ฮาร์ดแวร์เฮ้าส์ ทุ่ม 500 ล้าน รีโนเวตหน้าร้านค้าปลีกไอทีใหม่ทั้งหมด รองรับลูกค้าทุกเพศทุกวัย พร้อมขยายสาขาเพิ่มเป็น 140 สาขา ล่าสุดเตรียมทบทวนตัวเลขยอดขายใหม่ หลังรับผลกระทบชุมนุมประท้วง ระบุกรุงเทพฯยอดหด -ต่างจังหวัดแนวโน้มโต 20%
นายชาติชาย วิทยธรรมโสภณ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทฮาร์ดแวร์เฮ้าส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ค้าปลีกสินค้าไอทีรายใหญ่ เปิดเผยกับ
"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทได้ใช้เม็ดเงินราว 500 ล้านบาท ดำเนินการรีแบรนดิ้งร้านค้าปลีกสินค้าไอทีในเครือฮาร์ดแวร์เฮ้าส์ใหม่ทั้ง หมด โดยจะมีการปรับปรุง หรือรีโนเวตหน้าร้านใหม่ให้มีรูปแบบเป็นซูเปอร์สโตร์ไอที มีความทันสมัย รองรับลูกค้าทุกเพศทุกวัย จากเดิมมีหน้าร้านมีภาพลักษณ์เป็นร้านขายคอมพิวเตอร์และการบริการซ่อม นอกจากนี้ยังได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มามุ่งเน้นการให้การมากกับลูกค้ามาก ขึ้น โดยเล็งเห็นว่าขณะนี้ร้านค้าไอทีส่วนใหญ่มุ่งเน้นการแข่งขันด้านราคาเป็น หลัก
โดยการรีโนเวตหน้าร้านใหม่จะมีการเปลี่ยนชื่อร้านเดิม คือ ไอที คอนเน็ค มาใช้ชื่อฮาร์ดแวร์เฮ้าส์ ซูเปอร์สโตร์ เนื่องจากลูกค้ารู้จักฮาร์ดแวร์เฮ้าส์เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อร้านไอที คอนเน็คอีกต่อไป ส่วนรูปแบบของร้านฮาร์ดแวร์เฮ้าส์ ซูเปอร์สโตร์ไอที จะแบ่งเป็น 5 รูปแบบ คือ 1.หน้าร้านฮาร์ดแวร์เฮ้าส์ โน้ตบุ๊ก สโตร์ ที่มุ่งเน้นการขายและให้บริการเฉพาะคอมพิวเตอร์พกพา หรือโน้ตบุ๊กอย่างเดียว 2. หน้าร้านฮาร์ดแวร์เฮ้าส์ ดีไอวาย สโตร์ ที่มุ่งเน้นการขายและบริการเครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบ 3.หน้าร้านฮาร์ดแวร์เฮ้าส์ คอนเซ็ปต์สโตร์ ที่เป็นหน้าร้านขายเฉพาะแบรนด์ อาทิ แบรนด์ เอเซอร์ เอชพี หรือ อัสซุส, 4.หน้าร้านฮาร์ดแวร์เฮ้าส์ โมบายสโตร์ ที่มุ่งเน้นการขายสมาร์ทโฟน และ 5. หน้าร้านฮาร์ดแวร์เฮ้าส์ พรินเตอร์สโตร์ ที่มุ่งเน้นการขายและให้บริการเครื่องพิมพ์ หรือ พรินเตอร์ โดยขณะนี้บริษัทมีหน้าร้านสาขาทั้งหมด 104 สาขา คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีสาขาเพิ่มเป็น 140 สาขา
นายชาติชาย กล่าวต่ออีกว่าผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ส่งผลกระทบกับการซื้อขายสินค้าไอที โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ทำให้บริษัทจะต้องกลับมาทบทวนตัวเลขการเติบโตปีนี้ใหม่ จากเดิมตั้งเป้าการเติบโตไว้ 20% มียอดรายได้ 3,500 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังมองในแง่บวก โดยการชุมชุมประท้วงนั้นทำให้เกิดการสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งก็น่าจะช่วยให้เกิดการซื้อคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ก ไปใช้งานมากขึ้น
ขณะเดียวกันนั้นการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ยังส่งผลกระทบกับธุรกิจค้าส่ง สินค้าไอที เนื่องจากดีลเลอร์เกิดความไม่มั่นใจสั่งซื้อสินค้าไปเก็บสต๊อกเอาไว้ เพราะกลัวขายไม่ได้ ดังนั้นบริษัทจึงได้ปรับกลยุทธ์การทำตลาดในธุรกิจค้าส่งไอทีใหม่ โดยจะมุ่งเน้นกลุ่มสินค้าที่ราคาประหยัด หรือเป็นไฟติ้งโมเดล ไปยังช่องทางหรือดีลเลอร์ที่ยังมีการเติบโตอยู่ โดยช่องทางร้านค้าปลีกไอทีนั้นยังคงขายสินค้าได้อยู่ ส่วน ช่องทางห้างค้าปลีกสมัยใหม่ หรือ โมเดิร์นเทรด ได้รับผลกระทบอยู่บ้าง จากการที่ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจ ซึ่งก็ต้องเลือกการนำสินค้าเข้าไปวางในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบ
"ที่ผ่านมาตลาดกรุงเทพฯ ชะลอตัวลงไป โดยเฉพาะที่พันธุ์ทิพย์ มีสัดส่วนประมาณ 40% ของตลาด ส่วนตลาดต่างจังหวัดนั้นยังมีดีมานด์การเติบโต คาดว่าจะมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% โดยเฉพาะตลาดในจังหวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและไม่มีการชุมนุมประท้วง อาทิ แม่ฮ่องสอน ที่ผู้ประกอบการมีการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ไปใช้พัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เข้าไปเปิดสาขาที่จังหวัดดังกล่าว"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,535
30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553
ที่มา: thannews.th.com