ผลการศึกษาที่ทางไอดีซีทำการสำรวจอัตราการเพิ่มขึ้นของข้อมูลดิจิตอลประเมินว่า ข้อมูลดิจิตอลที่สร้างขึ้นโดยประชากรในโลก ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ มากเท่ากับการ 'ทวิต' อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 100 ปี หากนำข้อมูลดังกล่าวมาใส่ไว้ใน 'ไอแพด' ขนาด 16 กิกะไบต์ จะใส่ได้เต็มถึง 75,000 เครื่อง ส่งสัญญาณให้เห็นว่า 'ระบบสตอเรจ' ที่ใช้เก็บข้อมูลในหน่วยงานบริษัทห้างร้านขนาดต่างๆ จะต้องมีประสิทธิภาพสูงเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของข้อมูลดิจิตอลดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ตลาดสตอเรจเนื้อหอมขึ้นมาทันที ปัจจุบันผู้เล่นแบรนด์ดังๆ ในตลาดสตอเรจปัจจุบัน มีอยู่ไม่มาก ไม่ว่าจะเป็น ไอบีเอ็ม อีเอ็มซี เน็ตแอป ฮิตาชิ โดยผู้เล่นในตลาดดังกล่าวต่างก็มีจุดเด่นในตลาดของตนเอง โดยเฉพาะ 'อีเอ็มซี' ถือเป็นบริษัทที่มาแรงในตลาด โดยสามารถขายระบบสตอเรจในส่วนของฮาร์ดแวร์เป็นอันดับต้นๆ ของตลาด
อีเอ็มซีมีส่วนแบ่งทางการตลาดสตอเรจภายนอกปี 2552 อยู่ที่ 19.1% คิดเป็นเบอร์ 2 ในตลาด แต่ถ้าแบ่งเป็นตลาดสตอเรจภายนอกในระดับมิดเรนจ์ คิดเฉพาะยอดขายสตอเรจภายใต้แบรนด์อีเอ็มซี มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 23.44% เป็นเบอร์ 2 ในตลาดเช่นกัน โดยทางอีเอ็มซีผลิตสตอเรจในรูปแบบของการรับจ้างผลิตภายใต้แบรนด์ 'เดลล์' ซึ่งใช้เป็นแบรนด์บุกตลาดเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ
'อีเอ็มซีมั่นใจว่า ภายใน 1-2 ปีนี้ อีเอ็มซีน่าจะเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดไทย' นฐกร พจนสัจ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าว
ตลอดเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา จุดเด่นที่ทำให้อีเอ็มซีสามารถขยายตลาดสตอเรจในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว อยู่ที่เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ แต่จากกลยุทธ์ใหม่ของบริษัทแม่ต้องการหนีภาพมีดีที่ฮาร์ดแวร์ มาเป็นสตอเรจที่มีโซลูชั่น อีเอ็มซีจึงได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยแบ่งกลุ่มธุรกิจตามโซลูชั่นเป็น 5 กลุ่ม ประกอบไปด้วย กลุ่มระบบจัดเก็บข้อมูล หรือที่เรียกว่า คอร์สตอเรจ กลุ่มระบบจัดการข้อมูลอัจฉริยะ หรือไอไอจี กลุ่มระบบสำรองและกู้ข้อมูล หรือบีอาร์เอส กลุ่มระบบรักษาความปลอดภัยอาร์เอสเอ และกลุ่มระบบบริหารจัดการดาต้าเซ็นเตอร์
ในแต่ละกลุ่มจะประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ บริการและพาร์ตเนอร์ที่มีความชำนาญในแต่ละกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะความแข็งแกร่งในแต่ละกลุ่มธุรกิจของพาร์ตเนอร์ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันโซลูชั่นในแต่ละกลุ่มธุรกิจเข้าสู่ตลาด
'ปีนี้จะเป็นช่วงเวลาที่อีเอ็มซีจะเข้าไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับพาร์ตเนอร์ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ'
เทคโนโลยีหลักที่อีเอ็มซีจะใช้เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจทั้ง 5 มีอยู่ด้วยกัน 2 เทคโนโลยี คือ เทคโนโลยีเสมือนจริงกับคลาวด์คอมพิวติ้ง
นอกจากการจัดกลุ่มธุรกิจใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือ โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งทางอีเอ็มซีมองว่า เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามาเติมเต็มและผลักดันให้อีเอ็มซีก้าวเข้าสู่ภาพลักษณ์ใหม่ของอีเอ็มซีที่ไม่ได้มีดีแค่ฮาร์ดแวร์ โดยทำการเข้าเทกโอเวอร์บริษัทที่มีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเติมเต็มให้อีเอ็มซีมีความพร้อมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ จนมีโซลูชั่นที่พร้อมตอบสนองกลุ่มเป้าหมายในแต่ละเซกเมนต์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ ในกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม การเงินการธนาคาร และโรงงานอุตสาหกรรม ครอบคลุมธุรกิจน้ำมันและก๊าซ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางรวมถึงกลุ่มธุรกิจที่กำลังเติบโต และรักษาฐานกลุ่มลูกค้าปัจจุบันรวมไปถึงการมุ่งสร้างฐานลูกค้าใหม่ โดยเข้าไปช่วงชิงลูกค้าคู่แข่งรายอื่น
ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวอีเอ็มซีมั่นใจว่าจะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำใน 5 กลุ่มธุรกิจในประเทศไทยได้ภายในปีหน้า ต่อจากสิงคโปร์และมาเลเซีย
ที่มา: manager.co.th