เอซุส มั่นใจตลาดเดสก์ท็อปยังคงเติบโตไปได้หลังจากเครื่องประกอบเองเริ่มถดถอย เปิดตัวเดสก์ท็อปและออลอินวันใหม่ 11 รุ่น ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งทั้งตลาดคอมเมอร์เชียลและคอนซูเมอร์เมอร์อย่างละ 3% พร้อมเพิ่มพาร์ทเนอร์อีก 20 ราย หวังฟันรายได้ปีนี้ 1,800 ล้านบาท นายปกรณ์ พฤทธิบูรณ์สกุล ผู้จัดการพัฒนาธุรกิจอาวุโส กลุ่มธุรกิจโอเพ่น แพลทฟอร์ม บริษัท เอซุสเทค คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เอซุสเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์เดสก์ท็อปและออลอินวันใหม่ 11 รุ่น เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดเดสก์ท็อปพีซีให้มีสีสันมากขึ้นประกอบกับเป็นการทดแทนตลาดดีไอวายซึ่งเริ่มคงที่และลดลงไปเรื่อยๆ โดยเอซุสตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดทั้งในส่วนของพีซีคอมเมอร์เชียลและพีซีคอนซูมเมอร์ 3% ทำให้ยอดขายรวมของกลุ่มธุรกิจโอเพ่น แพลทฟอร์มอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นอีก 10% ภายในสิ้นปี 2556
เอซุสมั่นใจว่าเดสก์ท็อปพีซียังคงเป็นอุปกรณ์ที่ให้สมรรถนะในการใช้งานและอรรถรสสูงสุดในการเล่นเกม ดูหนังฟังเพลง คอนเทนต์มัลติมีเดียต่างๆ ไปจนถึงการใช้งานในออฟฟิศและภายในครัวเรือนทั่วไป ดังนั้นเอซุสจึงได้เปิดตัวเดสก์ท็อปพีซีและออลอินวันพีซี (AiO)ใหม่ล่าสุดเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของทัพสินค้าในช่วงครึ่งปีหลัง 2556 โดยมีเรือธงเป็น ASUS Transformer AiO P1801 ออลอินวันพีซีเครื่องแรกของโลกที่สามารถถอดจอออกเป็นแท็บเล็ตบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้
'หลังจากการเปิดตัวเดสก์ท็อปพีซีในปีที่ผ่านมาเอซุสก็ได้รับการตอบรับจากตลาดที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของคอมโพแน้นต์ต่างๆ จากเอซุสอยู่แล้ว อาทิ มาเธอร์บอร์ด กราฟิกการ์ด จอภาพ ไปจนถึงเคสที่มีความคงทนเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มเกมเมอร์ กลุ่มผู้ใช้งานเฉพาะทาง กลุ่มลูกค้าร้านอินเทอร์เน็ต หรือร้านเกมต่างๆ ทั่วประเทศ'
นายปกรณ์ กล่าวว่า ด้านการทำตลาดคอมเมอร์เชียลหรือตลาดองค์กร ที่ผ่านมาเอซุสได้เข้าร่วมประมูลและผลิตเดสก์ท็อปพีซีให้กับโครงการต่างๆ มากมายในส่วนของหน่วยงานราชการ รวมไปถึงการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการจัดหาพีซีตั้งโต๊ะให้กับหน่วยงานต่างๆ ภายใต้การดูแลของสพฐ. ส่งผลให้เอซุสเริ่มมีส่วนแบ่งในตลาดนี้มากขึ้นโดยมีส่วนแบ่งตลาดของเดสก์ท็อปพีซีแบรนด์เอซุสในเบื้องต้นอยู่ที่ 1% เช่นเดียวกับตลาดเดสก์ท็อปในกลุ่มลูกค้าคอนซูเมอร์ที่เอซุสได้มีการเปิดตัวควบคู่ไปกับการรุกตลาดออลอินวันพีซีหรือ AiO อย่างเป็นรูปธรรม
การทำตลาดในครึ่งปีหลัง 2556 เอซุสจะเน้นกลยุทธ์ “4P” คือ1. Product หรือผลิตภัณฑ์ โดยเน้นความโดดเด่นเรื่องคุณภาพและความน่าเชื่อถือของตัวสินค้าที่สามารถตอบทุกโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของผู้ใช้งานได้อย่างดี 2. Price Premium หรือการมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อความพึงพอใจให้กับลูกค้า โดยนำเสนอสเป็กเครื่องที่สูงกว่า บริการหลังการขายที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆ 3. Partner มุ่งเน้นการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและจำนวนของคู่ค้าให้มากขึ้น และ 4. Promotion ซึ่งเป็นการจับมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อจัดโปรโมชั่นพิเศษในโอกาสต่างๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภค
ปัจจุบันเอซุสมี พาร์ทเนอร์ 5 ราย ในปีนี้จะเพิ่มเป็น 20 รายและจะมีการซัปพอร์ตโปรโมชันต่างๆ ให้ โดยได้ตั้งงบประมาณการตลาดมากขึ้น 20% หรือประมาณ 10 ล้านบาทเพื่อใช้ในการสื่อสารและเตรียมรุกตลาดอย่างเต็มตัว ผ่านช่องทางต่างๆ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สื่อออนไลน์รวมไปถึงการทำการตลาดแบบบีโลว์เดอะไลน์ หรือการร่วมจัดงานอีเว้นต์ต่างๆ นอกจากนี้เอซุสยังเน้นการสร้างกระแสการรับรู้จากผู้บริโภคทั่วไปจากการทำประชา สัมพันธ์ตรงจุดขายหน้าร้านเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค เปิดโอกาสให้เข้ามาทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เดสก์ท็อปพีซีของเอซุสก่อนที่จะตัดสินใจซื้อจริง
นายปกรณ์ กล่าวว่า การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่และเสริมในส่วนของช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น เอซุสตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เดสก์ท็อปพีซีและออลอินวันพีซีของคอนซูเมอร์ขึ้นอีกประมาณ 3 % ภายในสิ้นปีนี้ (สัดส่วนเดสก์ท็อปพีซีของเอซุสเป็นตลาดคอมเมอร์เชียล 80% และ ตลาดคอนซูมเมอร์ 20%)
ในครึ่งปีหลังนี้ เอซุสเปิดตัวสินค้าใหม่ 11 รุ่น ประกอบด้วยเดสก์ท็อปพีซี 4 รุ่นที่มี ROG TYTAN G50AB และ ASUS M51AC เป็นผลิตภัณฑ์ไฮไลท์ ตามมาด้วย ASUS M51AC และ ASUS CM6731 ในส่วนของออลอินวันพีซี 6 รุ่น ประกอบด้วย ASUS Transformer AiO P1801 และASUS ET2311และ ASUS ET2702รวมถึง ASUS ET1612, ET2020 และรุ่น ET2220 โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 12,900 บาท ไปจนถึงระดับ 140,000 บาท
Company Relate Link :
Asus
ที่มา: manager.co.th