แผนผังแสดงกระบวนการในระบบ Edge Rank เพื่อจัดความสำคัญหรือคะแนนของแต่ละข้อความที่ถูกโพสต์บนเฟซบุ๊กStory Bump จะช่วยให้ผู้ใช้ได้อ่านเรื่องราวน่าสนใจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาซึ่งไม่มีการใช้งานเฟซบุ๊กLast Actor จะประเมินว่าควรจะแสดงข้อความหรือภาพใดบนฟีดข่าวตามกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น เฟซบุ๊ก (Facebook) เครือข่ายสังคมยักษ์ใหญ่จัดงานประชุมสื่อมวลชนเพื่อเปิดตัวคุณสมบัติใหม่ของระบบแสดงข่าวสารหรือ News Feed (นิวส์ฟีด) ซึ่งทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กได้เห็นข้อความที่น่าสนใจกว่าเดิม โดยเปิดเผยตัวเลขว่าปัจจุบัน ผู้ใช้เฟซบุ๊กมีโอกาสได้พบเรื่องราวบนหน้าฟีดข่าวโดยเฉลี่ย 1,500 เรื่องต่อวัน ทำให้เฟซบุ๊กต้องให้ความสำคัญกับระบบกรองเรื่องราวน่าสนใจเพื่อแสดงบนหน้าฟีดข่าวให้มากที่สุด คริส ค็อกซ์ (Chris Cox) รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก กล่าวว่าระบบฟีดข่าวหรือ News Feed นั้นทำงานบนเฟซบุ๊กมานานกว่า 7 ปี โดยในช่วงแรก ผู้ใช้เฟซบุ๊กยังไม่มีความเคลื่อนไหวรวดเร็วเท่าปัจจุบัน ทำให้เนื้อหาบนเฟซบุ๊กมีไม่มากนัก แต่เหตุการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปจนทำให้เฟซบุ๊กรู้ว่าบริษัทจำเป็นต้องสร้างระบบซึ่งสามารถเลือกเรื่องราวขึ้นมาแสดงแก่ผู้ใช้ได้อย่างเชี่ยวชาญ ทั้งหมดนี้ทำให้เฟซบุ๊กปรับปรุงระบบฟีดข่าวมาต่อเนื่อง รวมถึงล่าสุดคือการเพิ่มคุณสมบัติชื่อ Story Bump และ Last Actor เพิ่มเติม
หลักการของระบบฟีดข่าวบนเฟซบุ๊กคือมุ่งนำเสนอเรื่องราวที่จะทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่น่าติดตามที่สุดในทุกครั้งที่ผู้ใช้หวนกลับมาเปิดอ่านเฟซบุ๊ก ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กใช้ระบบ Edge Rank เพื่อจัดความสำคัญของแต่ละข้อความที่ถูกโพสต์บนเฟซบุ๊ก โดยใช้ปัจจัยเสริมจากปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นบนเฟซบุ๊ก เช่น ผู้ที่มีการโต้ตอบบนเฟซบุ๊กบ่อยครั้ง เพจที่กดชื่นชอบหรือ like และรูปแบบเรื่องราวที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กโต้ตอบเป็นประจำ
ระบบ Edge Rank จะทำให้ผู้ใช้เฟซบุ้กที่โต้ตอบกับภาพมากกว่าข้อความ ได้รับชมภาพบนเฟซบุ๊กบ่อยครั้งกว่า ขณะเดียวกัน ข้อความที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ตามลำดับเวลา เช่น ข้อความเกี่ยวกับงานกิจกรรม หรือข้อความอวยพรวันเกิดก็จะถูกลดคะแนนเมื่อวันเวลานั้นล่วงเลยไป
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ วิธีการให้คะแนนของ Edge Rank นั้นทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กพลาดเรื่องราวที่โพสต์มานานแต่น่าสนใจไป เนื่องจากระบบจะเน้นการคำนวณคะแนนและแสดงผลโพสต์ที่ได้รับคะแนนสูงสุด ทั้งหมดนี้ทำให้เฟซบุ๊กสร้างสรรค์วิธีคำนวณคะแนนสำหรับแสดงฟีดข่าวขึ้นใหม่ด้วยชื่อคุณสมบัติว่า Story Bump ซึ่งจะทำให้ข้อความหรือภาพที่มีคะแนนน้อยกว่าในขณะนั้น แต่เคยเป็นโพสต์ที่มีคะแนนสูงมากในช่วงที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กไม่ได้เปิดใช้งาน มีโอกาสที่จะแสดงบนหน้าฟีดข่าวมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น โพสต์ที่เกิดขึ้นบนเฟซบุ๊กเมื่อเวลา 9.00 น. จะถูกล่นลงไปเป็นอันดับท้ายเมื่อผู้ใช้กลับมาเปิดเฟซบุ๊กช่วง 11.00 น. ช่วงเวลาที่หมายไปอาจจะมีเรื่องราวน่าสนใจที่ถูกมองข้ามไป จุดนี้ Story Bump จะช่วยให้ผู้ใช้ได้อ่านเรื่องราวน่าสนใจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งจากการทดสอบภายในของเฟซบุ๊ก พบว่าคุณสมบัติใหม่นี้ทำให้เรื่องราวบนเฟซบุ๊กถูกเปิดอ่านมากขึ้นมากกว่า 57-70% ขณะเดียวกันยังเพิ่มปริมาณการโต้ตอบให้เรื่องราวบนเพจ (Page) มากกว่า 8% แถมยังเพิ่มการโต้ตอบในเรื่องราวของกลุ่มเพื่อนฝูงมากกว่า 5%
ปัจจุบัน Story Bump หรือการดันเรื่องราวน่าสนใจในช่วงเวลาต่างกัน ถูกนำมาปรับใช้กับระบบฟีดข่าวบนเว็บไซต์แล้ว และกำลังจะเริ่มใช้งานในอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต่อไป
อีกคุณสมบัติใหม่ของระบบฟีดข่าวคือ Last Actor ความสามารถหลักคือการเน้นคำนวณปฏิสัมพันธ์ระยะยาวบนเฟซบุ๊กของผู้ใช้ ซึ่งจะประเมินว่าควรจะแสดงข้อความหรือภาพใดบนฟีดข่าวตามกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ซึ่งทำให้ผู้ใช้ได้รับทราบความเคลื่อนไหวใหม่ของเพื่อนที่สนใจอยู่ได้อย่างโดนใจ จุดนี้รายงานระบุว่า Last Actor ทำงานแล้วบนระบบเว็บไซต์และอุปกรณ์พกพา
นอกจาก 2 คุณสมบัตินี้ เฟซบุ๊กยังมีระบบอื่นที่ยังไม่เปิดใช้งานอย่าง Chronological by Actor ซึ่งจะทำให้โพสต์ล่าสุดที่ทันเหตุการณ์ของเพื่อนมีคะแนนมากขึ้น ระบบนี้จะเหมาะสมกับการอัปเดทคะแนนการแข่งขันในเกมกีฬาต่างๆ แต่เบื้องต้นระบบยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ถึงความเกี่ยวเนื่องกันของแต่ละโพสต์ ทำให้คุณสมบัตินี้ยังไม่พร้อมให้บริการในขณะนี้
ที่มา: manager.co.th