"ย้ง ทรงยศ" เจ้าของฉายาผู้กำกับโรคจิต ด้วยยอดคนดูกว่า 1 ล้านวิวในยูทิวบ์ น่าจะเป็นสิ่งที่การันตีได้เป็นอย่างดีถึงความแรงของกระแสซีรีส์วัยรุ่นที่มีชื่อว่า “Hormones วัยว้าวุ่น” ที่อีกฟากหนึ่งก็กำลังออกอากาศทุกคืนวันเสาร์ผ่านทางช่องดาวเทียมจีเอ็มเอ็มวันอยู่ในตอนนี้ ไม่เพียงจากตัวเลขดังกล่าวเท่านั้นที่แรง ด้วยเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องราว “ความรักและเซ็กส์ในวัยเรียน” แบบที่เราสามารถเจอะเจอได้จากชีวิตจริงของวัยรุ่นในยุคปัจจุบันที่ถูกจับมานำเสนอก็ยิ่งทำให้กระแสของการพูดถึงซีรี่ส์เรื่องนี้ยิ่งแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก
ถึงตอนนี้หลายคนก็คงจะได้รู้จักตัวละครทั้ง วิน, ขวัญ, เต้ย ภู ไผ่, สไปรท์, ตาร์, หมอก ฯลฯ ไปแล้ว
“Hormones วัยว้าวุ่น” อีกหนึ่งผลงานจากค่าย “จีทีเอช” ร่วมกับ “นาดาวบางกอก” นำแสดงโดยนักแสดงวัยรุ่น อาทิ พีช พชร จิราธิวัฒน์, แพทตี้ อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา, ปันปัน สุทัตตา อุดมศิลป์, มาร์ช จุฑาวุฒิ ภัทรกำพ, ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร, เก้า สุภัสสรา ธนชาต, ตั้ว เสฏฐวุฒิ อนุสิทธิ์ ฯลฯ
ส่วนคนที่คัดหลั่งฮอร์โมนนี้ออกมาก็ไม่ใช่ใครที่ไหนเป็นเจ้าของฉายา “ผู้กำกับโรคจิต” อย่าง “ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์” นั่นเอง
...
ประสบการณ์จากชีวิตจริง
“คือตอนเรียน ม.ปลายผมเรียนที่เซนต์คาเบรียล แต่ว่าช่วงที่ใช้ชีวิตแบบหวือหวามากๆ มันก็จะเริ่มตั้งแต่มัธยมต้น ก็คืออยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา ตั้งแต่ ม.ต้น ที่มันหวือหวาเพราะว่าเราเป็นเด็กโรงเรียนประจำ ได้หนีโรงเรียน ได้แอบไปหาสาวโรงเรียนหญิงล้วนข้างๆ แอบไปเที่ยวพัทยา เริ่มแบบทำตัวแสบๆ แบบซีรีส์ฮอร์โมนในวัย ม.ต้นนี่แหละ”
“ในซีรีส์ฮอร์โมนถามว่าตัวเองเหมือนใคร ก็ปนๆ ระหว่างตาร์กับหมอก คือ ต้าเวลาอยู่กับเพื่อนฝูงจะดูรีแลกซ์ ดูเฮฮา แต่ว่าเป็นคนมีความมีโลกส่วนตัวสูงเหมือนกัน เหมือนเรารู้สึกว่าเด็กเรียนโรงเรียนประจำ มันมีปมอยู่ในใจนะ พอเราโตเลยมีความรู้สึกว่าเราต้องกั้นแบบกำแพงขึ้นมาให้มีโลกส่วนตัวของเราเอง ก็พาร์ทหนึ่งอยากจะบอกว่า มีส่วนหนึ่งที่เขียนมาจากตัวเองเหมือนกัน”
บวกรวมกับประสบการณ์ของนักแสดง
“คือตอนที่เราเขียนบทเรื่องนี้ เราเอาน้องๆ นักแสดงมาสัมภาษณ์ก่อน พูดคุยว่า คือ เด็กวัยรุ่นยุคนี้มันเจออะไร มีความรักแบบไหน มันมีปัญหาอะไรบ้าง พอรู้ปุ๊บ เราก็มานั่งพัฒนาคาแรกเตอร์บท จากตัวเรื่องราวเหล่านั้น คืออะไรที่เราไม่เข้าใจเราก็จะย้อนกลับไปถามเขา อย่างเด็กโลกสวย หรือแบบ เด็กผู้ชาย จิ้นผู้ชายด้วยกัน เราไม่เข้าใจน่ะ ทำไมไม่จิ้นผู้ชายกับผู้หญิงนะ ในความรู้สึกเรา แต่พอฟังน้องบอก ก็อ๋อ เข้าใจ มันก็เลยออกมาเป็นเนื้อหาในซีรีส์”
“ใช้เวลาค่อนข้างเยอะ เพราะว่าต่อให้เราได้ข้อมูลจากเด็กมาแล้ว ซึ่งเราหาเยอะเหมือนกันนะครับ เราต้องเอาในเน็ตด้วย เพราะสมัยนี้ส่วนใหญ่เด็กๆ จะระบายลงในอินเทอร์เน็ตกันเยอะ มันก็จะได้ข้อมูลมาหนึ่งพาร์ท พอเรามาคุยกันในกลุ่ม เราก็จะถกกันในมุมของคนผ่านวัยรุ่นมาว่า เฮ้ย ตอนเราเป็นวัยรุ่น เราเคยผ่านเหตุการณ์คล้ายๆ แบบนี้ แต่เราคิดอีกแบบหนึ่งนะ มันก็จะมีการถกกันในมุมผู้ใหญ่ด้วย”
เรื่องราววัยรุ่นที่ถูกมองโดยคนแก่
“ฮอร์โมนน่ะ ต่อให้เป็นซีรีส์วัยรุ่นจริงๆ แต่มันก็มองในมุมผู้ใหญ่พาร์ตหนึ่งได้เหมือนกัน คือมองแบบเข้าใจวันรุ่น แต่ว่าเราไม่อยากมองเป็นแบบคนแก่มากๆ หรือไม่ใช่คนที่จะไปสรุปว่าสิ่งที่วัยรุ่นทำมันผิดหรือมันถูก แต่เราก็เลือกที่จะพูดแบบผู้ใหญ่นิดหนึ่งว่า น้อง ถ้าน้องเลือกที่จะเป็นแบบนี้ พอถึงจุดหนึ่งมันได้ผลลัพธ์อะไร เราต้องยอมรับมันให้ได้”
ไม่ได้ต้องการให้เด็กเอาอย่าง แต่อยากเปิดหูเปิดตาผู้ใหญ่
“จริงๆ เรื่องเซ็กซ์ในวัยเรียนมีมานานแล้วแต่ไม่ประเจิดประเจ้อเหมือนในยุคนี้ ที่อยากนำเสนอเรื่องนี้เพราะเดี๋ยวนี้มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย ซึ่งมันเป็นความจริงที่สะท้อนออกมาให้เป็นละคร และคิดว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เด็กทำตามหรือเกิดเรื่องอย่างนี้อีก บอกว่านอกจากจะให้ความสนุกสนานกับวัยรุ่นแล้ว ยังเป็นการเปิดหูเปิดตาผู้ใหญ่ให้รับรู้ว่าลูกตัวเองทำอะไร เป็นอะไร อยู่นอกบ้านบ้าง”
“บางทีเราเห็นประเด็นข่าวหน้าหนึ่ง เด็กเข้าม่านรูด ไปมั่วสุมกัน เราเลยอยากพูดประเด็นนี้ พอเราอยากพูด เราก็หาข้อมูล บางทีเรามีข้อมูลที่เราตกใจเหมือนกัน เช่น บางทีน้องเขามั่วสุมเรื่องเซ็กซ์ เขาก็ไม่จำเป็นต้องไปมั่วสุมอยู่ในโรงแรมม่านรูด บางทีก็ไปที่บ้านกันนี่แหละเท่าที่คุยมา”
“การเริ่มส่วนใหญ่เด็กผู้หญิงก็เริ่มด้วยนะ มันก็มีผู้ชายที่เริ่ม แต่การที่จะนำไปสู่จุดประสบความสำเร็จน่ะ คืออย่างสมมติว่าผู้ชายจะเริ่มเล้าโลมผู้หญิงก่อน การจะประสบความสำเร็จในเรื่องเซ็กซ์อาจจะยากสักนิดหนึ่งเพราะว่าผู้หญิงไม่ได้แปลว่าจะเล่นด้วย แต่ว่าถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้หญิงเริ่มแทบจะจบลงด้วยการที่มีอะไรกันเพราะว่าผู้ชายมันง่ายอยู่แล้ว ดังนั้นผู้หญิงเริ่มมันเลยไปสู่จุดจบที่มันไปถึงจุดนั้นง่ายกว่า”
“แล้วก็บางทีเราฟังน้องแบบว่า พี่ จู่ๆ เขา (ผู้หญิง) ก็โทร.มาชวนผม พ่อแม่เขาก็อยู่บ้าน แต่เขาก็แอบพาผมขึ้นไปบนบ้านเขา และคืนนั้นผมก็อยู่บ้านเขาทั้งคืนโดยที่พ่อแม่เขาไม่รู้ และมันก็เป็นเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมา 3-4 ครั้ง จนวันหนึ่งแม่เปิดประตูเข้ามาผลักเข้ามา เขาเห็นผม ผมก็ตกใจก็เลยวิ่งหนีออกจากบ้าน คือทำให้เราคิดว่า เฮ้ย! เดี๋ยวนี้มันไปขนาดนั้นแล้วเหรอ กับเด็กในเมืองกรุงทั่วๆ ไปนั่นแหละ”
“มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า พอหาข้อมูลไปถึงจุดจุดหนึ่ง ตอนที่เราคิดว่าฮอร์โมนน่าจะเป็นซีรีส์ที่มันสื่อสารกับวัยรุ่นดูกันอย่างสนุกสนาน ได้ฝึกคิด ได้เรียนรู้ ถึงจุดหนึ่งเรากลับรู้สึกว่า เอ๊ะ หรือว่าซีรีส์ฮอร์โมนมันอาจจะเป็นสิ่งที่เปิดหูเปิดตาผู้ใหญ่ด้วย เพราะว่าในมุมหนึ่ง เชื่อว่าผู้ใหญ่หลายๆ คนไม่รู้หรอก ว่าลูกตัวเองเป็นอะไร ทำอะไรอยู่นอกบ้าน”
ที่มา: manager.co.th