จุฬาฯ จับมือเอไอเอส ดีแทค ทรู และทีโอที จัดโครงการ Wi-Fi4CU ขยายพื้นที่การใช้งานไวไฟเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 จุดทั่วมหาวิทยาลัย ชี้การเพิ่มเครือข่ายในครั้งนี้จะทำให้ทุกคนที่เข้าไปในจุฬาฯ สามารถใช้งานไวไฟได้ตามเครือข่ายของตัวเองไม่จำเป็นต้องมีแอ็กเคานต์ของสถาบัน เผยช่วยเปลี่ยนระบบการศึกษาใหม่ให้ทันสมัยขึ้นและพาจุฬาฯ ก้าวสู่การเป็น Digital University ที่สมบูรณ์แบบ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับ 4 โอเปอเรเตอร์ในเมืองไทย ประกอบไปด้วย เอไอเอส ดีแทค ทรู และทีโอที จัดโครงการ Wi-Fi4CU เพื่อการวางระบบเครือข่ายไร้สายภายในมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม จากปัจจุบันจุฬาให้บริการอยู่ที่ 800 จุด เพิ่มอีก 800 จุด รวมเป็น 1,600 จุดทั่วมหาวิทยาลัย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะทำให้บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยได้รับความสะดวกแล้ว ยังช่วยให้บุคคลภายนอกที่มาติดต่อราชการหรือมาทำธุระในมหาวิทยาลัยสามารถใช้งานไวไฟได้เพิ่มขึ้นด้วย
“จากเดิมจุดติดตั้งไวไฟในมหาวิทยาลัยจะเน้นให้นิสิตและบุคลากรภายในใช้งานเท่านั้น เนื่องจากจะต้องมีแอ็กเคานต์และยูสเซอร์เนม แต่หลังจากที่มีความร่วมมือดังกล่าวแล้ว บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาใช้งานไวไฟภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยได้โดยจะใช้งานได้ตามโอเปอเรเตอร์ที่ตนเองใช้อยู่ในปัจจุบันได้ทันที คาดว่าความร่วมมือในการขยายระบบเครือข่ายไร้สายนี้จะดำเนินการเสร็จสิ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า”
การเพิ่มเติมเครือข่ายไร้สายในครั้งนี้ต่อยอดวิสัยทัศน์ที่จะก้าวไปสู่การเป็น Digital University ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน การวิจัย รวมไปถึงการบริหารงานของมหาวิทยาลัยอย่างรอบด้าน และจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนที่อาจารย์จะนำวิชาความรู้ขึ้นไปอยู่บนเครือข่ายแล้วให้นักศึกษาสามารถดาวน์โหลดและเรียนรู้ก่อนที่จะเข้าในห้องเรียน หลังจากนั้นภายในคลาสก็จะกลายเป็นเรื่องของการทบทวนและพัฒนาต่อยอด มากกว่าจะมานั่งจดเลกเซอร์ในห้องเรียน
ศ.นพ.ภิรมย์กล่าวว่า โครงการ Wi-Fi4CU ยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารผ่านบริการไร้สายได้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมในพื้นที่กว้างขึ้น จากเดิมที่จำกัดเฉพาะในอาคารเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันจุฬาฯ มีนิสิตทุกระดับการศึกษากว่า 40,000 คน และบุคลากรจุฬาฯ กว่า 8,000 คน ซึ่งในโครงการนี้จะทำให้จุฬาฯ ก้าวสู่การเป็น Digital University ที่สมบูรณ์แบบ
Company Related Link :
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา: krobkruakao.com