พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ชี้แจงกรณีตรวจสอบไลน์โดยยืนยันว่าไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชน ผบก.ปอท.ชี้แจงกรณีการตรวจสอบไลน์ พร้อมยอมรับส่งทีมงานไปประสานขอความร่วมมือตรวจข้อมูลกับบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นจริง พร้อมยืนยันไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อ้างเช็กคำสุ่มเสี่ยงการก่ออาชญากรรมและความมั่นคง เน้นตรวจสอบ 3 เรื่องหลัก “ความมั่นคง-ความสงบ-ศีลธรรม” ส่วนจะตรวจสอบได้หรือไม่ เป็นสิทธิของญี่ปุ่นที่จะพิจารณา ชี้ก่อนหน้านี้เคยขอตรวจ “เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์” แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ก่อตั้ง! วันนี้ (13 ส.ค.) เมื่อเวลา 12.30 น. พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ปัจจุบันนี้มีการกระทำความผิดผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นจำนวนมาก ทั้งเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, วอตช์แอป รวมถึงไลน์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในตอนนี้ เมื่อวันที่ 5-9 ส.ค.ที่ผ่านมา
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า ตนจึงได้ส่งทีมงานเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดูแลเซิร์ฟเวอร์ให้กับบริษัท ไลน์ คอร์เปอร์เรชั่น เพื่อเจรจาขอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้กระทำความผิด โดยขอยืนยันว่าจะไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมีแน่นอน เนื่องจากทาง ปอท.จะมีเครื่องซอฟต์แวร์ที่เป็นตัวเช็กคำที่สุ่มเสี่ยง และก่อให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายในเบื้องต้นอยู่แล้ว โดยความผิดดังกล่าวนั้นจะเน้นเพียง 3 เรื่องเท่านั้น คือ 1.ความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และประเทศชาติ 2.กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และ 3.กระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยการติดต่อขอข้อมูลในครั้งนี้เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น
พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีคนใช้ไลน์ 15 ล้านคน ตนไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เราจะดูเฉพาะคนใช้โซเชียลทำผิดกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ละเมิด ประชาชนคนไทยมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นปกติตามหลักสามัญแน่นอน และเรามีซอฟต์แวร์ที่ช่วยสุ่มคีย์เวิร์ดคำที่สุ่มเสี่ยง เช่น คำว่าค้าขายอาวุธปืน, ค้ายา, ค้าของปลอม, ละเมิดลิขสิทธิ์, ค้าประเวณี พวกนี้ต่างหาก ซึ่งถามว่าเราขอไปเขาจะให้หรือไม่เป็นสิทธิของเขาในการพิจารณา ไม่ให้เราก็มีวิธีตรวจสอบอย่างอื่น แต่ถ้าให้มันก็ถือว่าดีในวันข้างหน้า เป็นการช่วยเราอีกต่อหนึ่ง สำหรับกลุ่มที่จับตามองเป็นพิเศษตอนนี้มีเป็น 10 ถึงหลักร้อยที่ทาง ปอท.เฝ้าจับตาดูเป็นพิเศษ
“ก่อนหน้านี้ทางตนก็มีติดต่อทางผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ มาบ้างแล้ว แต่ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ซึ่งตรงข้ามกับกรณีญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มได้รับความร่วมมือที่ดีกว่า ซึ่งตนคิดว่าการกระทำความผิดขอโซเชียลมีเดียเป็นความผิดพิเศษ ไม่มีระยะเวลา ไม่มีพรมแดน ดังนั้นการร่วมมือระหว่างประเทศจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะระงับความผิดเหล่านั้นได้” ผบก.ปอท.กล่าว
ที่มา: manager.co.th