Author Topic: เตือนซื้อถ้วย จาน ชามจากตลาดนัดเสี่ยงได้รับสารก่อมะเร็ง  (Read 11215 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


   กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำรวจความปลอดภัยของภาชนะใส่อาหารประเภทถ้วย จาน ชามพลาสติก ที่จำหน่ายตามตลาดนัด หาบเร่ แผงลอยร้านค้าส่งและปลีก เผยตรวจพบสารฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ชี้สารดังกล่าวแพร่กระจายออกมาได้ตามอุณหภูมิการใช้งานยิ่งอุณหภูมิสูงยิ่งออกมามาก โดยเฉพาะอาหารที่มีความเป็นกรดและความร้อนสูง เผยยังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการควบคุมรวมทั้งไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลด้านความปลอดภัย แนะผู้บริโภคเลือกซื้อภาชนะประเภทนี้ที่ผ่านการตรวจหรือมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพฉลากรายละเอียดชนิดวัสดุ ข้อกำหนดการใช้งาน และแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้
       
       นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังความปลอดภัยจากการใช้ภาชนะใส่อาหารประเภทถ้วย จานชามราคาถูกที่ทำด้วยพลาสติก รูปแบบ สีสันสวยงามมีวางจำหน่ายทั่วไป ตามตลาดนัด หาบเร่แผงลอย แม้แต่ร้านค้าย่อยในห้างสรรพสินค้า สินค้าเหล่านี้แม้จะมีฉลากแต่บางผลิตภัณฑ์ ไม่แจ้งชนิดของพลาสติก บอกเพียงว่าเป็นพลาสติกบางผลิตภัณฑ์แจ้งว่าเป็นเมลามีน (Melamine) มีทั้งบอกและไม่บอกแหล่งผลิต ไม่บ่งบอกสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายรับรองความปลอดภัยในการใช้บรรจุอาหารได้ อีกทั้งสินค้าราคาถูกเหล่านี้นำเข้ามาจำหน่ายจากต่างประเทศโดยไม่มีการตรวจสอบ จึงมีความเสี่ยงในการนำไปใช้งานเพราะเมื่อนำไปใช้ต้องมีการใส่อาหารทั้งร้อนและเย็นซึ่งอาจทำให้มีการแพร่กระจายออกมาของสารเคมีได้ โดยเฉพาะฟอร์มาลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

       กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สำรวจภาชนะเหล่านี้ จากร้านแผงลอยในตลาดนัดร้านแผงลอยในห้างสรรพสินค้า ร้านในงานแสดงสินค้า ร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า รวม 113 ตัวอย่าง ราคาต่อหน่วย 5-29 บาท พบว่าภาชนะเหล่านี้มองดูคล้ายภาชนะเมลามีนและเป็นที่รู้จักนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งแยกความแตกต่างได้ยากโดยในจำนวนตัวอย่างที่สำรวจมีฉลากภาษาไทย 99 ตัวอย่างและไม่มีฉลาก 14 ตัวอย่าง เป็นภาชนะที่มีแหล่งผลิตในประเทศ 10 ตัวอย่างผลิตจากต่างประเทศ 94 ตัวอย่าง และไม่แจ้งแหล่งผลิต 9 ตัวอย่างระบุชนิดพลาสติกที่ใช้ผลิต 14 ตัวอย่าง ระบุเพียงว่าเป็นพลาสติก 80 ตัวอย่าง ไม่ระบุ 19 ตัวอย่าง ที่ฉลากระบุอุณหภูมิใช้งาน 97 ตัวอย่าง และไม่ระบุอุณหภูมิใช้งาน 16 ตัวอย่างผลการตรวจวิเคราะห์วัสดุที่ใช้ทำด้วยเครื่อง Fourier Transform Infrared Spectrophotometer (FT-IR) พบว่าเนื้อภาชนะถูกต้องตามฉลากเป็นเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ (Melamine Formaldehyde) หรือเมลามีนแท้ 7 ตัวอย่าง และอะคริโลไนไตรล์-บิวทาไดอีน-สไตรีน (Acrylonitrile Butadiene Styrene) 1 ตัวอย่าง ซึ่งผลิตในประเทศไทยภาชนะที่ไม่แจ้งชนิดวัสดุในฉลากตรวจสอบได้เป็นพอลิพรอพิลีน (Polypropylene) 1 ตัวอย่าง พอลิสไตรีน (Polystyrene) 1 ตัวอย่างและในฉลากระบุเป็นพลาสติก 103 ตัวอย่างพบว่าเป็นยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์หรือเมลามีนปลอม แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้เนื้อยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เคลือบผิวด้านในด้วยเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ 45 ตัวอย่าง เนื้อยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เคลือบผิวด้านนอกด้วยเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ 53 ตัวอย่าง, เนื้อยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์เคลือบผิวด้านในและด้านนอกด้วยเมลามีน-ฟอร์มาลดีไฮด์ 4 ตัวอย่าง และเนื้อยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์ทั้งชิ้น 1 ตัวอย่าง
       
       นายแพทย์นิพนธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้นำมาตรวจวิเคราะห์เพื่อหาการแพร่กระจายออกมาของฟอร์มาลดีไฮด์ จากกลุ่มตัวอย่างเมลามีนปลอม ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 30 นาที ตามมาตรฐานการทดสอบผลิตภัณฑ์เมลามีนแท้พบฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาในน้ำที่ใช้ทดสอบ เกินค่ามาตรฐาน 37 ตัวอย่าง เมื่อทดสอบตามอุณหภูมิใช้งานที่ 80 องศาเซลเซียส หรือ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งแจ้งไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ พบฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาในน้ำที่ใช้ทดสอบ เกินค่ามาตรฐาน 38 ตัวอย่าง และเมื่อทำการทดสอบ โดยใช้ตัวแทนอาหารที่เป็นสารละลายกรดอะซิติก (acetic acid) หรือกรดน้ำส้มความเข้มข้นร้อยละ 4 โดยปริมาตร อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสเพื่อเลียนแบบการใส่อาหารประเภทต้มยำหรือแกงส้มร้อนๆ พบฟอร์มาลดีไฮด์ ออกมาเกินค่ามาตรฐาน 64 ตัวอย่าง และพบปริมาณที่สูงเกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อลิตร 38 ตัวอย่าง ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) พ.ศ.2548 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 524-2539 เรื่องภาชนะและเครื่องใช้เมลามีน ที่กำหนดว่าต้องไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์ (ค่าต่ำสุดที่ตรวจวัดได้ 4 มิลลิกรัมต่อลิตร)
       
       นางลัดดาวัลย์ โรจนพรรณทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการควบคุมภาชนะประเภทยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์หรือเมลามีนปลอมและไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลด้านความปลอดภัยสินค้าเหล่านี้ จากการสำรวจวิจัยครั้งนี้พบว่าภาชนะที่ทำด้วยยูเรีย-ฟอร์มาลดีไฮด์หรือเมลามีนปลอม มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ มีวางจำหน่ายทั่วไป ราคาถูกตรวจพบฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งแพร่ออกมาได้ตามอุณหภูมิการใช้งานยิ่งใช้งานที่อุณหภูมิสูงจะมีฟอร์มาลดีไฮด์ออกมาปริมาณมากโดยเฉพาะถ้าอาหารนั้นมีความเป็นกรดและความร้อนสูงดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ควรสังเกตและเลือกซื้อภาชนะถ้วย จาน พลาสติกที่มีฉลากกำกับให้รายละเอียดชนิดของวัสดุ ข้อกำหนดการใช้งานมีแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้และที่สำคัญคือภาชนะเหล่านี้ต้องที่ได้รับการรับรองหรือมีตราเครื่องหมายการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นการยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่าสินค้าเหล่านั้นได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพว่าได้มาตรฐาน และควรปฏิบัติตามคำเตือนที่ผู้ผลิตแจ้งไว้เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการได้รับสารฟอร์มาลดีไฮด์

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)