“กันตนา” ทุ่ม1,000 ล้านบาท ผุดโรงภาพยนตร์ชุมชน "กันตนา ซีนีเพล็กซ์" หวังกู้ชีพหนังไทย ลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ต่อยอดธุรกิจภาพยนตร์แบบครบวงจร เจาะกลุ่มรากหญ้าทุกหัวอำเภอ ตั้งเป้า 1,000 แห่ง คาดรายได้ปีแรก 200-300 ล้านบาท 5 ปีคุ้มทุน พร้อมต่อยอดสู่ระดับอีโคโนมี่ ออฟ สเกล ผุดทั่วเอเชีย ประเดิมใน 6ประเทศอาเซียน นายจาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงทุนไปกว่า 150 ล้านบาท สำหรับโครงการโรงภาพยนตร์ชุมชน (One Frame,One Culture)มาได้ 2-3ปีแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการรับชมภาพยนตร์ระหว่าชุมชนเมืองและต่างจังหวัด สร้างวันฒธรรมการรรับชมภาพยนตร์ของไทยให้กลับมาอีกครั้ง ที่สำคัญเพื่อช่วยอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้กลับมาเติบโตได้ รวมถึงช่วยลดการละเมิดลิขสิทธิ์ได้อีกส่วนหนึ่ง เพราะถ้าตั๋วหนังถูกลงจะช่วยให้การซื้อแผ่นผีลดลงตามไปด้วย ขณะที่ราคาตั๋วหนังที่เหมาะสม คือ 10%ของค่าแรงขั้นต่ำ
ล่าสุดบริษัทใช้งบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับการลงทนโรงภาพยนตร์ชุมชน กันตนา ซีนีเพล็กซ์ จำนวน 1,000 แห่งทั่วประเทศไทย โดยได้จัดตั้งบริษัท เอเชีย ซีนีม่า เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ ACN เป็นผู้ดูแล ซึ่งโมเดลโรงภาพยนตร์ชุมชนนี้ ต่อสาขาจะลงทุน 1.3 ล้านบาท เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างกันตนาและผู้ประกอบการท้องถิ่น ลักษณะ 50%เท่าๆกัน ประมาณ 2-3 ปีคุ้มทุน โดยมีขนาดไม่เกิน 50 ที่นั่ง ราคาตั๋วหนัง 30 [าทต่อที่นั่ง ขณะนี้มีผู้สนใจกว่า 500 แห่งแล้ว คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จนถึงปีหน้าจะขายได้กว่า 1,000 แห่งตามเป้า
ส่วนรายได้จากการฉายภาพยนตร์นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ สายหนัง 50% เจ้าของโรงหนัง 40% และกันตนา 10% ทั้งนี้ในส่วนของโฆษณาก่อนหนังฉาย และการโฆษณาภายในตัวโรงภาพยนตร์จะเป็นของกันตนาทั้งหมด ส่วนเจ้าของโรงหนังนอกจากจะมีรายได้จากตั๋วหนังแล้ว ยังหารายได้เพิ่มจากการให้เช่าพื้นที่ การขายอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึง การโฆษณาภายนอกอาคาร เป็นต้น โดยกันตนาคาดว่าจะมีรายได้จากโฆษณาปีละ 200-300 ล้านบาท หรือน่าจะคุ้มทุนภายใน 5 ปี
"ภาพยนตร์ที่จะนำมาฉายส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์ไทยและเอเชี่ยน ทั้งนี้เพื่อต้องการยกระดับภาพยนตร์ไทยและอาเซียนให้เติบโตขึ้น ซึ่งอาจจะล่าช้ากว่าโรงภพยนตร์ขนาดใหญ่เล็กน้อย โดยจะเป็นการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมมายังโรงหนังแต่ละแห่ง ส่งผลให้ไม่มีค่าใช้จ่ายทางด้านขนส่ง อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ที่สำคัญถือเป็นโมเดลการต่อยอดธุรกิจการสร้างภาพยนตร์ของกันตนาที่ทำให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น"
นายจาฤก กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามโมเดลดังกล่าวยังถูกนำเสนอในหลายประเทศอาเซียน โดยขณะนี้ได้มีหลายประเทศให้ความสนใจแล้ว ถือเป็นอีโคโนมี่ ออฟ สเกล ที่บริษัทต้องการดำเนินการไปพร้อมๆกันในหลายประเทศ ส่วนสำคัญจะช่วยให้ต้นทุนลดลง อีกทั้งยังช่วยเข้าถึงกลุ่มผู้ชมระดับรากหญ้าได้เร็วยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ 6 ประเทศ คือ เวียดนาม 1,000 แห่ง, พม่า 500 แห่ง, เขมร 200 แห่ง, ลาว 50 แห่ง เป็นต้น
ที่มา: manager.co.th