"สรวงศ์" ห่วงวัยรุ่นไทยติด"ไลน์" เกินควร เด็กไม่กล้าสื่อสารแบบเผชิญหน้าแนะผู้ปกครองวางกติตาการใช้งานให้ลูกเชื่อวันรุ่นอยู่ในช่วงพัฒนาเรียนร่วมกับเพื่อนมากกว่าสังคมออนไลน์ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีความห่วงใยพฤติกรรมคนไทยในการใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะชนิดสมาร์ทโฟน ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยเฉพาะโปรแกรมแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ที่นิยมใช้ในการส่งข้อความ เช่น ส่งการบ้าน ข้อความสั้น ส่งรูปถ่ายส่วนตัว รูปทั่วไป คลิปเสียง สติ๊กเกอร์ต่างๆ และใช้ฟรีตลอดเวลา โดยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2555 พบว่า ในกลุ่มประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 44 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในเขตกทม. มีการใช้มากที่สุดร้อยละ 84 ภาคกลางร้อยละ 75 ภาคเหนือร้อยละ 68 ภาคใต้ร้อยละ 67 และต่ำสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้ร้อยละ 64
นายสรวงศ์กล่าวต่อว่า การเล่นไลน์มีทั้งผลดีและผลเสีย ในด้านดีอาจสร้างความสะดวกในการสื่อสารโดยเฉพาะในสถานที่งดการใช้เสียง รวดเร็วทั้งภาพและเสียง ประหยัดไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ ส่วนเรื่องผลกระทบที่เป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยังมีวุฒิภาวะน้อยหากผู้ปกครองไม่ชี้แนะ ดูแล ควบคุมการใช้อย่างจริงจัง อาจจะเกิดผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ที่น่าห่วงก็คือการเกิดพฤติกรรมก้มหน้า สังคมก้มหน้า การสื่อสารแบบเผชิญหน้าจะลดน้อยลง และอาจนำไปใช้เป็นประจำจนติดเป็นนิสัย ผู้ใช้อยู่ในโลกส่วนตัวมากเกินไป ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ขาดความระมัดระวัง อาจเกิดปัญหาอุบัติเหตุจราจรได้ง่ายขึ้น และเด็กมีโอกาสรับรู้สิ่งต่างๆในสังคมออนไลน์ได้ตลอดเวลา
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดยเฉพาะโปรแกรมยอดนิยม เช่น แอพพลิเคลชั่นไลน์ เด็กวัยรุ่นปัจจุบัน นิยมเล่นกันมาก บางคนเล่นทุกวัน จนอาจทำให้เด็กสูญเสียการใช้ชีวิตประจำวันของวัยเด็กที่ควรจะเป็นเช่น การพัฒนาการเรียนรู้เรื่องสัมพันธภาพ การวางตัว ชีวิตในห้องเรียน การทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มพัฒนาการที่สำคัญของวัยรุ่น การเล่นจนติดเป็นนิสัยจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่แข็งกระด้าง เพราะใช้ชีวิตทางการสื่อสารทางตัวหนังสือ หรือใช้ภาพการ์ตูนสะท้อนภาวะอารมณ์แทนที่พฤติกรรมจริงที่มีโอกาสแต่ไม่ได้กระทำ ดังนั้นผู้ปกครอง ควรวางกติกาให้กับเด็กในการเล่น ทั้งกำหนดเวลา จำกัดเวลาในการเล่น ไม่ให้มีการใช้ในช่วงเวลาไม่เหมาะสม เช่น ในเวลาเรียน เวลากลางคืนที่ควรนอน หากทำไม่ได้ต้องมีบทลงโทษเพื่อการเรียนรู้เช่น งดค่าโทรศัพท์ ค่าเติมเงิน ค่าอินเตอร์เน็ต นอกจากนั้นยังต้องกำกับดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด โดยการสอนและให้ข้อคิดในการใช้งาน กระตุ้นให้เด็กคิด และชื่นชมเด็กเมื่อทำตามเพื่อสร้างแรงจูงใจเชิงบวกให้มีพฤติกรรมการใช้ที่ดี
นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ได้เปิดให้บริการปรึกษาแก่เด็กและผู้ปกครองที่มีบุตรหลานติดโทรศัพท์มือถือ หรือติดเกมส์ โดยให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ หมายเลข 02-248-8990 สำหรับกรุงเทพฯและปริมณฑลบริการในเวลาราชการ หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323 สำหรับ 24 ชั่วโมงให้บริการทั่วประเทศ
ที่มา: manager.co.th