นายแกรี โบลตัน นักธุรกิจชาวอังกฤษที่หลอกขายอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ไปทั่วโลก เอเอฟพี - นักธุรกิจชาวอังกฤษที่หลอกขายอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ไปทั่วโลก รวมทั้งไทย ถูกพิพากษาจำคุก 7 ปีเมื่อวันอังคาร(20) ด้วยศาลตราหน้าเครื่องมือเหล่านี้ว่า "ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง" รายงานข่าวของเอเอฟพีระบุว่า GT200 เป็นอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิดที่ไม่มีอะไรมากไปกว่ากล่องพร้อมด้ามจับผลิตเองและสายอากาศ แต่นายแกรี โบลตัน กลับอ้างว่ามันสามารถตรวจจับได้ทั้งวัตถุระเบิด ยาเสพติด ยาสูบ งาช้างหรือแม้แต่เงินสด
ศาลอังกฤษระบุว่าอุปกรณ์ GT200 ถูกจำหน่ายแก่เม็กซิโก จำนวนราวๆ 1,200 เครื่อง ขณะเดียวกันก็ยังมีคำสั่งซื้อมาจากบางประเทศในเอเชียและตะวันออกกลาง แถมตอนนี้ยังคงมีการใช้งานกันอยู่ในไทย
นายโบลตัน คุณพ่อลูก 3 วัย 47 ปี ปฏิเสธข้อกล่าวหา ทว่าได้ตัดสินว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง 2 กระทงจากคณะลูกขุนศาลโอลด์ไบลีย์ ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นศาลอาญากลางของอังกฤษ
ในคำตัดสินเมื่อวันอังคาร(20) ผู้พิพากษาริชาร์ด ฮอน ระบุว่านายโบลตัน แอบอ้างว่ากล่องพลาสติกขนาดเล็กๆเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้ และยังคงเร่ขาย GT200 แก่เหล่าลูกค้านยานาชาติ ซึ่งในนั้นถูกนำไปใช้โดยกองกำลังด้านความมั่นคง "คุณจงใจหลอกลวงว่าอุปกรณ์นี้ใช้งานได้และคุณรู้ดีแก่ใจว่ามันผลิตโดยวิทยาศาสตร์จอมปลอม มันมีระดับการตรวจจับแบบส่งเดช และไม่มีประโยชน์ใดๆเลย"
"ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศูลกากรและอื่นๆอีกมาให้ความไว้วางใจต่อเครื่องมือที่ทำงานได้ไม่มากไปกว่าการสุ่มตรวจ คณะลูกขุนพบว่าคุณรับรู้เรื่องนี้ดี แต่ก็ยังเดินหน้าต่อและทำรายได้มหาศาล"
อุปกรณ์ดังกล่าวมีต้นทุนแค่ราวๆ 5 ล้านปอนด์ 245 บาท แต่ถูกจำหน่ายในราคาระหว่าง 2,500 ปอนด์(122,000บาท) ถึง10,000 ปอนด์ (490,000บาท) ขณะเดียวกันหากซื้อในนามบุคคล ราคาก็อาจจะสูงถึง 15,000 ปอนด์(730,000บาท) เลยทีเดียว
ทั้งนี้ศาลได้รับทราบว่าทาง โกลบอล เทคโนโลยี บริษัทของนายโบลตัน โกยเงินเกือบ 3 ล้านปอนด์(ราว 147 ล้านบาท) จากการจำหน่ายอุปกรณ์นี้กว่า 5,000 เครื่องทั่วโลก
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคม นายเจมส์ แมคคอร์มิค อีกหนึ่งนักธุรกิจชาวอังกฤษ ก็เพิ่งถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ฐานอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม ADE 651 แก่รัฐบาลอิรัก และประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทย โดยคาดหมายว่านายแมคคอร์มิค วัย 57 ปี ทำเงินจากการขายเครื่องมือนี้ถึง 50 ล้านปอนด์ ขณะที่อัยการบอกว่ามันสร้างจากกลไกการทำงานของเครื่องมือค้นหาลูกกอล์ฟ และไม่สามารถใช้งานได้จริง
ที่มา: manager.co.th