ห้างพันธ์ทิพย์พลาซ่า สาขาประตูน้ำ
หลังกบฎแดงเผาผลาญบ้านเมืองวอดวาย ทำลายภาพลักษณ์ประเทศ ธุรกิจเสียหายยับเยิน ธุรกิจไอทีก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ผู้คนในวงการต่างหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการไอทีด้วยกัน
'ตั้งแต่มีการชุมนุมเมื่อกลางเดือนมี.ค.ยอดขายลดลงเล็กน้อย จนถึงวันที่ 3 เม.ย.ที่มีการตั้งเวทีราชประสงค์ ลูกค้าทยอยลดลงต่อเนื่อง จนกระทั่งมีการมารวมตัวปิดราชประสงค์ทำให้ยอดขายลดลงถึง 30% บางรายมากกว่า 50% พอถึง 13 พ.ค.ที่เกิดความรุนแรงมากขึ้น จนต้องมีการปิดตัวไปจนถึง 23 พ.ค.รวม 10 วัน ทำให้ผู้ค้าไอทีได้รับความเสียหายมาก' วิษณุ หวังวิสุทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ กลุ่มศูนย์การค้าและตลาด บริษัท พันธุ์พัฒน อาร์เขต ผู้บริหารศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า กล่าว
ปกติยอดขายวันหนึ่งในห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่าได้หลายสิบล้านบาท ปิด 10 วัน หายไปหลายร้อยล้านบาท เมื่อมีการปิดตัวผู้ค้าบางรายมีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย จึงต้องอัดฉีดให้ลูกค้ามีกระแสเงินสดหมุนเวียน หรือแคชโฟว์ โดยต้องดูแลลูกค้าให้อยู่ได้ เพราะถ้าลูกค้าอยู่ได้ห้างก็อยู่ได้
จากแนวคิดดังกล่าว พันธุ์ทิพย์พลาซ่าจึงหาแนวทางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเยียวยาลูกค้าโดย 1.ลดค่าเช่าตั้งแต่เดือนเม.ย.ลง 30% 2.ช่วยประสานงานกับภาครัฐเกี่ยวกับค่าเสียหายให้กับผู้ที่ยังไม่ได้ติดต่อกับหน่วยงานรัฐ โดยสามารถติดต่อผ่านพันธุ์ทิพย์พลาซ่าได้ 3.เร่งฟื้นฟูธุรกิจไอทีซึ่งเป็นที่มาของแคมเปญ “Pantip Unity Sale” ที่ตั้งแต่ 26 พ.ค. ถึง 6 มิ.ย.เพื่อเร่งฟื้นฟูธุรกิจไอทีย่านประตูน้ำ ราชประสงค์ หลังได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยร่วมกับผู้ค้าสินค้าไอทีทุกแบรนด์
เดิมศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่ามีลูกค้าวันละ 3 หมื่นคน ถ้าเป็นเสาร์-อาทิตย์ประมาณ 4 หมื่นคนต่อวัน พอผ่านเดือนเม.ย.ยอดลูกค้าหายไป 50% และลดลงต่อเนื่องเมื่อถึงเดือนพ.ค. แต่โชคดีที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่าอยู่ระหว่างกลางของกลุ่มผู้ชุมนุมกับบังเกอร์รัฐ จึงไม่มียางรถยนต์มากองที่หน้าห้าง และเจ้าหน้าที่ห้างก็มีการดูแลอย่างดี
'สินค้าประเภทไอทีเปลี่ยนเร็วมาก มีรุ่นใหม่ๆ ดีไซน์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้อายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี การปิดห้างทำให้สินค้าบางประเภทตกรุ่น ค้างสต็อกบ้าง จึงต้องมีการระบายสินค้า แต่ไม่ใช่ว่าคุณภาพไม่ดี เป็นสินค้าดีมีคุณภาพ เพียงแต่อาจจะตกรุ่น'
สำหรับร้านค้าในศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์หลักๆ มี 600 ร้าน ถ้ารวมร้านเล็กๆ มีประมาณ 800 ร้าน ทั้งนี้จากการจัดงานดังกล่าวได้มีการใช้งบประมาณ 3-4 แสนบาท สำหรับทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ไม่คิดรวมค่าเช่าพื้นที่ปกติที่มีรายได้จากการเปิดฮอลล์รวมแล้วประมาณกว่า 10 ล้านบาท
จากการจัดแคมเปญครั้งนี้ผู้บริหารพันธุ์ทิพย์คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 1 พันล้านบาท แต่ถ้าสภาพการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ไม่ดีขึ้น พันธุ์ทิพย์พลาซ่ามีแผนจะยืดการจัดโปรโมชันตรงนี้ออกไป ซึ่งโปรแกรม 2 คาดว่าจะเริ่มได้ช่วง 3-11 ก.ค.นี้ ภายใต้แคมเปญ “พันธุ์ทิพย์ ฮอต เซลส์” ที่มีการนำสินค้าหลากหลายแบรนด์มาลดราคา เพื่อตอบแทนลูกค้า ซึ่งโดยเฉลี่ยก็มีการจัดปีละ 3 ครั้ง สำหรับ 3 สาขาในกรุงเทพฯคือ สาขาประตูน้ำ งามวงศ์วาน และบางกะปิ
กิจกรรมลักษณะนี้ผู้บริหารพันธุ์ทิพย์เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ และสามารถพลิกฟื้นลูกค้ากลับมา เพราะไอทีเป็นสินค้าที่ยังมีความต้องการใช้ของผู้บริโภค และมีรุ่นใหม่ๆ ออกมาล่อตาล่อใจ อย่างไอโฟน ไอแพด เป็นต้น
นอกจากนี้ ในส่วนของดิจิตอลเกตเวย์ แม้จะไม่ถูกเพลิงเผาผลาญ แต่กลุ่มพันธุ์ทิพย์ก็มีมาตรการเกี่ยวกับความช่วยเหลือค่าเช่า ให้การสนับสนุนการขาย โดยร่วมมือกับจุฬาฯจัดให้มีมหกรรมการขาย ใช้พื้นที่ของสยามสแควร์ทั้งหมด ซึ่งจัดให้ประมาณ 100 กว่าบูธตั้งแต่ชั้น 1-5 ขั้นต้นใช้เวลา 1 เดือนในการสนับสนุนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรต้องดูผลตอบรับก่อน ถ้าดีก็จะมีดำเนินการต่อเพื่อให้สยามสแควร์พลิกฟื้นโดยเร็ว
'โดยภาพรวมของตลาดไอทีคาดว่าจะยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และปีนี้ไม่น่าจะโตต่ำกว่า 15-20% และถ้าเหตุบ้านการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติน่าจะโตอย่างรวดเร็ว'
ด้านผู้ประกอบการอย่างเอเซอร์ คอมพิวเตอร์ ก็ได้รับผลกระทบจากเพลิงแดง โดยเฉพาะหน้าร้าน จึงมีแผนเยียวยาให้กับคู่ค้า โดยให้เครดิตไลน์ เช่น ยืดเวลาการจ่ายให้ และมีการทำโปรโมชันพิเศษ อย่างความร่วมมือกับพันธุ์ทิพย์พลาซ่า มีการขายโน้ตบุ๊กลดราคาเหลือเครื่องละ 8-9 พันบาท อุปกรณ์เสริมก็ลดราคาลงมาก บางประเภทแทบขาดทุนเพื่อระบายสต็อก เพื่อให้ลูกค้าหาซื้อได้คล่องขึ้น
'ที่เซ็นทรัลเวิลด์เรากระทบไม่มาก แต่อีกส่วนที่เรากระทบคือพันธุ์ทิพย์ที่ปิดๆ เปิดๆ แต่โดยรวมแล้วเชื่อว่าไม่กระทบกับยอดขายปลายปี เพราะมีศูนย์ไอทีรอบนอกที่ตลาดยังโตต่อเนื่อง” นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาด เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ กล่าว
ขณะที่อินเตอร์แบรนด์อย่างฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) หรือเอชพี สมชัย สูงสง่า ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจภาพและการพิมพ์ เอชพี กล่าวว่า ที่เอชพีได้รับผลกระทบมี 2 ส่วนที่โดนตรงๆ คือ 1.บริเวณร้านค้าที่สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ ที่เปิดบริการไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีดิจิตอล เกตเวย์ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า จามจุรีสแควร์ ส่วนต่างจังหวัดก็จะเป็นไอทีมอลล์ต่างๆ เพราะคนไม่กล้าเดิน เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ผู้ค้าก็ต้องย้ายสินค้าคงคลังให้ไปอยู่ที่ปลอดภัย เช่น ร้านสปีดก็ให้ลูกค้าไปซื้อที่ฟอร์จูน หรือร้านที่อยู่นอกเมืองแทน เป็นต้น ส่วนที่ 2. ที่ได้รับผลกระทบคือ รอบๆ การชุมนุมจนต้องติดป้ายให้ลูกค้าไปหาซื้อสาขาอื่นแทน
'ที่กระทบยอดขายเราคือที่ออกหน้าร้าน คอนซูเมอร์หน้าร้าน และโลว์เอนด์ที่ชะงักไปเลย แต่โชคดีว่าเรามีสินค้าที่หลากหลาย มีพอร์ตโพลิโอที่ใหญ่ และร้านที่ไม่อยู่ในบริเวณการชุมนุมก็มีการเปิดขายปกติ'
ส่วนแผนการฟื้นฟูจากผลกระทบ เอชพีมีการออกโปรโมชันทั้งในส่วนของช่องทางจัดจำหน่าย และเอนด์ยูสเซอร์ โปรแกรม ซึ่งการจัดโปรโมชันครั้งนี้เอชพีทำทั่วประเทศ เพื่อให้ยอดขายเดินได้เร็ว ในส่วนของคู่ค้า อย่างโฮลเซลส์ก็จะมีการยืดหยุ่นเงื่อนไขการจ่ายเงิน เป็นต้น
ที่มา: manager.co.th