เลขาฯกสทช. ยัน 3 ค่ายมือถือ ลดค่าบริการ 3G ความถี่ 2.1 GHz 15% ตามเงื่อนไขใบอนุญาต เอไอเอสนำร่องลดก่อน 21 พ.ค.นี้ ส่วนเรียลฟิวเจอร์กลุ่มทรูเริ่ม 1 มิ.ย. ดีแทคก็พร้อมลดแน่หากเปิดบริการต้นมิ.ย.ด้านบริการคงสิทธิเลขหมาย เตรียมลดราคาเหลือ 39 บาทช่วง 2 เดือนแรก ก่อนลดอีกเหลือ 29 บาท นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวภายหลังเรียกผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือในระบบ 3G ย่านความถี่ 2.1 GHz ทั้ง3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค จำกัด,บริษัท เรียลฟิวเจอร์ จำกัด และบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด เข้าหารือเกี่ยวกับการปรับลดอัตราค่าบริการลง15% ตามเงื่อนไขสัญญาแนบท้ายใบอนุญาตเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ว่าผู้ประกอบทุกรายยืนยันจะลดราคาค่าบริการ 3G ในแพกเกจเก่าลง 15% ตามเงื่อนไขใบอนุญาตของกสทช.
ทั้งนี้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค ในเครือเอไอเอส จะเริ่มปรับราคาทุกแพกเกจ 3G เป็นรายแรกเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.นี้ ขณะที่บริษัท เรียลฟิวเจอร์ ในเครือทรูมูฟ จะเริ่มปรับราคาในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ส่วนบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค ในเครือดีแทค ซึ่งในตอนนี้ยังไม่เปิดให้บริการ3G ความถี่ 2.1 GHz แต่อย่างใดแต่คาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงต้นเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งผู้บริหารก็ยืนยันเช่นกันว่าจะปรับลดค่าบริการ
‘การลดอัตราค่าบริการลง15% นั้นจะครอบคลุมไปถึงโปรโมชั่นเดิม และโปรโมชั่นใหม่ที่จะเกิดขึ้น และแม้ทั้ง 3 ราย ยืนยันลดค่าบริการ แต่สำนักงานกสทช.ก็จะตรวจสอบว่าปฏิบัติตามจริงหรือไม่ โดยใช้เวลาประเมิน 1 เดือน รวมถึงปัญหาการให้บริการในทุกๆ เรื่อง’
ส่วนอัตราค่าบริการคงสิทธิเลขหมาย หรือ ย้ายค่ายเบอร์เดิม (นัมเบอร์ พอร์ตทิบิลิตี้) จะมีการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ในวันที่ 21 พฤษภาคม หากอนุมัติ จะทำให้อัตราค่าโอนย้ายเลขหมายจากเดิมที่ประชาชนต้องจ่าย 99 บาท จะลดลงเหลือ 39 บาทเป็นเวลา 2 เดือนหลังจากนั้นจะลดลงเหลือ 29 บาท
นอกจากนี้สำนักงาน กสทช.ได้สั่งให้ค่ายมือถือ ขยายขีดความสามารถในการโอนย้ายเลขหมายต่อวันจากปัจจุบันรวมทั้งหมด 4 หมื่นเลขหมายเพิ่มเป็น 3 แสนเลขหมายต่อวัน พร้อมทั้งยังผู้ใช้โทรศัพท์ระบบเติมเงิน จะต้องแสดงบัตรประชาชนหากโอนย้ายไปเครือข่าย 3G ใหม่เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ส่วนเงินที่เหลือในระบบไม่สามารถโอนย้ายไปเครือข่ายใหม่ หรือ ขอคืนได้ จึงแนะนำให้ประชนใช้เงินให้หมด หรือ โอนให้คนรู้จักแทนเพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์
ด้านน.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ในตอนนี้มีประชาชนหลายคนสับสนเกี่ยวกับการโอนย้ายไปโครงข่ายใหม่ อาทิ ไม่แน่ใจโปรโมชั่นที่ใช้, การถูกบังคับเลือกโปรโมชั่นที่มีราคาแพงกว่าเดิม,ขั้นตอนทางเทคนิคในการตั้งค่าไม่ชัดเจน และการนำเครื่องไปใช้ในต่างประเทศไม่สามารถใช้ได้ เพราะยังไม่มีการเปิดให้บริการเครือข่าย 3G ใหม่ รวมไปถึงในช่วงที่ผู้ให้บริการดำเนินการโอนย้ายไปสู่โครงข่ายใหม่ ซึ่งมีผลทำให้เครื่องโทรศัพท์ของผู้ใช้บริการใช้งานไม่ได้นานถึง 2-6 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความกระจ่างในการเลือกใช้ 3G ประชาชนควรตรวจสอบอย่างละเอียดในขั้นตอนต่างๆ และหากพบปัญหาให้แจ้งไปยังผู้ให้บริการ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข หรือ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กสทช. 1200
ที่มา: manager.co.th