พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ชี้แจงกรณีตรวจสอบไลน์โดยยืนยันว่าไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชน วันที่ 13 ส.ค. เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์ค้าน ปอท.ดักตรวจข้อมูลการสนทนาบน "LINE" ระบุเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญแน่นอน จี้ Naver Japan ยึดตามนโยบายบริษัท ไม่ให้บุคคลที่สามแอบดูข้อมูลผู้ใช้ เตือนตำรวจอย่าใช้ พ.ร.บ.คอมฯ พร่ำเพรื่อ แนะควรใช้วิธีสากลเอาชนะข่าวลือ หยุดสอดส่องบนสังคมออนไลน์ ละเมิดสิทธิประชาชน วันนี้(13 ส.ค.) เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้ออกแถลงการณ์เรื่อง รัฐไทยต้องให้ความชัดเจนเรื่องการสอดส่องประชาชนบนไลน์และสื่อสังคมอื่น มีใจความว่า "จากกรณี พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการกองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) กล่าวถึงแผนการตรวจสอบการสื่อสารของประชาชนบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) ยูทูบ (YouTube) วอทซ์แอพ (WhatsApp) และไลน์ (LINE) ซึ่ง พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวว่า ปอท.จะเลือกตรวจสอบข้อมูลการสื่อสารของบุคคลที่มีแนวโน้มจะกระทำการที่กระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย และอ้างว่าผู้ให้บริการ LINE ตอบรับยินดีให้ความร่วมมือ เครือข่ายพลเมืองเน็ตยืนยันว่า การติดต่อระหว่างบุคคลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้นอยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 35, 36 และ 45 ที่ว่าด้วยสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยไม่ถูกเปิดเผย และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลไทยพยายามสอดส่องประชาชน เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้พูดถึงแผนการจัดซื้ออุปกรณ์ดักข้อมูล เพื่อดักข้อมูลที่อาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
จากแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีข้อกังวลและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. ปอท.ต้องให้ความชัดเจนว่า การขอข้อมูลที่ ปอท.กล่าวถึงนั้น มีข้อมูลอะไรบ้าง
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 ปอท.ไม่มีสิทธิในการดักฟังการสื่อสารของประชาชน การดักฟังจะทำได้ ก็ต่อเมื่อคดีดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งดีเอสไอจะดักฟังได้โดยอาศัยคำสั่งศาล สำหรับคดีบางประเภทเท่านั้นเท่านั้น
เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีความสงสัยว่า การขอ “ตรวจสอบข้อมูลการสนทนา” ของ ปอท. นั้นหมายถึงการ ดักฟัง หรือ การขอบันทึกการสนทนา (chat log) หรือ ข้อมูลผู้ใช้ (user’s data)
ในกรณีที่เป็นการดักฟังนั้น เครือข่ายพลเมืองเน็ตเห็นว่า ปอท. ไม่มีสิทธิที่จะทำการดังกล่าว
นอกจากนี้ แม้รัฐธรรมนูญไทยปี 2550 มาตรา 36 จะระบุว่า “ การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน รวมทั้งการกระทําด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกันจะกระทํามิได้” มีข้อยกเว้นสำหรับการดักฟังหรือสอดส่องการสื่อสารของประชาชนอยู่สำหรับเรื่องความมั่นคง และการรักษาศีลธรรมอันดี แต่เนื่องจากข้อยกเว้นดังกล่าวสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง การอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของเจ้าหน้าที่รัฐจึงควรจะมีคำอธิบายที่มีรายละเอียดและชัดเจนต่อประชาชน การเปิดโอกาสให้เกิดการดักฟังนั้นยังเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิประชาชนในด้านอื่นๆ ด้วย ดังนั้นแม้จะมีการดักฟังซึ่งชอบด้วยกฎหมายก็ควรเป็นไปด้วยความระมัดระวัง และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น
2. ผู้บริการการสื่อสารและเครือข่ายสังคมออนไลน์ ควรปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้ โดยเฉพาะสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล
ตามนโยบายของไลน์นั้น ได้ระบุข้อยกเว้นของการให้ข้อมูลแก่บุคคลที่สามไว้คือข้อหนึ่งคือ
“บริษัทจะไม่มอบข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการให้กับบุคคลที่สาม ยกเว้นในกรณีที่ บริษัทได้รับคำร้องขอความร่วมมือจากสถาบันของรัฐ รัฐบาลท้องถิ่น หรือบุคคล หรือผู้ประกอบการธุรกิจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ และการให้ผู้ใช้ยินยอมก่อนจะเป็นการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ” (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)
ขณะเดียวกันไลน์ก็ได้ระบุไว้ในหน้าความช่วยเหลือต่อคำถามที่ว่าบุคคลที่สามสามารถ “แอบดู” เนื้อหาของการสนทนาได้หรือไม่ว่า “ไม่ได้ ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในการสนทนาไม่สามารถเห็นสิ่งที่คุณพิมพ์ได้ ไลน์ปลอดภัย”
ในประเทศไทยนั้น ไลน์เป็นที่นิยมมาก และมีผู้ใช้ในประเทศไทยกว่ามากกว่าสิบห้าล้านคนเครือข่ายพลเมืองเน็ตขอเรียกร้องให้บริษัท Naver Japan ผู้ให้บริการไลน์ ปกป้องสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ชาวไทย และต้องไม่ยินยอมให้ข้อมูลหรือบันทึกการสนทนาของผู้ใช้ต่อรัฐไทยโดยไม่มีเหตุผลหรือไม่ทำตามกระบวนการทางกฎหมายที่โปร่งใส
3. ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องดำเนินการตามที่ระบุในกฎหมาย และหยุดการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการจากผู้ให้บริการ
วัฒนธรรมการ “ขอความร่วมมือ” อย่างไม่เป็นทางการ ส่งผลเสียในทางปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากหลักฐานการขอความร่วมมือและข้อมูลที่ได้ จะไม่ถูกจัดเก็บในสารบบของราชการ ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ เช่น สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อขอข้อมูลเพื่อตรวจสอบการทำงาน ทำให้การพิทักษ์สิทธิของประชาชนเป็นไปได้ยาก และเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล
ในกรณีของบริษัท Naver นั้น แม้ผู้ให้บริการจะอยู่ในประเทศญี่ปุ่น และไม่ได้มีภาระหน้าที่ต้องตอบสนองต่อกฎหมายไทย ซึ่ง ปอท. อาจสามารถเลือกวิธีการ “ขอความร่วมมือ” แทนที่จะใช้วิธีที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การใช้คำสั่งศาล การกระทำเช่นนี้จะทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ มาตรวจสอบย้อนหลังได้ว่า ข้อมูลที่ขอไปนั้นมีอะไรบ้าง เครือข่ายพลเมืองเน็ตเห็นว่า เพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ขอเรียกร้องให้ ปอท.ใช้วิธีการตามกฎหมาย และหยุดการใช้วิธีขอความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ
4. ตำรวจและรัฐบาลไทย ต้องหยุดการกระทำที่ทำให้เกิดความกลัวในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมทั้งหยุดการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างพร่ำเพรื่อ
เครือข่ายพลเมืองเน็ตมองว่า การะกระทำของรัฐบาล ทั้งการให้ข่าวว่าจะทำ หรือการกระทำจริงๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการทำให้เกิดผลเสียต่อบรรยากาศโดยรวมของกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้เน็ตตกอยู่ในความกลัว และความไม่แน่ใจว่า สิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้
นอกจากนี้ รัฐบาลควรหยุดการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างพร่ำเพื่อและไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ดั้งเดิมที่ต้องการ ซึ่งจากสถิติคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะเห็นได้ว่า คดีส่วนใหญ่นั้น ไม่เกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ แต่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทหรือการปล่อยข่าวลือบนระบบอินเทอร์เน็ต ที่ล้วนแล้วแต่มีกฎหมายอื่นรองรับอยู่แล้ว
การใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ อย่างพร่ำเพื่อเช่นนี้ จะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวแก่ผู้ใช้เน็ตโดยรวม
5. เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีข้อเสนอแนะในการรับมือกับข่าวลือซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือรัฐบาล
มีวิธีการอันเป็นสากลมากมายในการรับมือกับข่าวลือ โดยที่ไม่ต้องใช้มาตราการอันจะไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัว เช่น การชี้แจงข้อมูลตามความเป็นจริงเพื่อแก้ไขข่าวลือต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชน ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยควรจะเคารพวิจารณญาณ และความสามารถในการพิจารณาของประชาชนว่า ข้อความใดจริง ข้อความใดเท็จ แทนที่จะใช้มาตราการการสอดส่องที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิ
อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางสังคมที่เราทุกคนอยู่ร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ผู้ให้บริการ และพลเมืองเน็ตจะต้องมีบทบาทร่วมกันในการรักษาพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ บนพื้นฐานของการรักษาสิทธิพลเมืองและปกป้องสิทธิมนุษยชน การกระทำที่ทำให้เกิดการตื่นตระหนก และความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่เป็นส่วนตัว จะส่งผลเสียทางเศรษฐกิจ และกิจวัตรประจำวันของผู้คนที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตได้"
ที่มา: manager.co.th