต่ละซอยจะมีร้านค้า 10 ร้าน แปลว่าทั้งแอปฯ นี้มีร้านค้าทั้งหมด 100 ร้านค้า เมื่อผู้ใช้คลิกเข้าไปที่สเตชันใดก็ตามก็ต้องเลือกซอยที่จะเข้าไปเดิน จากนั้นในซอยนั้นก็จะมีร้านค้า 10 ร้านที่สามารถใช้นิ้วสไลด์ผ่านไปทีละร้าน ถ้าหน้าร้านไหนน่าสนใจก็คลิกเข้าไปดูสินค้าในร้าน หรือจะออกมาแล้วเดินไปดูร้านต่อไปก็ได้เช่นกัน
“การใช้ Fingshop ให้อารมณ์เหมือนเดินสยามสแควร์ เดินจตุจักร ที่มีหลายๆ ร้านให้เลือกดู ถ้าร้านแรกได้รับความนิยม คนมาแวะดูบ่อยๆ โอกาสที่ร้านใกล้เคียงกันจะมีคนสนใจคลิกเข้าไปดูด้วยก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน นี่คือความสนุกของการใช้ Fingshop แอปฯ ชอปปิ้งที่ไม่ใช่เป็นแค่การซื้อขายธรรมดา”
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ร้านค้าสอดคล้องกับลูกค้าเป้าหมาย จึงเน้นร้านค้าที่เน้นแฟชั่นผู้หญิงเป็นหลัก 80% แต่ความแตกต่างคือ โดยเฉพาะแบรนด์ไทยที่เจ้าของธุรกิจหรือนักออกแบบพัฒนาแบรนด์และสินค้าขึ้นมาเองเป็นหลัก เนื่องจากต้องการสนับสนุนแบรนด์ของคนไทย นอกจากนั้นจะมีบางส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่าย ส่วน 20% สุดท้ายเป็นสินค้าทั่วไป
ปัจจุบันมีร้านค้าอยู่ในแอปฯ แล้วประมาณ 200 ร้านค้า และอยู่ระหว่างการคัดเลือกร้านค้าใหม่ๆ เข้ามาในแอปฯ คาดว่าปลายปีนี้น่าจะขยายได้ถึง 500 ร้านค้า ซึ่งทางแอปฯ มีระบบวัดผลให้ร้านค้าอย่างชัดเจน โดยเจ้าของร้านสามารถตรวจสอบได้เลยว่ามีคนเข้ามาร้านจำนวนเท่าใดในแต่ละวัน มีสินค้าชิ้นไหนบ้างที่ลูกค้าสนใจคลิกเข้ามาดู เพื่อช่วยในการทำตลาดในวันถัดๆ ไป โดยทาง Fingshop มีการจัดเก็บค่าเช่าร้าน 300 บาทต่อเดือนในปีแรก และจะเพิ่มเป็น 500 บาทต่อเดือนในปีต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่มากนักหากสินค้าในแอปฯ สามารถขายได้ดี
สำหรับคนที่อยากลองใช้งาน Fingshop ขณะนี้รองรับเฉพาะระบบไอโอเอสเท่านั้น และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบแอนดรอยด์ และในช่วงแรกจะยังไม่มีการซื้อขายผ่านแอปฯ โดยตรง แต่จะใช้ระบบแจ้งจองสินค้าผ่านแอปฯ จากนั้นใช้การโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม หรืออินเทอร์เน็ตก็ได้ จากนั้นผู้ซื้อสามารถแจ้งโอนผ่านทางแอปฯ ไปยังผู้ขายเพื่อนำไปสู่การจัดส่งสินค้า แต่ในอนาคตมีแผนพัฒนาให้สามารถซื้อขายผ่านแอปฯ ได้โดยตรงด้วย
“จากการสำรวจพบว่าคนไทยไม่นิยมจ่ายเงินโดยตรงผ่านแอปฯ เพราะยังไม่มั่นใจในระบบ ดังนั้น Fingshop จึงยังไม่รีบพัฒนาในส่วนนี้ออกมา ผู้ซื้อยังใช้วิธีโอนเงินปกติได้ แต่ตัวแอปฯ มีระบบแจ้งเตือนระหว่างผู้ซื้อผู้ขายได้ตลอดเวลา”
สุดท้าย จากการเริ่มต้นด้วยลูกค้าประจำหลักพันราย Fingshop เชื่อว่าด้วยระบบที่พร้อม กับการบอกแบบปากต่อปากจะช่วยให้ Fingshop เป็นที่นิยมมากขึ้น และมีแผนที่จะพัฒนาแอปฯ ไปให้บริการในต่างประเทศ เช่น จีน ซึ่งนอกจากจะขยายลูกค้าผู้ซื้อแล้ว ยังช่วยร้านค้าสินค้าแบรนด์ไทยให้มีโอกาสพบลูกค้าต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
ที่มา: manager.co.th