พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษกของ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทาเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ไทยยังคงอยู่ในลิสต์ของประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ PWL แม้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์จะลดลงบ้างแล้ว เผยช่วง 4 เดือนแรกพบละเมิดแล้ว 94 แห่ง รวมมูลค่าความเสียหาย 206 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 75% เป็นสัญชาติไทยที่เหลือเป็นบริษัทข้ามชาติ ตั้งเป้าปีนี้จะลดการละเมิดให้เหลือ 70% แนะผู้บริหารควรหมั่นตรวจตราเพราะอาจถูกจับโดยไม่รู้ตัว พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษกของ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงไม่ได้รับการปลดออกจากรายงานพิเศษของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 ในฐานะประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ทางการการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ แต่นับว่าเริ่มมีการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงไปบ้างแล้ว โดยในปีนี้ บก.ปอศ. ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปีนี้ให้เหลือประมาณ 70% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 72%
“ทั้งนี้แม้ว่าไทยจะยังคงติดโผ PWL แต่ทาง บก.ปอศ.จะยังคงเดินหน้าป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บก.ปอศ.ได้ตรวจพบองค์กรธุรกิจ 94 แห่งทั่วประเทศมีการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดในเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี 1,904 เครื่อง เพิ่มขึ้น 114% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา และมีมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 206 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% โดยในจำนวนนี้เป็นบริษัทคนไทย 75% นอกนั้นเป็นบริษัทข้ามชาติอย่าง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน และมาเลเซีย”
พ.ต.อ.ชัยณรงค์ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจที่ บก.ปอศ.กำลังจับตามองเป็นพิเศษในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คือภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่คาดว่าจะมีการละเมิดค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารแช่แข็ง การออกแบบชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะในส่วนของบริษัทที่อยู่ในเขตธุรกิจตอนกลางของกรุงเทพฯ ที่มีทั้งกลุ่มที่จงใจละเมิดลิขสิทธิซอฟต์แวร์และกลุ่มที่มีใบอนุญาตการใช้งานที่ไม่ครบกับจำนวนเครื่อง โดยการทำงานหลังจากนี้จะมีความเข้มข้นขึ้น โดยได้มีการตั้งทีมเพิ่มขึ้น 3 ทีมเพื่อดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ทั้งนี้นโยบายของภาครัฐที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมการพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้นทาง บก.ปอศ.จึงได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างเช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ ซึ่งจากการสำรวจในปี 2554 ที่ผ่านมาพบว่าร้อยละ 74 ของผู้ใช้คอมพิวเตอร์มีการยอมรับว่าซื้อซอฟต์แวร์เถื่อน และผู้ประกอบการบางรายยอมรับว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นบางครั้ง หรือนานๆ ครั้ง
“ในบางครั้งผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเองก็ไม่ได้รับรู้ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เกิดขึ้น เนื่องจากบางครั้งฝ่ายไอทีเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ดังนั้นในส่วนของผู้บริหารเองก็ควรที่จะมีการตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดและถูกจับกุมดังกล่าว”
Company Related Link :
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
ที่มา: manager.co.th