'แท็ก' ท้ายชื่อสำหรับการค้นหาเรื่องเกี่ยวข้อง รายงานล่าสุดจากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิด มาร์ก ซักเกอร์เบิร์กระบุชัด เฟซบุ๊ก (Facebook) กำลังซุ่มพัฒนาระบบอ่านข่าวบนอุปกรณ์เคลื่อนที่หลังจากพบปริมาณข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถต่อยอดได้จากความคิดเห็นต่างๆ ที่มีผู้โพสต์อยู่บนโลกโซเชียล โดยโปรแกรมนี้อยู่ในช่วงพัฒนาและเรียกชื่อเป็นการภายในว่า ‘Reader’ ซึ่งเนื้อหาของข่าวที่นำเสนอจะมาจากความเห็นที่หลั่งไหลอยู่บนโลกออนไลน์ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั้งหมด โดยรูปแบบการแสดงผลจะพุ่งเป้าไปที่อุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นหลัก แหล่งข่าวภายในยังระบุอีกว่า โครงการนี้ได้รับการพัฒนามานานร่วมปี โดยจะแสดงผลข่าวเป็นแบบแนะนำข่าวที่น่าสนใจหรือข่าวที่ได้รับความนิยม ซึ่งเวอร์ชันล่าสุดของ ‘Reader’ นี้มีส่วนคล้ายกับโปรแกรม Flipboard เป็นอย่างมาก สามารถติดตั้งได้ทั้งเครื่องสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต โดยโปรแกรมดังกล่าวรองรับการใช้งานสลับไปมาระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยการใช้ยูสเซอร์เพียงยูสเซอร์เดียว ทั้งนี้ ความชัดเจนดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันจากเฟซบุ๊กแต่อย่างใด และหากเป็นเช่นนั้นจริงผู้ใช้งานอาจจะต้องการเวลาที่มากขึ้นสำหรับการอยู่กับหน้าจอเฟซบุ๊ก และนั่นหมายถึงจำนวนระยะเวลาของการแสดงผลโฆษณาที่นานขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อยอดโฆษณาของเฟซบุ๊กในอนาคต
และแม้ว่าโครงการดังกล่าวจะไม่ได้รับการยืนยันจากทางเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่จากการเปิดบริการ ‘hastag Subport’ ที่ด้านท้ายข้อความ ให้สามารถกดค้นหาหัวข้อที่สนใจจากแท็กที่มีผู้ติดไว้ ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกของการนำเสนอข่าวสารผ่านเฟซบุ๊กได้เช่นกัน แน่นอนว่าจำนวนความเห็นที่หลั่งไหลมาจากผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่มีมากกว่า 1,000 ล้านรายทั่วโลก ซึ่งมีทั้งในส่วนของกีฬา บันเทิง ความเห็นส่วนตัว หรือแม้กระทั่งการรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างๆ รวมอยู่ด้วย
โดยจากการสำรวจในช่วงเวลาที่มีการชมรายการโทรทัศน์มากที่สุดของสหรัฐอเมริกา มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กร่วมด้วยกว่า 88-100 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว โดยกว่า 1.5 ล้านความคิดเห็นเกิดขึ้นในช่วงของการแข่งขันซูเปอร์โบว์ลซึ่งมีผู้ชมกว่า 5.2 ล้านคน ในขณะที่การสำรวจช่วงเวลาที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดของเฟซบุ๊กระบุว่ามีความเห็นที่ฟุ้งอยู่บนเฟซบุ๊กกว่า 66.5 ล้านครั้ง ทั้งนี้ เป็นเรื่องยากที่จะอ่านความเห็นได้ทั้งหมดหากต้องการวิเคราะห์ความเป็นไปของโลกใบนี้ หากแต่การเริ่มต้นด้วยการกรองข่าวสารด้วยแท็กเพื่อเลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่ต้องการก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเฟซบุ๊กได้เริ่มเดินเข้าสู่การเป็นเครื่องมือนำเสนอข่าวสารอย่างแน่นอน
ที่มา: manager.co.th