แม้จะยืนยันว่ากราฟเสิร์ช (Graph Search) คือสุดยอดนวัตกรรมที่เฟซบุ๊ก (Facebook) ตั้งใจสร้างสรรค์เพื่อผู้ใช้ทั่วโลก แต่หลังจากเปิดกว้างให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหรัฐฯหลายร้อยล้านคนเริ่มใช้กราฟเสิร์ชได้อย่างเสรี บริการล่าสุดของเฟซบุ๊กกลับถูกวิจารณ์ว่า "ใช้งานยากเกินไป", "ยังไม่แม่นยำ" และ "ยังไม่เป็นมิตรต่อนักโฆษณา" 3 คำวิจารณ์นี้เป็นของบริการกราฟเสิร์ชซึ่งเฟซบุ๊กเปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จุดเด่นของบริการนี้คือการใช้"วลี"ในการเสิร์ช แทนที่จะเป็นคำคีย์เวิร์ดอย่างในบริการของกูเกิล (Google) เช่นการเสิร์ชด้วยคำว่า Movies that my friends like ภาพยนตร์ที่เพื่อนฉันชอบ หรือ Restaurants in California that Mark Zuckerberg like ร้านอาหารในแคลิฟอร์เนียที่มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์กชอบ (สามารถใช้งานได้เฉพาะวลีภาษาอังกฤษเท่านั้นในขณะนี้) โดยกราฟเสิร์ชจะค้นหาบุคคล สถานที่ และสิ่งของ จากข้อมูลที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กเคยประกาศไว้ว่าไปเที่ยวที่ไหน เรียนจบจากสถาบันใด ชื่นชอบอะไร ซึ่งเป็นข้อมูลจากผู้ใช้ในเฟซบุ๊กมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก
ตั้งแต่ครั้งเปิดตัว "มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก" การันตีว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กจะสามารถปิดกั้นไม่ให้ข้อมูลตัวเองถูกค้นหาโดยกราฟเสิร์ชได้ตามต้องการ ด้วยการตั้งค่าข้อมูลนั้นให้เป็นความลับ (เมนู Privacy Setting) โดยเชื่อว่าชาวเฟซบุ๊กจะชื่นชอบบริการใหม่เหมือนกับบริการหลักอย่างนิวส์ฟีด (News Feed) และไทม์ไลน์ (Timeline) เพราะกราฟเสิร์ชจะสามารถใช้ค้นหาสถานที่ที่เพื่อนฝูงแบ่งปันช่วงเวลาดีๆไว้ รวมถึงสามารถให้เป็นเครื่องมือรำลึกความทรงจำได้เช่นกัน
แต่เมื่อเฟซบุ๊กเปิดให้ผู้ใช้ในสหรัฐฯเริ่มใช้งานกราฟเสิร์ชได้เต็มที่ เสียงวิจารณ์มากมายระบุว่ากราฟเสิร์ชอาจเป็นสวรรค์ของอาชญากรโรคจิต เพราะผู้ใช้สามารถเสิร์ชด้วยคำว่า "friends of [ชื่อเพื่อน] who live in [เมืองที่ต้องการ]" เพื่อค้นหาเพื่อนของเพื่อนซึ่งอาศัยในเมืองที่ต้องการได้ ขณะเดียวกันก็สามารถเปิดชมภาพเรื่องราวชีวิตแบบใกล้ชิดด้วยการเสิร์ชคำว่า "photos of [ชื่อเพื่อน] in [เมืองที่ต้องการ]" ความง่ายเหล่านี้ถือเป็นอันตรายสำหรับผู้ที่ไม่ระมัดระวังและไม่ได้ตั้งค่าความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ Facebook หลายรายในสหรัฐฯเลือกที่จะกลับไปค้าหาบุคคลและเพจจากระบบเสิร์ชดั้งเดิม โดย Jennifer Van Grove ผู้สื่อข่าวสำนักซีเน็ตให้เหตุผลว่าเพราะระบบกราฟเสิร์ชผลักดันให้ผู้ใช้ต้องคิดหนักเกินไปเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการค้นหา ซึ่งแม้ว่าระบบแนะนำคำถามหรือ Query suggestion ของกราฟเสิร์ชจะพัฒนาและปรับปรุงให้ชาญฉลาดขึ้นแล้ว รวมถึงสามารถเดาได้ดีขึ้นถึงสิ่งที่ผู้ใช้กำลังพิมพ์เมื่อเทียบกับช่วงเปิดตัวในเดือนมกราคม แต่ความง่ายของกราฟเสิร์ชก็ยังไปไม่ถึงระดับที่ควรจะเป็น
ปัญหาของกราฟเสิร์ชยังอยู่ที่การเชื่อมโยงบุคคลกับกิจกรรมที่สนใจแบบผิดพลาดและไม่ถูกต้องนัก รายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า กราฟเสิร์ชยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้ว่า “surfers (นักเล่นกระดานโต้คลื่น)” และ “people who like to surf (ผู้ชื่นชอบกีฬากระดานโต้คลื่น)” และ “people who like surfing (ผู้สื่อชอบการโต้คลื่น)” นั้นเป็นคนกลุ่มเดียวกัน
ยังมีปัญหาเรื่องการแสดงโฆษณาบนกราฟเสิร์ช ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่ลงตัวในขณะนี้ แม้ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซีอีโอเฟซบุ๊กจะยืนยันกับนักวิเคราะห์และผู้ถือหุ้นว่าคาดหวังทำเงินจากกราฟเสิร์ชนี้เต็มที่ โดยขณะนี้ เฟซบุ๊กลงมือวางกล่องโฆษณา 2 จุดไว้ที่หน้าผลการค้นหากราฟเสิร์ชแล้ว แต่โฆษณายังไม่จับคู่กับคำถามของผู้ใช้แต่ละคน ซึงถือว่าเป็นการแสดงรายชื่อผู้สนับสนุนในรูปแบบ sponsored results ที่กูเกิลใช้อยู่ จุดนี้อาจจะไม่เหมาะสมกับการแสดงบนกราฟเสิร์ชในระยะยาว
นอกจากนี้ สื่อต่างประเทศหลายสำนักยังจับตาดูว่ากราฟเสิร์ชทำให้ผู้ใช้บางกลุ่มหนีห่างจากเฟซบุ๊กหรือไม่ เนื่องจากความยุ่งยากในการตั้งค่า และภัยเงียบจากคนแปลกหน้าที่อาจเกิดขึ้นโดยการทำงานของกราฟเสิร์ช ซึ่งทั้งหมดนี้ ทุกสื่อได้แต่พร้อมใจแนะนำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กร่วมกันเข้าไปตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในบัญชีเฟซบุ๊กของทุกคน
***5 ข้อที่ชาวเฟซบุ๊กต้องปรับตัวเมื่อกราฟเสิร์ชแจ้งเกิด 1. สิ่งที่ชาวเฟซบุ๊กควรทำเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวของตัวเอง คือการเข้าไปแก้ไขหรือตั้งค่าข้อมูลประวัติด้วยการคลิกคำว่า About จากนั้นคลิกที่คำว่า Edit เพื่อแก้ไขข้อมูลที่ต้องการ การแก้ไขที่ส่วน About นี้ถือเป็นด่านแรกที่ชาวเฟซบุ๊กควรตรวจสอบให้ดีว่ามีประวัติส่วนใดไม่ต้องการเปิดเผย
2. ในส่วน About ผู้ใช้สามารถคลิกที่ "ลูกโลก" เพื่อตั้งค่าว่าจะเปิดกว้างให้ข้อมูลนี้เป็นสาธารณะ (Public) หรือเป็น Only Me ที่ไม่มีใครสามารถค้นหาข้อมูลนี้ได้ รวมถึง Friends ที่เปิดให้เพื่อนสามารถค้นหาได้ โดยสามารถคลิกเพื่อพิมพ์ข้อมูลใหม่เพื่อแก้ไขประวัติได้ตามต้องการ
3. ชาวเฟซบุ๊กควรตรวจสอบ Activity Log เพื่อตรวจสอบว่ามีความเคลื่อนไหวใดที่ไม่ต้องการเปิดเผยต่อสาธารณชน จุดนี้ผู้ใช้สามารถตั้งค่าให้แสดงหรือไม่แสดงได้ตามต้องการ โดยสามารถเลือกซ่อนภาพทั้งหมดด้วยการคลิกปุ่ม Hidden ได้
4. ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มีปัญหาไม่ปลื้มเพราะถูกติดชื่อหรือ Tag ลงในภาพโดยไม่เต็มใจ สามารถแก้ปัญหานี้ด้วยการคลิกส่วน Photo หรือภาพในหน้า Activity Log แล้วคลิกปุ่มภาพ"คน" เลือก Remove Tag ได้ รวมถึงสามารถเลือกว่าใครสามารถค้นหาภาพนี้ได้บ้าง แถมยังสามารถเลือก "I want the photo untaged and taken down" เพื่อให้ระบบลบรูปนี้ไปจากเฟซบุ๊กได้
5. ผู้สนใจการตั้งค่าอื่นเพิ่มเติม สามารถติดตามเพจสอนการตั้งค่าอย่าง facebook.com/about/graphsearch/privacy ได้ โดยในเพจนี้มีบทสอนการตั้งค่าอย่างละเอียดผ่านวิดีโอเข้าใจง่าย
ที่มา: manager.co.th