Author Topic: จีนระงับนำเข้า “นมผง” นิวซีแลนด์-ออสซี่แล้ว หลังพบ “ปนเปื้อน” ระบุมีบางส่วนส่งมา "ไทย"  (Read 1040 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai






รอยเตอร์ - จีนสั่งระงับการนำเข้านมผงทุกชนิดจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลียแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของนิวซีแลนด์แถลงวันนี้ (4 ส.ค.) หลังมีการพบแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษในผลิตภัณฑ์นมบางส่วน ทำให้เกิดความวิตกกันเกี่ยวกับความปลอดภัย อีกทั้งยังกำลังกลายเป็นภัยคุกคามการค้าผลิตภัณฑ์นมของแดนกีวีที่ทำรายได้สูงถึง 9.4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
       
       ฟอนเทอร์รา บริษัทนิวซีแลนด์ที่เป็นผู้ผลิตนมรายยักษ์ใหญ่ของโลก เมื่อวานนี้ (3) ได้ออกมาเปิดเผยรายชื่อบริษัท 8 แห่ง ซึ่งฟอนเทอร์ราได้ขายเวย์โปรตีนเข้มข้นผลิตในแดนกีวีให้ แล้วมีการส่งออกไปยัง ออสเตรเลีย มาเลเซีย เวียดนาม ไทย และซาอุดิอาระเบีย เพื่อใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์นมหลายประเภท รวมถึงนมผงสำหรับเลี้ยงทารกด้วย
       
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนนั้น ประมาณการกันว่าในจำนวนผลิตภัณฑ์นมผงมูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ที่จีนสั่งนำเข้าจากต่างประเทศเมื่อปี 2012 เกือบ 90 % มีต้นกำเนิดมาจากนิวซีแลนด์ ด้วยเหตุนี้หากการห้ามนำเข้านี้ยืดเยื้อยาวนาน ก็อาจทำให้จีนขาดแคลนผลิตภัณฑ์นม รวมทั้งนมผงเลี้ยงทารก
       
       นมผงสำหรับทารกแบรนด์ต่างประเทศนั้น เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในจีน ประเทศที่ผู้บริโภครู้สึกไม่ไว้วางใจนมผงยี่ห้อจีน หลังจากมีข่าวฉาวเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารในประเทศออกมาอย่างต่อเนื่อง



       การที่แดนมังกรห้ามนำเข้านมผงจากออสเตรเลียด้วย เนื่องจากมีเวย์โปรตีนเข้มข้นที่ปนเปื้อนบางส่วนถูกส่งจากแดนกีวีไปยังแดนจิงโจ้ ก่อนที่จะกระจายต่อไปยังจีนและประเทศอื่นๆ
       
       “ตามความเห็นของผม ทางการจีนทำถูกต้องอย่างที่สุดแล้วที่ยุติการนำเข้านมผงนิวซีแลนด์จากออสเตรเลียและจากนิวซีแลนด์” ทิม โกรเซอร์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของนิวซีแลนด์กล่าวกับสถานีโทรทัศน์นิวซีแลนด์
       
       ขณะที่ยังไม่มีคำยืนยันอย่างเป็นทางการใดๆ จากทางการจีนในเรื่องการสั่งห้ามนำเข้านี้ แต่หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของทางการแดนมังกร ซึ่งมีชื่อว่า สำนักงานทั่วไปเพื่อการกำกับติดตามคุณภาพ, การตรวจสอบ และการกักกันโรค ก็ได้เผยแพร่คำแถลงฉบับหนึ่งในเว็บไซต์ของตน ระบุชื่อบริษัท 4 แห่งซึ่งได้นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่อาจมีการปนเปื้อนจากฟอนเทอร์รา บริษัททั้ง 4 นี้ได้แก่ บริษัท ดูเม็กซ์ เบบี้ ฟูด ที่เป็นกิจการในเครือของกลุ่มดานอนแห่งฝรั่งเศส, บริษัท 2 แห่งในเครือของกลุ่มวาฮาฮา กรุ๊ป ที่เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในจีน, และบริษัทเซี่ยงไฮ้ ชูการ์ โทแบคโค แอนด์ แอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของแดนมังกร
       
       ก่อนหน้านั้น ฟอนเทอร์รา ซึ่งเป็นบริษัทซัปพลายเออร์ใหญ่ที่จัดส่งส่วนผสมอันมีนมเป็นส่วนประกอบ ไปให้แก่พวกบริษัทอาหารและเครื่องดื่มระดับนานาชาติทั้งหลาย ยังระบุว่า สาขาในจีนของบริษัทโคคา โคลา และพวกบริษัทอาหารสัตว์หลายแห่งในนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ก็ได้รับผลกระทบกระเทือนในคราวนี้ด้วย



       ทางด้านสำนักงานอาหารและยาแห่งรัฐของจีน ได้กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งบนเว็บไซต์ของตนว่า ได้แจ้งให้ตัวแทนของบริษัท หางโจว วาฮาฮา, ดูเม็กซ์, และโคคา โคลา ไชน่า หยุดการขายผลิตภัณฑ์ที่อาจปนเปื้อน รวมทั้งเรียกคืนผลิตภัณฑ์ที่อาจปนเปื้อนทุกๆ อย่างที่มีวางจำหน่ายอยู่ในตลาด กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด
       
       มีรายงานหลายกระแสระบุว่า พวกบริษัทอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของจีนบางราย ก็เป็นลูกค้าของฟอนเทอร์ราเช่นกัน
       
       ฟอนเทอร์รานั้นเป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่ที่ส่งผลิตภัณฑ์นมสำหรับใช้ผลิตนมผงเลี้ยงทารกในประเทศจีน แต่บริษัทไม่ได้นำแบรนด์ของตนเองเข้าไปจำหน่ายในแดนมังกรอีก ภายหลังจาก “ซานลู่” บริษัทผู้ผลิตนมของจีน ซึ่งฟอนเทอร์ราเคยเป็นหุ้นส่วนรายใหญ่ ได้ลักลอบเติมสารเมลามีน ที่มักใช้ในการผลิตพลาสติก เข้าไปผลิตภัณฑ์นมผงเลี้ยงทารกของตน เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณ เหตุการณ์อื้อฉาวคราวนั้นซึ่งยังมีบริษัทนมของจีนอีกหลายรายก็มีพฤติการณ์เช่นเดียวกันนี้ด้วย บังเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 และได้ทำให้มีเด็กเสียชีวิตมากกว่า 6 ราย ตลอดจนล้มป่วยอีกหลายร้อยคน



       **ไทยและอีกหลายประเทศสั่งห้ามขาย, เรียกคืนผลิตภัณฑ์**
       
       นอกจากจีนแล้ว มีรายงานว่าประเทศอื่นๆ ก็กำลังสั่งยุติการนำเข้า ตลอดสั่งให้เรียกคืนผลิตภัณฑ์นมทำในนิวซีแลนด์ซึ่งกำลังวางจำหน่ายอยู่ในตลาด
       
       สำนักข่าวอิตาร์-ทาสส์ของรัสเซียรายงานเมื่อวานนี้ (3) โดยอ้างข้อมูลของ “รอสโปเทรบนัดซอร์” องค์การคุ้มครองผู้บริโภค ว่า รัสเซียได้ระงับการนำเข้าและการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของฟอนเทอร์ราแล้ว
       
       ขณะที่รายงานของสื่อมวลชนหลายกระแสระบุว่า ประเทศไทยได้สั่งให้เรียกคืนผลิตภัณฑ์ฟอนเทอร์ราออกมาจากตลาพด ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม
       
       ฟอนเทอร์รา ซึ่งเป็นกิจการแบบสหกรณ์ที่มีเกษตรกรจำนวนมากในนิวซีแลนด์เป็นเจ้าของ นอกจากมีฐานะเป็นซัปพลายเออร์ขายส่งพวกวัตถุดิบผลิตภัณฑ์นม ให้แก่บริษัทอาหารและเครื่องดื่มระดับนานาชาติแล้ว ยังมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตนเอง เป็นต้นว่า นมแองเคอร์ในนิวซีแลนด์, แอนลีน และแอนมัม นมผงสำหรับมารดา ซึ่งวางจำหน่ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นๆ
       
       ทั้งนี้ บริษัทฟอนเทอร์ราออกมายืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เหล่านี้ปราศจากสารปนเปื้อน และระบุว่ายังไม่มีรายงานว่ามีผู้เจ็บป่วยจากการบริโภคเวย์โปรตีนของตน อีกทั้งเสริมว่า ธีโอ สเปียริงส์ ซีอีโอของฟอนเทอร์ราได้เดินทางไปจีนเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้แล้ว



       เหตุการณ์เกี่ยวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของนิวซีแลนด์รายนี้ นับเป็นหนที่สองที่เกิดขึ้นในปีนี้ โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ฟอนเทอร์ราก็เคยออกมาเผยว่าพบร่องรอยของไดซีอันไดแอมด์ สารพิษที่ใช้ทำปุ๋ย ในผลิตภัณฑ์บางส่วนของบริษัท
       
       ส่วนแบคทีเรียซึ่งสร้างความตื่นตระหนกในครั้งนี้ คือ โคลสทรีเดียมโบทูลินัม ที่พบบ่อยในดิน ซึ่งกรณีของฟอนเทอร์รานั้นเกิดจากความสกปรกของท่อในโรงงานที่ผลิต
       
       แบคทีเรียนี้สามารถทำให้มีอาการอาหารเป็นพิษ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อ และทำให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งภาวะอาหารเป็นพิษในทารกก็สามารถส่งผลร้ายต่อระบบลำไส้ได้
       
       ประเด็นเรื่องอาหารปนเปื้อนในครั้งนี้ได้ปรากฏขึ้นในขณะที่จีนเริ่มบกวดขันกฎกติกาในการนำเข้าผลิตภัณฑ์นม เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยด้านอาหารโดยรวม และในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลปักกิ่งก็ประกาศใช้กฎระเบียบที่จำกัดการดำเนินงานของพวกแบรนด์นมผงเลี้ยงทารกรายเล็กๆ
       
       อุตสาหกรรมนมของนิวซีแลนด์ คือ แรงขับเคลื่อนขนาดใหญ่ ของประเทศที่ระบบเศรษฐกิจตั้งอยู่บนฐานของเกษตรกรรมแห่งนี้ โดยเมื่อปีที่แล้วธุรกิจนี้สามารถทำรายได้จากการส่งออกเป็นมูลค่า 12 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ราว 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมด

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)


Related Topics

  Subject / Started by Replies Last post
0 Replies
6434 Views
Last post May 15, 2012, 09:59:24 PM
by Nick
0 Replies
4105 Views
Last post July 13, 2012, 05:12:23 PM
by Nick
0 Replies
5074 Views
Last post December 02, 2012, 04:31:30 PM
by Nick
0 Replies
3554 Views
Last post February 27, 2013, 05:49:40 PM
by Nick
0 Replies
3686 Views
Last post March 26, 2013, 04:01:43 PM
by Nick
0 Replies
4664 Views
Last post April 29, 2013, 07:29:44 PM
by Nick
0 Replies
3723 Views
Last post May 28, 2013, 01:25:51 AM
by Nick
0 Replies
3671 Views
Last post June 05, 2013, 05:57:46 PM
by Nick
0 Replies
4381 Views
Last post June 21, 2013, 08:00:10 PM
by Nick
0 Replies
4264 Views
Last post July 21, 2013, 02:51:29 PM
by Nick