นักวิจัยโลมาไอเดียเก๋ ใช้แอปพลิเคชันบนไอแพด (iPad) เป็นช่องทางสื่อสารกับลูกโลมาวัย 2 เดือน เชื่อนอกจากจะทำให้มนุษย์สื่อสารกับโลมาได่ง่ายขึ้นแล้ว แอปพลิเคชันนี้ยังสามารถพัฒนาไปเป็นโปรแกรมแปลภาษาแบบครอบจักรวาลได้ในอนาคต
นักวิจัยโลมาสมองใสรายนี้มีชื่อว่าแจ็ก คาสเซวิตซ์ (Jack Kassewitz) ประธานองค์กรการกุศลเพื่อการวิจัยโลมานาม Global Heart ใช้ไอแพด (iPad) คอมพิวเตอร์หน้าจอสัมผัสของแอปเปิลซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นมาเองในชื่อ Speak Dolphin เพื่อสื่อสารกับลูกโลมาวัย 2 ปีนามว่า Merlin
แอปพลิเคชันคุยกับโลมาบนไอแพดนี้ไม่สามารถส่งเสียงอู้อี้แบบโลมา แต่คาสเซวิตซ์เลือกพัฒนาให้แอปพลิเคชันนี้สร้างภาษาเชิงสัญลักษณ์ (symbolic language) เพื่อให้โลมาสัมผัสหน้าจอตามต้องการ
คาสเซวิตซ์อธิบายสาเหตุที่เลือกพัฒนาให้ Speak Dolphin สร้างภาษาสัญลักษณ์ในการสื่อสารกับโลมา แทนที่จะใช้ภาษาประดิษฐ์ในรูปเสียง ว่าเป็นเพราะสมองของมนุษย์สามารถโต้ตอบต่อเสียงของโลมาได้ช้า เนื่องจากช่วงเสียงของโลมานั้นกว้างมาก สวนทางกับขอบเขตการรับรู้ของมนุษย์ที่จำกัด ทั้งหมดนี้อาจทำให้โลมาหมดความอดทนที่จะรอการตอบสนอง และทำให้ความพยายามในการสื่อสารล้มเหลว
โปรแกรมคุยกับโลมาของคาสเซวิตซ์จึงมีอินเทอร์เฟสหรือหน้าตาโปรแกรมที่ให้โลมาสามารถใช้จมูกแตะภาพสัญลักษณ์บนหน้าจอไอแพด รายงานระบุว่านอกจากไอแพด โปรแกรมนี้ยังถูกทดลองใช้ใน Panasonic Toughbook โน้ตบุ๊กสุดอึดของพานาโซนิกที่สามารถทนแรงกระแทกและความชื้นได้
โปรแกรม Speak Dolphin ถูกนำมาใช้กับสระโลมา Dolphin Discovery ในเมือง Puerto Aventuras ประเทศเม็กซิโก โดยตัวเครื่องถูกปรับแต่งเป็นพิเศษเพื่อให้โลมา Merlin สามารถใช้งานได้ดีขึ้น เช่น เทคโนโลยีตัดแสงหน้าจอ และเคสป้องกันน้ำ ที่เหลือก็คือความชาญฉลาดของโลมาแสนรู้ที่จะสามารถเข้าใจสัญลักษณ์ที่เห็นได้มากน้อยเพียงใด
Company Related Links :
SpeakDolphin
ที่มา: manager.co.th