สหภาพฯ กสท ทีโอที อสมท ผนึกพลังสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เตรียมยื่นหนังสือวุฒิสภา 6 ส.ค. นี้หวังถอดถอนกสทช.ทั้งคณะ หลังพบพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ทุนโทรคมนาคมต่างชาติ บ่อนทำลายรัฐวิสาหกิจส่งผลกระทบด้านการเงินอย่างรุนแรงและกระเทือนความมั่นคงของประเทศ นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในวันที่ 6 ส.ค. 2556 นี้ ทางสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับ สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ส.พรท.) โดยมี สหภาพฯ กสท โทรคมนาคม สหภาพฯทีโอที และ สหภาพฯอสมท. และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจอีก 41 แห่ง เตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อวุฒิสภาเพื่อขอให้พิจารณาการดำรงสถานภาพของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และขอให้มีการถอดถอน กสทช.ทั้งคณะ
เนื่องจาก สหภาพฯกสท เล็งเห็นว่า พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ในมาตรา 84 วรรค 3 ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ ระบุว่า เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่ กฏหมายบังคับใช้ รัฐวิสาหกิจต้องนำรายได้จากผลประกอบการในส่วนที่ได้รับในการให้สัมปทานแก่ผู้ได้สัมปทาน ที่รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการตามกฏหมาย ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ซึ่งเป็นการออกกฏหมาย ให้ กสท ต้องส่งรายได้ที่เกิดจากสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ก่อนวันที่กฏหมายใช้บังคับ ให้ กสทช.ส่งผลให้ กสท เสียสิทธิที่เกิดจากสัญญาสัมทปาน มีผลกระทบกระเทือนต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งขัดต่อกฏหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 305 ที่ระบุว่า การใช้กฏหมาย มาตรา 47 ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาสัมปทาน
รวมทั้งการที่กสทช. ออกประกาศเรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 (อินฟราสตรักเจอร์แชร์ริ่ง) ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 2556 และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ... ซึ่งล่าสุด กสทช. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ไปเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2556 โดยประกาศ ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวถือเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชน และยังส่งผลให้ทำรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจด้านโทรคมนาคม ได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรง
อีกทั้งการที่ กสทช.ออกใบอนุญาตการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้กับผู้ประกอบการรายเดิมที่อยู่ในตลาดนั้น ก็เป็นการประมูลที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายเดิมอยู่แล้ว แต่กลับอ้างมาโดยตลอดว่าการประมูลดังกล่าวมีการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม แต่ในความเป็นจริงแล้วบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูล เป็นบริษัท ในเครือ ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยักษ์ใหญ่ในประเทศ เพียง 3 รายเท่านั้น และยังเป็นบริษัทที่มีทุนต่างชาติ ซึ่งได้เปรียบในการแข่งขัน และท้ายสุดรัฐวิสาหกิจก็จะได้รับความเสียหาย ต้องประสบภาวะการขาดทุน และประเทศชาติก็จะได้รับความเสียหายไปด้วย
"สุดท้ายเอกชนซึ่งเป็นของทุนต่างชาติก็เข้าครอบงำกิจการโทรคมนาคม ของชาติ ก่อให้เกิดความสั่นคลอนในความมั่นคงของประเทศเพราะระบบการรักษาความปลอดภัย ความลับ ทางด้านสารสนเทศที่ รับ-ส่ง บนเครือข่ายโทรคมนาคมไม่ปลอดภัยและไม่มีความน่าเชื่อถือต่อไป"
ขณะเดียวกัน นายสุวิทย์ มิ่งมล รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท กล่าวว่า การดำเนินงานของ กสทช. ตั้งแต่แรกก็มุ่งเน้นไปสู่การจัดประมูลทีวีดิจิตอลเพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นเรื่องของตัวเงินมากกว่า กลับกันการสนับสนุนด้านคอนเทนท์ที่ดีมีสาระยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก ถึงแม้ล่าสุดจะมีประกาศส่วนลดค่าธรรมเนียมแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการชำระเงิน เช่นเดียวกับการปรับลดสัดส่วนเนื้อหาของช่องรายการข่าวจาก 75% เป็น 50% ก็สะท้อนถึงการไม่สนับสนุนคอนเทนท์ที่มีประโยชน์ ดังนั้นเจตนารมณ์ทั้งหมดของกสทช.อาจจะเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ว่าต้องการให้เกิดการส่งเสริมการเข้าถึงเนื้อหาที่ดีของคนในสังคม
นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายของกสทช.ในการกำกับดูแลช่องทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีก็ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากยังคงพบการโฆษณาเกินจริง และเนื้อหาลามกอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร โดยถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ สู้ให้มีการกำกับภายใต้หน่วยงานเดิมยังดีเสียกว่า
Company Relate Link :
สหภาพฯ กสท
ที่มา: manager.co.th