ซิป้าหวังสร้างมาตรฐานกลางซอฟต์แวร์เชื่อมต่อข้อมูลออนไลน์แก่ตลาดอัญมณี จับมือสมาคมซอฟต์แวร์ช่วยลดต้นทุนด้วยซอฟต์แวร์ไทย ด้วยงบลงทุนกว่า 2.5 ล้านบาท เบื้องต้น 4 ซอฟต์แวร์ใช้งานฟรี 1 ปี พร้อมเปิดโอกาสให้เหล่านักพัฒนาซอฟต์แวร์เข้าร่วม นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA เปิดเผยว่า SIPA ได้ร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ ATSI จัดทำมาตรฐานกระบวนการทำงานซอฟต์แวร์ หรือแพลตฟอร์มสำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีเพื่อตอบโจทย์ทางด้านเทคโนโลยีและการแข่งขัน พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจอัญมณีไทยให้มากขึ้นโดยเสียค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์น้อยลง
โดย SIPA และ ATSI ได้คัดเลือกอาสาสมัครจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์ในกลุ่มอัญมณี โดยทำเป็นโซลูชัน ประกอบด้วย ซอฟต์แวร์ทางด้าน ERP หรือ Enterprise Resource Planning ซึ่งจะเป็นกลุ่มซอฟต์แวร์ที่ดูแลหลังบ้านรวมถึงการผลิตอัญมณีให้ได้คุณภาพและลดต้นทุน, ซอฟต์แวร์ทางด้าน E-Market Place ซึ่งเป็นการบริหารระบบตลาดกลางออนไลน์ สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบ และขายสินค้าผ่านออนไลน์ได้ ระบบ POS หรือ Point of Sale ที่ควบคุมการขายหน้าร้าน และซอฟต์แวร์กลุ่มสุดท้ายคือ ซอฟต์แวร์การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM
ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์ทั้ง 4 กลุ่มได้ถูกปรับแต่งใหม่โดยมีมาตรฐานกลางมากมาย เช่น การใช้ e-BXML มาช่วยกำหนด ทำให้ทันผู้ใช้สามารถอัปเดตข้อมูลจากแหล่งผลิตไปยังหน้าร้านการขาย และจากงานลูกค้าสัมพันธ์ส่งตรงไปยังหน้าร้านและโรงงานผลิตได้ทันที
สำหรับโครงการ SIPA ที่ได้ร่วมกับ ATSI และกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้ง 4 รายที่สร้างต้นแบบนำร่องขึ้นมานี้จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ ซึ่งพร้อมจะให้ซอฟต์แวร์รายอื่นๆ สามารถเข้ามาใช้มาตรฐานร่วมได้โดยไม่ปิดกั้น แต่มาตรฐานของธุรกิจอัญมณีก็จะมีเอกลักษณ์บางส่วนที่ปรับแต่งแล้วเพื่อให้เกิดแพลตฟอร์มเฉพาะตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้เอื้อกับซอฟต์แวร์ของประเทศไทยมากกว่า
นายสมพร มณีรัตนะกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ ATSI เปิดเผยว่า โครงการระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางอัญมณีโลก หรือ ICT for Thailand Jewelry World Hub เป็นโครงการริเริ่มของทาง ATSI ที่ร่วมมือกับ SIPA ที่เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางอัญมณีโลก เป็นโครงการที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีที่มีมูลค่าตลาดการส่งออกเป็นอันดับ 4 ของประเทศ และเป็นผู้ส่งออก 1 ใน 5 ของโลก ด้วยมูลค่าส่งออก 3 แสนล้านบาทต่อปี
บทบาทหน้าที่ของ ATSI ในโครงการนี้คือ ต้องหาอาสาสมัครที่เป็นซอฟต์แวร์เฮาส์มาร่วมกันสร้างมาตรฐานกลาง ซึ่งซอฟต์แวร์ไทยไม่เคยทำมาก่อน และเป็นการยากมากที่จะเกิดขึ้นเพราะมีข้อจำกัดอย่างมาก โดยมีบริษัทซอฟต์แวร์ไทย 4 รายที่มีความพร้อมที่สุด ประกอบด้วย บริษัท ดับเบิลเอ็ม เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ ซึ่งทำระบบอีอาร์พีออนไลน์ เวอร์ชั่นไลท์, บริษัท เอด้าซอฟต์ ซึ่งทำระบบบริหารการขายหน้าร้านบนเครื่องตั้งโต๊ะ, บริษัท อินโฟโทรนิคส์ ซึ่งทำระบบบริหารลูกค้าสัมพันธ์ออนไลน์และโมบายล์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งทำระบบตลาดกลางออนไลน์และระบบลอจิสติกส์
โดยในปีนี้ซอฟต์แวร์ทั้ง 4 รายสามารถเชื่อมต่อและใช้งานระหว่างกันได้อย่างสมบูรณ์แล้ว และขณะนี้ได้เริ่มรับสมัครผู้ใช้จากธุรกิจอัญมณีจำนวน 10 รายเข้าร่วมโครงการ ซึ่งทั้งหมด จะได้สิทธิ์ในการใช้งานฟรี 1 ปี โดยทางนักพัฒนาซอฟต์แวร์จะรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้ จ่ายส่วนนี้ แต่หลังจากผ่านพ้น 1 ปีไปแล้วค่าใช้จ่ายการใช้ซอฟต์แวร์จะเป็นการใช้จ่ายตามการใช้งานจริง
ส่วนค่าใช้จ่ายรายเดือนจะประกอบด้วย ค่าซอฟต์แวร์ ERP 600 บาท, ค่าซอฟต์แวร์ CRM 700 บาท, ค่าซอฟต์แวร์ POS 990 บาท และค่าซอฟต์แวร์ e-Marketplace 300 บาท ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการ 10 รายจะต้องเลือกซอฟต์แวร์ที่ใช้มากกว่า 1 ราย เพื่อทดสอบการเชื่อมต่อ แต่หลังจากพ้นหนึ่งปีไปแล้วจะเลือกใช้ซอฟต์แวร์กี่รายก็ได้
Company Relate Link :
SIPA
ATSI
ที่มา: manager.co.th